xs
xsm
sm
md
lg

เนื้องอกต่อมใต้สมองชนิดคุชชิ่ง โรคหายากแต่เป็นอันตรายถึงชีวิต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผศ.นพ.ธิติ สนับบุญ หน่วยต่อมไร้ท่อและเมตาบอลิสม ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ให้ความรู้เกี่ยวกับโรคเนื้องอกต่อมใต้สมองชนิดคุชชิ่ง ซึ่งเป็นโรคยังไม่เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายนัก

เนื้องอกต่อมใต้สมองชนิดคุชชิ่ง เป็นโรคที่พบไม่บ่อยแต่ก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้ป่วยถึงเสียชีวิตในกรณีที่ไม่ได้รักษาหรือรับการรักษาที่ล่าช้า เนื่องจากเนื้องอกดังกล่าวจะสร้างฮอร์โมนสเตียรอยด์ปริมาณสูง ทำให้ภูมิต้านทานของร่างกายทำงานบกพร่อง จึงเกิดการติดเชื้อตามอวัยวะหรือกระแสเลือดได้ง่ายและรุนแรง ระบบการทำงานของอวัยวะผิดปกติ ได้แก่ เกลือแร่ในเลือด เกิดโรคเบาหวาน และอ้วน รวมถึงอาการแขนขาอ่อนแรง

นอกจากนี้ ก้อนเนื้องอกที่ตำแหน่งต่อมใต้สมองซึ่งตั้งอยู่บริเวณฐานของสมองสามารถกดเบียดอวัยวะข้างเคียง เช่น เส้นประสาทตาทำให้ตามัวหรือบอด หรือปวดศีรษะอย่างรุนแรงได้ ดังนั้น คนที่อ้วนขึ้นผิดสังเกตโดยเฉพาะส่วนใบหน้าหรือลำตัว หรือมีรอยแตกของผิวหนังที่มีลักษณะเป็นสีแดงบริเวณท้องหรือต้นขา ผู้ป่วยเบาหวานหรือความดันโลหิตสูงที่ควบคุมได้ยาก ลุกนั่งหรือยืนลำบาก ปวดศีรษะ ตามัว หรือ ผู้หญิงที่มีสิวหรือขนตามตัวมากขึ้นร่วมกับประจำเดือนที่ผิดปกติ ควรปรึกษาแพทย์ถึงโอกาสที่จะเป็นของเนื้องอกต่อมใต้สมองชนิดคุชชิ่ง เนื่องจากโรคเนื้องอกชนิดนี้สามารถรักษาให้หายขาดโดยการผ่าตัดซึ่งใช้เวลาพักฟื้นในโรงพยาบาลระยะสั้นๆ ไม่เกิน 1 สัปดาห์ ไม่มีรอยแผลเป็นที่ใบหน้าหรือศีรษะ นอกจากนี้ยังมีการรักษาเสริมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการผ่าตัดโดยใช้วิธีรังสีรักษาหรือการรักษาด้วยยาที่สามารถควบคุมระดับของฮอร์โมน สเตียรอยด์ได้

ผู้ป่วยโรคนี้มีอัตราเสี่ยงในการเสียชีวิตสูงกว่าคนทั่วไปถึง 4 เท่า ถ้าไม่ได้รับการรักษาอาจมีภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายถึงชีวิต และในผู้ป่วยบางราย การเปลี่ยนแปลงทางรูปลักษณ์ภายนอกอาจทำให้สูญเสียความเชื่อมั่นและมีผลกระทบทางจิตใจ ดังนั้นหากมีอาการต้องสงสัยดังที่กล่าวมาจึงควรรีบพบแพทย์เพื่อจะได้รับการวินิจฉัยที่ถูกต้องและได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น