xs
xsm
sm
md
lg

สารพัดม็อบ! บุก สธ.ลั่นลากไส้นโยบายคอร์รัปชัน (ชมคลิป)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บรรยากาศม็อบแพทย์ชนบทและเครือข่ายผู้ป่วยต่างๆ
สารพัดม็อบบุกกระทรวงหมอ กลุ่มแพทย์ชนบทลั่นไม่สนเรื่อง P4P แล้ว แต่จะลากไส้การคอร์รัปชันของ สธ.ออกมาให้สังคมเห็น ด้านสหภาพฯ อภ.ร้อง รมว.สธ.และประธานบอร์ด อภ.รับผิดชอบกู้ภาพลักษณ์คืนองค์การเภสัชฯ ไม่ใช่ให้ร้ายรายวัน ด้าน “กมล” จ๋อย เจอม็อบด่ากลับหลังพยายามชี้แจง








วันนี้ (24 เม.ย.) เมื่อเวลา 09.30 น. ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กลุ่มชมรมแพทย์ชนบท นำโดย นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท นพ.อารักษ์ วงศ์วรชาติ ผอ.รพ.สิชล จ.นครศรีธรรมราช และอดีตประธานชมรมแพทย์ชนบท พร้อมด้วยเครือข่ายกลุ่มคนไม่เอา นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ เป็น รมว.สาธารณสุข ประกอบด้วย เครือข่ายผู้ป่วยมะเร็ง เอดส์ และไต รวมกว่า 200-300 คน โดยแต่งกายด้วยชุดสีดำนัดรวมตัวชุมนุมบริเวณสำนักปลัด สธ.พร้อมนำป้ายขับไล่ นพ.ประดิษฐ และ นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัด สธ.ให้ออกจากตำแหน่ง เนื่องจาก สธ.ได้ออกระเบียบค่าตอบแทนกำลังคนด้านสาธารณสุขแบบใหม่เป็นแบบผสมผสาน ระหว่างเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายตามพื้นที่และแบบตามภาระงาน (P4P : Pay for Performance) รวมถึงกรณีส่อทุจริตการจัดซื้อเครื่องตรวจน้ำตาลในเลือดเพื่อแจกอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ทั่วประเทศ

นพ.อารักษ์ กล่าวว่า การมาชุมนุมในครั้งนี้ไม่ได้มาเพื่อยื่นเงื่อนไขหรือข้อเสนอใดๆ ต่อ สธ. แต่ต้องการแสดงให้เห็นว่าบุคลากรต่างๆในโรงพยาบาลชุมชน (รพช.) ไม่เห็นด้วยกับแนวทางการจ่ายค่าตอบแทนแบบใหม่ของ สธ.เหมือนอย่างที่สภาวิชาชีพต่างๆ ได้ออกแถลงการณ์ รวมถึงมาเพื่อประกาศเจตนารมณ์ว่า เราได้ข้ามเรื่องค่าตอบแทนไปแล้ว แต่เราจะตรวจสอบเรื่องทุจริตคอร์รัปชันใน สธ.ที่เริ่มเห็นผลมาแล้ว

นพ.ประดิษฐ มีการดำเนินการในทางไม่ชอบหลายอย่าง ทั้งการรวบอำนาจของ รมว.สาธารณสุข การออกข่าวรายวันทำลายองค์การเภสัชกรรม (อภ.) การแทรกแซงองค์กรอิสระด้านสุขภาพ และพยายามสร้างความแตกแยกระหว่างโรงพยาบาลจังหวัดและ รพช.ทั้งที่เราไม่มีความขัดแย้ง แต่กลับมาปลุกม็อบให้มาชนกัน แล้วอยู่เป็นผู้บริหารอย่างไม่สะทกสะท้าน” นพ.อารักษ์ กล่าว

