xs
xsm
sm
md
lg

ศจย.หนุนขยายภาพคำเตือนซองบุหรี่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศจย.หนุน สธ.ขยายภาพคำเตือนบนซองบุหรี่เป็น 85% ย้ำต้องหมุนเวียนเปลี่ยนภาพคำเตือนใหม่ทุก 12-36 เดือน ชี้ป้องกันเยาวชนเริ่มสูบบุหรี่ ช่วยนักสูบลดแรงจูงใจซื้อบุหรี่ และตัดสินใจเลิกได้มากขึ้น
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
ดร.ศิริวรรณ พิทยรังสฤษฏ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ศจย.สนับสนุนกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ที่ต้องการออกประกาศกระทรวงสาธารณสุขในการขยายภาพคำเตือนบนซองบุหรี่ให้มีสัดส่วน 85% ของพื้นที่ซอง จากเดิมที่มีขนาด 55% ซึ่งงานวิจัยในหลายประเทศชี้ว่า การขยายภาพคำเตือนบนซองบุหรี่ช่วยลดความดึงดูดใจของซองบุหรี่ในหมู่นักสูบ อีกทั้งช่วยให้อัตราการสูบบุหรี่ในหลายประเทศลดลง

ขณะที่ผลการสำรวจของ ดร.เมลานี เวคฟิล และคณะ จากประเทศออสเตรเลีย เมื่อปลายปีที่ผ่านมาเกี่ยวกับทัศนะของนักสูบบุหรี่วัยรุ่นและวัยทำงาน 1,203 คนในประเทศออสเตรเลีย ต่อภาพคำเตือนในขนาดต่างๆ บนซองบุหรี่พบว่า ยิ่งภาพคำเตือนมีขนาดใหญ่ขึ้นก็ยิ่งทำให้ความดึงดูดใจของซองและยี่ห้อบุหรี่ลดลง ส่งผลให้นักสูบตระหนักถึงอันตรายจากการสูบบุหรี่ลดความดึงดูดใจในการซื้อบุหรี่และตัดสินใจเลิกบุหรี่มากขึ้น

องค์การอนามัยโลก แนะนำให้สับเปลี่ยนภาพคำเตือนเกี่ยวกับสุขภาพทุก 12-36 เดือน เพราะถ้าใช้ภาพคำเตือนรูปแบบเดิมนานๆ จะทำให้เกิดความคุ้นชิน และรู้สึกเฉยชาไปในที่สุด จึงต้องมีการหมุนเวียนเปลี่ยนภาพคำเตือนใหม่ๆ เพื่อกระตุ้นให้นักสูบคิดถึงผลกระทบด้านสุขภาพจาการสูบบุหรี่” ดร.ศิริวรรณ กล่าว

นายธนนันทน์ วรรณศิโรรัตน์ เจ้าหน้าที่ศูนย์การแพทย์โรงพยาบาลกรุงเทพ เปิดเผยผลการสำรวจโครงการผลของฉลากคำเตือนบนซองบุหรี่ต่อการรับรู้ด้านสุขภาพของนักเรียนอาชีวศึกษาในกรุงเทพมหานคร ปี 2553 สนับสนุนโดย ศจย.และ สสส. โดยมีกลุ่มตัวอย่างจำนวน 480 คน ว่า 95% เคยเห็นภาพคำเตือนบนซองบุหรี่ 85.8% สามารถระลึกภาพคำเตือนบนซองบุหรี่ได้ มากที่สุดคือ ภาพควันบุหรี่ทำให้เกิดมะเร็งปอด กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีความเห็นว่าประโยชน์ของภาพคำเตือนทำให้รู้ถึงผลเสียของการสูบบุหรี่ และเมื่อเห็นภาพคำเตือนบนซองบุหรี่ทำให้กลุ่มไม่เคยสูบบุหรี่ไม่อยากพกพาและไม่อยากซื้อบุหรี่มากที่สุด รองลงมาคือกลุ่มที่เคยสูบแต่เลิกแล้ว ซึ่งมีข้อเสนอแนะให้มีภาพคำเตือนบนซองบุหรี่ต่อไป โดยให้มีภาพที่เฉพาะเจาะจงต่อกลุ่มเยาวชนด้วย เน้นภาพที่น่ากลัว สื่อความหมายชัดเจน และรณรงค์ภาพดังกล่าวผ่านสื่อ เพื่อป้องกันไม่ให้เยาวชนริเริ่มสูบบุหรี่

ดร.ศิริวรรณกล่าวอีกว่า การขยายขนาดภาพคำเตือนและการหมุนเวียนเปลี่ยนภาพคำเตือนบนซองบุหรี่ จะช่วยให้นักสูบตระหนักถึงพิษภัยจากการสูบบุหรี่มากขึ้นลดแรงจูงใจซื้อบุหรี่และมีโอกาสตัดสินใจเลิกบุหรี่ได้ จึงควรเร่งออกประกาศกระทรวงสาธารณสุขในเรื่องดังกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น