xs
xsm
sm
md
lg

ลดป่วยตายด้วยการกระจายอำนาจสู่ “ท้องถิ่น” แบบ...อปสข.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เมื่อเจ็บไข้ได้ป่วย หากอาการไม่รุนแรงนัก หลายคนเลือกที่จะซื้อหาหยูกยามารับประทานเอง แต่หากเริ่มมีอาการรุนแรงขึ้น คนส่วนใหญ่มักเลือกที่จะไปรักษาตัวตามโรงพยาบาลขนาดใหญ่ เพราะคงปฏิเสธไม่ได้ว่าตามโรงพยาบาลขนาดใหญ่ล้วนแต่มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญการรักษาโรคด้านต่างๆ อยู่
แฟ้มภาพ
แต่การมะรุมมะตุ้มไปยังโรงพยาบาลขนาดใหญ่กลับก่อให้เกิดผลเสีย คือ คนยิ่งมากก็ยิ่งรอคิวนาน จนเกิดปัญหาผู้ป่วยล้นโรงพยาบาล กลับกันโรงพยาบาลชุมชน (รพช.) หรือโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ที่เป็นหน่วยบริการที่ใกล้ชิดกว่ากลับถูกมองข้ามไป

นี่เป็นเพียงตัวอย่างเบื้องต้นของปัญหาทางด้านระบบบริการสุขภาพ ที่อาจกล่าวได้ว่าทุกพื้นที่ทั่วประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่ และหากจะให้ส่วนกลางอย่างกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ลงมาแก้ปัญหาเองนั้น เชื่อได้ว่าคงไม่ทันการณ์!

เพราะกว่าจะผ่านแต่ละขั้นตอนของระบบราชการจากในพื้นที่ขึ้นมาสู่ผู้บริหารระดับสูง คงใช้เวลานานพอดู ดังนั้น การกระจายอำนาจบริหารลงไปสู่ท้องถิ่น ให้มีการตัดสินใจแก้ปัญหาด้านสุขภาพของคนในพื้นที่ได้เองนั้น ย่อมรวดเร็วกว่าและทำได้ดีกว่า เนื่องจากคนในพื้นที่ย่อมรับรู้ปัญหาภายในพื้นที่ของตัวเองอย่างดี และแต่ละพื้นที่ย่อมมีปัญหาที่แตกต่างกันไป การแก้ปัญหาโดยรวมจากส่วนกลางจึงอาจไม่ใช่คำตอบในการแก้ปัญหาที่ดีที่สุด

จึงเป็นต้นกำเนิดของ คณะอนุกรรมการหลักประกันสุขภาพระดับเขต (อปสข.) ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ครบทุกจังหวัดในประเทศไทย ถือเป็นการปฏิรูประบบสุขภาพด้วยการกระจายอำนาจให้ในพื้นที่สามารถแก้ปัญหาระบบบริการสุขภาพให้ประชาชนมีหลักประกันสุขภาพที่มีคุณภาพและเข้าถึงอย่างครอบคลุม

เกี่ยวกับเรื่องนี้ นพ.วีระวัฒน์ พันธ์ครุฑ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) อธิบายว่า อปสข.เปรียบดังคณะรัฐมนตรีสาธารณสุขระดับเขต แบ่งเป็น 13 เขตบริการรวมกรุงเทพมหานคร ประกอบด้วยผู้แทน 4 ส่วน ทั้งผู้ทรงคุณวุฒิ หัวหน้าส่วนราชการ ตัวแทนจากโรงพยาบาล องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และตัวแทนจากภาคประชาชน โดยบทบาทจะคอยดูแลปัญหาด้านสุขภาพในเขตของตน ซึ่งมีประชากรราว 3-6 ล้านคน ข้อดีของการมี อปสข.เพราะจะทำให้ปัญหาต่างๆ ถูกเสนอโดยพื้นที่ ใกล้เคียงกับความเป็นจริง และสามารถแก้ปัญหาได้ตรงกับความต้องการ รวมทั้งสร้างสำนึกความเป็นเจ้าของระบบหลักประกันสุขภาพ

“อย่างปัญหาความแออัดในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ เดิมต้องรอให้ส่วนกลางแก้ไข เช่น สร้างตึกเพิ่ม ขอแพทย์ พยาบาลมาเสริม ซึ่งทำให้เกิดความล่าช้า แต่เมื่อมี อปสข.ซึ่งเป็นการกระจายอำนาจการตัดสินใจมายังพื้นที่ ก็จะทำให้แก้ปัญหาได้เร็วขึ้น เช่น จ้างหมอเกษียณหรือหมอเอกชนเข้าทำงาน สร้างตึกเพิ่มขึ้น อย่างท้องถิ่นพอมีเงินก็เข้าไปปรับปรุงพื้นที่ที่มี สร้างโรงพยาบาลขึ้นมาใหม่ และบริหารร่วมกับ สธ.ในการดูแลประชาชน”

นอกจากการแก้ปัญหาเรื่องความแออัดแล้ว นพ.วีระวัฒน์กล่าวว่า การขาดแคลนกำลังคนด้านสาธารณสุข อปสข.ก็สามารถตัดสินใจแก้ปัญหาเองได้ เช่น พยาบาลมีไม่เพียงพอก็สามารถส่งเด็กในพื้นที่มาเรียนพยาบาลให้มากขึ้น แล้วให้กลับมาทำงานในพื้นที่ โดยมีทุนจาก อปท.ให้เรียน หรือ อปสข.อาจระดมทุนมาสนับสนุนให้เด็กในพื้นที่ได้เรียน

เรียกได้ว่า อปสข.สามารถแก้ปัญหาสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ได้เกือบที่จะครอบคลุม ทั้งการแก้ปัญหาสุขภาพของประชาชน พื้นที่ใดมีปัญหาโรคใดมากก็สามารถตัดสินใจแก้ไขปัญหาเองได้ หรือพื้นที่ใดควรเป็นศูนย์ดูแลประชาชนเรื่องใด เพิ่มการเข้าถึงบริการของประชาชนเพื่อลดการเจ็บป่วยตาย การจัดสรรทรัพยากร รวมไปถึงการลดความแออัดของหน่วยบริการ

อย่างไรก็ตาม นพ.วีรวัฒน์ยอมรับว่า ประชาชนทั่วไปอาจจะยังไม่รู้จัก อปสข.มากนัก แต่ก็มีการพัฒนาระบบให้มีความมั่นคงขึ้นเรื่อยๆ โดยในอนาคตจะดูแลในเรื่องของการรับส่งต่อผู้ป่วยฉุกเฉินด้วย โดยจะให้เทศบาลมีรถฉุกเฉิน แล้วให้ภาคเอกชนและมูลนิธิต่างๆ เข้ามาอบรม ซึ่งเชื่อว่าเมื่อเกิดอุบัติเหตุต่างๆ ขึ้น ในพื้นที่ตจะสามารถช่วยเหลือ ดูแล และส่งต่อ เพื่อลดการป่วยตายของคนในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น