งานวิจัยพบ ปัจจัยเสี่ยงมะเร็งปอด สัมผัสแร่ใยหินร่วมสูบบุหรี่ เพิ่มเสี่ยงเป็น 37 เท่า ด้านไทยหลังไม่ขยับยกเลิกแร่ใยหิน สธ.เตรียมกดดันหาทางสรุป แร่ใยหินไม่มีปัญหาในไทย
รศ.ดร วิทยา กุลสมบูรณ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า จากมติ ครม.ปี 2554 ให้ยกเลิกการใช้แร่ใยหิน แต่ปัจจุบันยังไม่มีมาตรการทางกฎหมายใดนั้น พบว่าล่าสุดวารสารการแพทย์ประเทศสหรัฐอเมริกา (American Journal of Respiratory and Critical Care Medicine) รายงานว่า โรคมะเร็งปอด มีความสัมพันธ์กับการสัมผัสแร่ใยหิน โรคแอสเบสโตซิสจากใยหิน และการสูบบุหรี่ ยิ่งมีปัจจัยร่วมกันทั้ง 3 ประการยิ่งเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งปอด 37 เท่า โดยการศึกษาดังกล่าวได้ติดตามผู้สัมผัสฉนวนใยหินระยะยาวเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้สัมผัส โดยมีกลุ่มตัวอย่างมากกว่าห้าหมื่นคน ทำให้พบว่า ทั้ง 3 ปัจจัยเพิ่มความเสี่ยงของมะเร็งปอด และยิ่งมีมากกว่าหนึ่งปัจจัยก็ยิ่งมีความเสี่ยงร่วม
รศ.ดร.วิทยา กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมา ความรู้ทางวิชาการทราบว่าทั้ง 3 ปัจจัยเป็นส่วนหนึ่งทำให้เกิดโรคมะเร็งปอด แต่การศึกษาครั้งนี้ทำให้ทั้ง 3 ปัจจัยมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น ว่ามีความสัมพันธ์ต่อกัน ยิ่งมีมากกว่าหนึ่งปัจจัยก็จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงมากขึ้น โดยในกลุ่มผู้ไม่สูบบุหรี่ การสัมผัสใยหินมีความเสี่ยงต่อการตายจากมะเร็งปอด 5.2 เท่า หากมีการสูบบุหรี่ร่วมด้วยจะเพิ่มเป็น 28 เท่า โรคแอสเบสโตซิส จะเพิ่มการเสี่ยงต่อการตายจากการเป็นมะเร็งปอดทั้งกลุ่มสัมผัสและไม่สัมผัสแร่ใยหิน โดยอัตราการตายจะเพิ่มเป็น 36.8 เท่า หากมีปัจจัยร่วมทั้ง 3 อย่าง ทั้งนี้ การเลิกบุหรี่อาจลดความเสี่ยงเกิดมะเร็งปอดได้ หากมีการสัมผัสใยหินก่อนหน้านั้นมาเป็นเวลานาน
“ความรู้ทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์มีความชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆในประเทศต่างๆ ส่วนสถานการณ์ของประเทศไทย หลังจากสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจสังคมแห่งชาติ และคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เสนอเรื่อง สังคมไทยไร้แร่ใยหิน ไปจนมีมติคณะรัฐมนตรีให้ยกเลิกการใช้ ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมต้องทำหน้าที่ทำแผนการยกเลิกการใช้ แต่กลับพบว่า มีการว่าจ้างมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชมา ทำหน้าที่ศึกษาและรับฟังความเห็นหลายครั้งและยังไม่มีการเสนอแผนการยกเลิกการใช้แร่ใยหินแต่อย่างใด” รศ.ดร.วิทยา กล่าว
รศ.ดร.วิทยา กล่าวว่า การเพิกเฉยไม่ดำเนินตามมติ ครม.ส่วนหนึ่งเชื่อว่าน่าจะมีผลจากแรงกดดันทางการค้ากับประเทศรัสเซีย ซึ่งแรงกดดันนี้ส่งผลต่อกระทรวงสาธารณสุข โดยพบแนวโน้มว่าจะมีการกดดันให้คณะกรรมการศึกษาผลกระทบจากใยหิน หาทางสรุปว่าแร่ใยหินไม่มีปัญหา โดยจะมีการประชุมในเรื่องดังกล่าววันที่ 17 เม.ย.นี้ อย่างไรก็ตาม หากประเทศไทยสรุปว่า แร่ใยหินไม่มีอันตรายก็จะถือว่าเป็นแนวทางที่ขัดกับอีก 50 ประเทศทั่วโลก ที่มีการยกเลิกใช้แร่ใยหินในผลิตภัณฑ์ต่างๆ เพื่อป้องกันผลกระทบของประชาชน และถือเป็นการปฏิบัติตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลกและองค์กรวิจัยนานาชาติด้านมะเร็ง และคณะกรรมการนานาชาติด้านอาชีวอนามัย ซึ่งแนะนำให้ยกเลิกการใช้แร่ใยหินด้วย