นพ.อารักษ์ กล่าวอีกว่า สธ.กำลังจะกลับไปรวบอำนาจเหมือนในอดีต ที่มีงบประมาณอยู่ในมือและสามารถจัดสรรงบได้ตามอำเภอใจ ซึ่งขณะนี้มีการประกาศชัดเจนแล้วว่า ปี 2557 จะให้ผู้ตรวจราชการ สธ.ทั้ง 12 เขต เป็นผู้จัดสรรงบประมาณแทนสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) แม้จะระบุว่า มี สปสช.มาร่วมพิจารณาเพื่อให้เกิดความรอบคอบ แต่ถ้าปล่อยให้เกิดการแทรกแซงแบบนี้ นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการ สปสช.ก็ควรลาออกไป เพราะเป็นการปล่อยให้ประชาชนต่างจังหวัดถูกย่ำยี ส่วนกรณีการตรวจ อภ.เครือข่ายผู้ป่วยต่างๆ ก็กำลังรู้สึกหวั่นไหว เพราะหากมีการเปลี่ยนตัวผู้อำนวยการ อาจจะทำให้การเมืองสามารถสั่งได้ จนราคายาต่างๆ แพงขึ้น ผู้ป่วยก็เข้าถึงยาได้น้อยลง

วันนี้ สธ.ทำเรื่องทุจริตสำเร็จแล้ว อย่างกรณีซื้อเครื่องตรวจน้ำตาลในเลือด ราคาเครื่องละ 1,800 บาท วงเงิน 100 กว่าล้านบาท ทั้งที่ปกติโรงพยาบาลต่างๆ จะซื้อแถบวัดในราคา 5-7 บาท การที่ สธ.ระงับเรื่องนี้แสดงว่ายอมรับความผิดที่เกิดขึ้น เพราะมีบางจังหวัด เช่น อ่างทอง อำนาจเจริญ ได้ซื้อและจ่ายเงินสำเร็จแล้ว การบอกประกาศยกเลิกจะทำให้บริษัทคู่ค้าฟ้องร้องได้ เรื่องนี้ สธ.จะอยู่เฉยไม่ได้ ต้องตรวจสอบความผิดปกติที่เกิดขึ้นเหมือนตรวจสอบ อภ.ต้องให้ดีเอสไอตรวจสอบเช่นเดียวกัน ไม่อยากให้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนเอง เพราะจะเหมือนทุกกรณีที่สอบสวนแล้วไม่มีความผิด” นพ.อารักษ์ กล่าวและว่า ขอให้ตั้งคนนอกมาสอบเหมือนกรณีไทยเข็มแข็ง กรณีทุจริตยา 1,400 ล้าน กรณีรถพยาบาลฉาว กรณีงบค่าเสื่อม และกรณีคอมพิวเตอร์ โดยวันนี้ตนจะไปยื่นเรื่องให้สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และ สำนักงานการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตรวจสอบเรื่องเหล่านี้








เมื่อเวลา 10.00 น. วันเดียวกัน นายระวัย ภู่ผะกา ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การเภสัชกรรม ได้นำพนักงานและเจ้าหน้าที่ อภ.แต่งชุดดำมาชุมนุมที่บริเวณหน้าสำนักงานปลัด สธ.เช่นกัน เพื่อเรียกร้องให้ นพ.ประดิษฐ แสดงความรับผิดชอบกรณีการตรวจสอบ อภ.จนส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์

นายระวัย กล่าวว่า การที่ นพ.ประดิษฐ และ นายกมล บันไดเพ็ชร เลขานุการ รมว.สาธารณสุข ได้ร้องขอให้ดีเอสไอเข้ามาตรวจสอบ อภ.โดยเฉพาะในส่วนของการปนเปื้อนวัตถุดิบสำหรับผลิตยาพาราเซตามอล จำนวน 148 ตัน แต่เกิดการแปลงสารว่าเป็นการปลอมปน ทั้งที่วัตถุดิบดังกล่าวยังไม่ได้ผลิตเป็นเม็ดยา ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่อยากให้ออกจากปาก รมว.สาธารณสุข ก่อนการตรวจสอบจะแล้วเสร็จ ซึ่งหากมีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง สหภาพฯจะไม่คัดค้าน แต่ไม่ใช่การออกมาพูดให้ร้ายรายวัน สหภาพจึงรับไม่ได้ อยากให้ รมว.สาธารณสุข และประธานคณะกรรมการบริหารองค์การเภสัชกรรม (บอร์ด อภ.) แสดงความรับผิดชอบด้วยการปกป้องภาพลักษณ์ของ อภ.

