xs
xsm
sm
md
lg

“หมอประดิษฐ” พร้อมเลิก P4P ถ้าทำให้ล่าแต้ม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“หมอประดิษฐ” ลั่นพร้อมยกเลิก P4P หากทำให้เกิดการล่าแต้มจริง สวนแพทย์ชนบท ระงับโครงการซื้อเครื่องตรวจวัดน้ำตาล ไม่จำเป็นต้องมีการทุจริต ชี้ที่ระงับเพราะต้องการทบทวนและตรวจสอบ เผยซื้อแถบวัดก็ต้องคิดรอบคอบ หวั่นราคาขึ้นแต่ซื้อแบบผูกขาดทำให้เสียเปรียบ แจงกรอบ 3 แนวคิดลดเหลื่อมล้ำระบบสุขภาพ

วันนี้ (25 เม.ย.) ที่โรงแรมเซ็นทราศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวระหว่างเป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการการวิจัยระบบสุขภาพประจำปี 2556 “จัดการความรู้สู่ระบบสุขภาพที่เป็นธรรม” จัดโดยสถาบันวิจัยระบบบริการสาธารณสุข (สวรส.) ว่า รัฐบาลมีนโยบายลดความเหลื่อมล้ำในระบบบริการสุขภาพ โดยกรอบแนวคิดหลักในการปฏิรูประบบสุขภาพ คือ 1.มีกลไกการอภิบาลระบบสุขภาพระดับชาติที่เป็นเอกภาพและมีธรรมาภิบาล กำหนดนโยบายและทิศทางการพัฒนาระบบสุขภาพของประเทศ ตลอดจนกฎ กติกา และมาตรฐานต่างๆรวมถึงกำกับติดตามการพัฒนาให้เป็นตามเป้าประสงค์เชิงนโยบาย 2.ระบบประกันสุขภาพ มีชุดสิทธิประโยชน์ที่จำเป็นและการออกแบบระบบที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน และ 3.ระบบริการสุขภาพและระบบประกันสุขภาพมีคุณภาพ ประสิทธิภาพ และยั่งยืน
ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต
เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีกลุ่มแพทย์ชนบทพาดพิงว่า สธ.มีการทุจริตเรื่องการจัดซื้อเครื่องตรวจน้ำตาลในเลือด นพ.ประดิษฐ กล่าวว่า ตนได้มอบหมายให้ นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัด สธ.เข้าไปดูแลแล้ว ส่วนที่ระบุว่ามีการทุจริตเพราะเกิดการสั่งระงับการซื้อนั้น ตนเห็นว่าการสั่งระงับซื้อไม่จำเป็นต้องเป็นการทุจริตเสมอไป แต่ที่สั่งระงับเพราะ สธ.ต้องการทบทวนและตรวจสอบรายละเอียดการซื้ออีกครั้ง เช่น เรื่องของราคา การซื้อแถบตรวจแล้วแถมเครื่องตรวจ เราก็ต้องดูก่อนว่าราคาจะถูกกว่าการซื้อเครื่องเองหรือไม่ เพราะหากมีการทำสัญญาเป็นระยะเวลาหลายปีแล้วแถบดังกล่าวเกิดขึ้นราคาจากเดิม อย่างเดิมที่ขายอยู่ 5 บาท แต่มีกาารขึ้นราคา ซึ่งเกิดได้จากหลายสาเหตุ สธ.ก็ต้องสั่งซื้อต่อไป เพราะทำสัญญาผูกขาดไปแล้ว ดังนั้น ถ้ามีการผูกขาดในลักษณะดังกล่าว สธ.ก็ต้องศึกษาเรื่องรายละเอียดให้รอบคอบ เพราะฉะนั้นต้องมีการตรวจสอบและประเมินผลให้ชัดเจนที่สุดเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในอนาคต

นพ.ประดิษฐ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ตนยังได้รับการชี้แจงจากอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) แล้วว่า การซื้อเครื่องตรวจให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ทั่วประเทศ เพื่อทำการตรวจให้ชาวบ้านนั้นสามารถทำได้ เนื่องจาก สบส.ได้ไปสอบถามจากสภาวิชาชีพแล้วและได้รับการยืนยันว่าเครื่องตรวจน้ำตาลสามารถให้ อสม.ใช้ทำการตรวจได้ เนื่องจากเป็นอุปกรณ์ที่ประชาชนทั่วไปก็สามารถใช้ได้อยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม การซื้อเครื่องตรวจน้ำตาลดังกล่าวก็เพื่อใช้ในการดูแลสุขภาพของประชาชนให้ห่างไกลจากโรคความดันโลหิตสูงและโรคเบาหวาน ตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการลดปัญหาเรื่องโรคเรื้อรัง ทั้งนี้ ตนคิดว่าการที่แพทย์ชนบทออกมาตั้งข้อสงสัยดังกล่าวถือเป็นเรื่องที่ดีเพราะจะได้ช่วยกันทำให้กระทรวงสาธารณสุขโปร่งใส

ผู้สื่อข่าวถามถึงการออกระเบียบจ่ายค่าตอบแทนกำลังคนด้านสาธารณสุขเป็นแบบผสมผสาน ระหว่างเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายตามพื้นที่และตามภาะงาน (P4P) นพ.ประดิษฐ กล่าวว่า ตนไม่ได้คิดที่จะลดเงินของบุคลากรสาธารณสุข แต่ต้องการที่จะทำการจัดกลไกของกระทรวงให้เป็นระบบมากขึ้น ส่วนเรื่องที่กลุ่มแพทย์ชนบทกังวลว่าจะเกิดความยุ่งยากนั้น จริงๆ แล้วไม่ยุ่งยาก เนื่องจากมีระบบคอมพิวเตอร์เข้ามาจัดการอยู่แล้ว ดังนั้น จึงอยากขอความร่วมมือจากกลุ่มแพทย์ชนบทช่วยกันทำให้กระทรวงเดินหน้าต่อไป อย่างไรก็ตาม ตนได้ทำหนังสือเชิญไปยังกลุ่มแพทย์ชนบทเพื่อมาหารือร่วมกันตลอด โดยการเดินหน้าใช้เกณฑ์จ่ายแบบ P4P นั้นคงต้องทำต่อไป ทั้งนี้ P4P คล้ายกับระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่เริ่มต้นก็มีการคัดค้าน อย่างไรก็ตาม การจ่ายแบบ P4P เป็นเรื่องที่สามารถแก้ไขได้ตลอด หากทำไปแล้วพบว่าทำให้เสียระบบเกิดกรณีแพทย์ล่าแต้ม ตนก็พร้อมที่จะทำการแก้ไขและหากทำไม่ได้ก็พร้อมที่จะยกเลิก เพราะทุกเรื่องมันสามารถทำการแก้ไขและพัฒนาให้ดีขึ้นได้

ด้าน นพ.สัมฤทธิ์ ศรีดำรงสวัสดิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานวิจัยเพื่อการพัฒนาหลักประกันสุขภาพไทย กล่าวว่า การจ่ายแบบ P4P ไม่ได้มีการลดเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายในพื้นที่เฉพาะระดับ 1 และระดับ 2 แต่เป็นการลดเฉพาะในพื้นที่ที่ไม่มีความกันดารแล้ว ดังนั้น ตามหลักการตนจึงเห็นด้วย และถือเป็นเรื่องที่ดี แต่มันก็ต้องขึ้นอยู่กับระบบและการออกแบบ โดยจะมีประโยชน์มากหากเราเอาปัญหามาเป็นตัวตั้งในการแก้ไขเรื่องระบบ เนื่องจากสิ่งหนึ่งที่รัฐบาลพยายามผลักดันก็คือลดความเหลื่อมล้ำและทำให้ประชาชนเข้าถึงการรักษาบริการ เพราะฉะนั้นในเรื่องการจ่ายค่าตอบแทนแบบ P4P จะช่วยตอบโจทย์ของรัฐบาลเนื่องจากเงินจากพีฟอร์พีจะทำให้บุคลากรทางการแพทย์มีกำลังใจมากขึ้น แต่ต้องมีการจัดการที่ดีควบคู่ไปด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น