นักโภชนาการแนะวิธีกินดับร้อน พร้อมเผยอาหาร 7 ประเภทที่ควรเลี่ยง ย้ำอาหารมันจัด หวานจัด และเค็มจัด อาหารที่มีไขมันสูง ตัวเพิ่มร้อน
นายสง่า ดามาพงษ์ นักโภชนาการ และผู้จัดการแผนงานโภชนาการเชิงรุก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ในช่วงฤดูร้อน อุณหภูมิที่สูงขึ้นทำให้การเจริญเติบโตของเชื้อจุลินทรีย์ เชื้อแบคทีเรีย เจริญเติบโตได้ดี ซึ่งอาหารปนเปื้อนในหน้าร้อนทำให้เกิดความเสี่ยงทำให้เกิดโรคระบบทางเดินทางอาหารต่างๆ โดยโรคที่พึงระวังในหน้าร้อนมีด้วยกันหลายกลุ่มโรค ทั้งโรคท้องร่วง อาหารเป็นพิษ ไทฟอยด์ อหิวาตกโรค โรคบิด ซึ่งถือเป็นโรคที่พบได้บ่อยในช่วงฤดูร้อน รวมทั้งตรงกับช่วงการท่องเที่ยวและการเดินทางมากขึ้น อย่างไรก็ตามโรคดังกล่าวเหล่านี้เป็นโรคที่ป้องกันได้ไม่ยาก หากใส่ใจก่อนจะรับประทาน
นายสง่า กล่าวว่า สำหรับอาหารที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคในหน้าร้อนมี 7 ประเภท ดังนี้ 1.อาหารประเภทกะทิ เช่น แกงเขียวหวาน แกงเผ็ด ขนมพวกกะทิ ซึ่งเป็นอาหารที่ง่ายต่อการบูดเสีย เชื้อจุลินทรีย์ชอบ ดังนั้น ต้องมั่นใจว่าเป็นอาหารปรุงสุกใหม่ หรือทานให้หมดภายในมื้อเดียว หากไม่แน่ใจควรหลีกเลี่ยง 2.อาหารประเภทยำที่มีเนื้อต่างๆ ทั้งหมู ไก่ ปลา อาหารทะเล รวมถึงส้มตำ จำเป็นต้องทำให้สุก เพราะการลวกไม่ทำให้เชื้อโรคตาย โดยเฉพาะปูดองหรือปลาร้า 3.ขนมจีนน้ำยากะทิ ถือเป็นอาหารเสียง่าย และต้องล้างผักเคียงให้สะอาด 4.อาหารทะเล ต้องทำให้สุกทุกครั้ง เพราะมีเชื้อจุลินทรีย์ 5.อาหารค้างคืน ต้องมั่นใจว่าไม่บูดเสีย อุ่นให้สุกใหม่ทุกครั้ง 6.อาหารที่มีแมลงวันตอม โดยสังเกตและเลือกซื้ออาหารที่ปรุงสำเร็จและวางขายในภาชนะที่ไม่มีฝาและสิ่งใดปกปิด และ7.น้ำดื่ม และน้ำแข็ง ต้องมั่นใจว่าเป็นน้ำดื่มที่อาดได้มาตรฐาน ไม่ใช้น้ำแข็งแช่ร่วมกับอาหาร เพราะเสี่ยงต่อการทำให้ท้องร่วง
นายสง่า กล่าวต่อว่า นอกจากเรื่องอาหารปลอดภัยยังต้องคำนึงถึงคุณค่าทางโภชนาการ และประเภทอาหารที่กินเข้าไปไม่ให้เพิ่มความร้อน แต่กินเพื่อเพิ่มความเย็นสบาย โดยมีวิธีรับประทาน 1.ควรดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ เพราะหน้าร้อนร่างกายเสียเหงื่อมาก ต้องได้น้ำเข้าไปทดแทน จะเป็นน้ำเย็นหรือน้ำธรรมดาก็ได้ แต่ระมัดระวังน้ำอัดลม ดื่มได้แต่อาจเพิ่มแก๊สให้อึดอัดท้อง และเพิ่มน้ำตาลกลายเป็นพลังงานส่วนเกิน ทำให้อ้วนได้ แต่ละวันจึงควรดื่มน้ำอย่างน้อย 8 แก้ว 2.หลีกเลี่ยงอาหารมันจัด หวานจัด และเค็มจัด อาหารที่มีไขมันสูงย่อยยาก ให้พลังสูง เพราะเพิ่มความร้อนมากขึ้นได้ 3.กินผลไม้ไทยๆ ที่มีรสหวานน้อยเป็นประจำช่วยดับร้อนได้ดี ทั้งชมพู ส้ม แตงโม แก้วมังกร ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นผลไม้ที่มีน้ำมากกว่า 90% 4.รับประทานอาหารไทยๆ เช่น แกงเลียง แกงส้ม แกงป่า แกงอ่อม เป็นต้น และ 5.ออกกำลังกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ
“ช่วงหน้าร้อนยังตรงกับช่วงปิดเทอม เด็กๆ ก็เสี่ยงเกิดโรคอ้วนได้ เพราะเมื่ออยู่บ้านเด็กมีอิสระในการกิน อาจทำให้เด็กกินอาหารมากและถี่ขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากพ่อแม้ผู้ปกครองกว่าลูกจะอดก็ซื้ออาหารตุนไว้ที่บ้าน ทั้งขนมกรุบกรอบ น้ำอัดลม ยิ่งเป็นตัวการที่ทำให้เด็กอ้วนไม่รู้ตัว ดังนั้น สิ่งที่ควรมีติดตู้เย็นไว้มากที่สุด คือ ผลไม้ที่รับประทานง่าย ความหวานน้อย บวกกับความเอาใจใส่ของพ่อแม่ ก็จะช่วยให้เด็กสุขภาพแข็งแรงได้” นายสง่า กล่าว