การตรวจสอบเพื่อสร้างความโปร่งใสเป็นสิ่งที่สหภาพฯรับได้ แต่ไม่ใช่ออกมาให้ร้ายรายวัน การมาในวันนี้ต้องการให้รัฐมนตรี สธ.แสดงความรับผิดชอบในการกู้ภาพลักษณ์และสร้างความเชื่อมั่นคืนต่อ อภ. แต่ไม่ได้ต้องการมาขับไล่ ส่วนการตรวจสอบความล่าช้าของการก่อสร้างโรงงานผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่ เท่าที่ทราบกระบวนการต่างๆ มีความซับซ้อนมาก ส่วนตัวเชื่อมั่นว่าเป็นระบบที่ต้องการเปลี่ยนแปลงระบบยาของประเทศแน่นอน ซึ่ง อภ.ยอมรับว่ามูลค่ายาที่จำหน่ายให้กับ สปสช.มีกว่า 8 พันล้านบาท เอกชนเห็นก็ตาลุก” ประธานสหภาพฯ กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า บรรยากาศการชุมนุม ยังได้มีการปราศรัยและกล่าวประกาศเจตนารมณ์ พร้อมทั้งฉีกภาพ นพ.ประดิษฐ ด้วย

ทั้งนี้ นายกมล ได้ลงมาเพื่อชี้แจงเรื่องดังกล่าว โดยเฉพาะกรณีการแปลงสารว่าเป็นการปลอมปน ซึ่งบรรยากาศล้วนเต็มไปด้วยเสียงโห่ไล่ ทั้งนี้ ในระหว่างการชี้แจง น.ส.กรรณิการ์ กิจติเวชกุล กรรมการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้เข้าไปแย่งไมโครโฟนพร้อมกับระบุว่า ในฐานะที่ตนเคยเป็นอดีตผู้สื่อข่าว การที่นายกมลโยนความผิดกรณีแปลงสารเป็นการปลอมปนให้กับสื่อเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง และที่ผ่านมาข้าราชการ และนักการเมืองก็มักจะทำแบบนี้ ทำให้เหล่าบรรดากลุ่มแพทย์ชนบทและสหภาพฯแรงงาน ซึ่งชุมนุมอยู่บริเวณที่เดียวกันส่งเสียงขับไล่นายกมลมากยิ่งขึ้น สุดท้ายจึงต้องล่าถอยกลับไป

ด้านนายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ ในฐานะภาคประชาสังคมซึ่งเข้าร่วมการชุมนุมด้วย กล่าวว่า อยากให้เรื่องดังกล่าวมีทางออก ซึ่งเชื่อว่าทุกฝ่ายมีเจตนาดีในสิ่งที่ทำ แต่เรื่องที่มีคนคัดค้านจำนวนมากก็ควรทบทวนและหาจุดที่จะพูดคุยกัน ส่วนเรื่องกระบวนการตรวจสอบที่ทำอยู่ขณะนี้ โดยเฉพาะเรื่องของ อภ.เป็นเรื่องดีที่จะทำให้เกิดความโปร่งใส แต่การตรวจสอบต้องอยู่บนเจตนาดี ทำตามขั้นตอนเช่น ตั้งคณะกรรมการสอบสวนภายใน หรือ ตั้งคนนอกมาร่วมตรวจสอบ ไม่ใช่ยังไม่พบความผิดปกติหรือมูลเหตุทุจริตแต่ส่งเรื่องให้ดีเอสไอเลย จำเป็นต้องหากลไกที่ดีกว่านี้ในการตรวจสอบ ซึ่งเมื่อตรวจสอบแล้ว หากพบมูลก็ควรส่งให้ ป.ป.ช.ตรวจสอบตามกระบวนการ














นพ.อารักษ์ วงศ์วรชาติ อดีตประธานชมรมแพทย์ชนบท

บรรยากาศม็อบสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การเภสัชกรรม


กำลังโหลดความคิดเห็น