xs
xsm
sm
md
lg

“หมอชลน่าน” ปฏิรูปตระกูล ส.เน้นปรับการทำงาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“หมอชลน่าน” เรียกตระกูล ส.ประชุมปฏิรูป สธ.ย้ำไม่ปรับเปลี่ยนโครงสร้าง แต่เน้นปรับกระบวนการทำงาน ด้าน สสส.ชี้ซ้ำซ้อนระบบราชการ ทำงานคล่องตัวยาก โดยเฉพาะการทำงานข้ามกระทรวง สวรส.เสนอ คสช.ทำหน้าที่แทน คกก.นโยบายสุขภาพแห่งชาติ

วันนี้ (2 เม.ย.) ที่สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวระหว่างเป็นประธานการประชุมปรึกษาหารือ เพื่อให้ข้อคิดเห็นต่อร่างข้อเสนอการปฏิรูปกระทรวง โดยมี นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัด สธ.และตัวแทนองค์กร ส.ต่างๆ ประกอบด้วย สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) หรือ สรพ.โรงพยาบาลบ้านแพ้ว (องค์การมหาชน) สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) เข้าร่วมประชุม ว่า การประชุมครั้งนี้เพื่อชี้แจงและนำเสนอเรื่องที่จะมีการปฏิรูป สธ.ซึ่งตามแนวทางการศึกษาจะไม่เน้นการปรับเปลี่ยนโครงสร้าง แต่เน้นการปรับกระบวนการทำงาน นอกจากจะเป็นกรณีที่เกิดประโยชน์กับทุกฝ่ายและประชาชนจึงจะปรับเปลี่ยนโครงสร้าง โดยการเชิญหน่วยงานตระกูล ส.มาประชุม เพราะหลายหน่วยงานอยู่ภายใต้การกำกับของ สธ.
นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว
การประชุมยังไม่มีข้อสรุปเพราะเป็นการหารือร่วมกันเบื้องต้น ยังไม่มีข้อเสนอจากองค์กรต่างๆ มีเพียงข้อสังเกตเท่านั้น เช่น การมีคณะกรรมการนโยบายสุขภาพแห่งชาติ (National Health Authority) จะซ้ำซ้อนกับคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) หรือไม่ และการเชื่อมโยงการทำงานจะเกิดขึ้นอย่างไร ซึ่งได้มอบหมายให้แต่ละองค์กรกลับไปทบทวนบทบาทของตนเองและการเชื่อมโยงกับหน่วยงานต่างๆ ว่าจะดำเนินการอย่างไร ก่อนจะมีการหารือร่วมกันอีกครั้ง” รมช.สาธารณสุข กล่าวและว่า ขอย้ำว่าไม่มีรวบอำนาจ เพราะแต่ละองค์กร มี พ.ร.บ.เป็นของตนเอง และยังต้องทำงานตามภารกิจหลักที่กฎหมายกำหนดไว้ ซึ่งหากไม่ได้ข้อสรุป คณะกรรมการนโยบายฯก็ยังไม่เกิด”

นพ.ณรงค์ กล่าวว่า การปฏิรูปครั้งนี้เป็นการเปลี่ยนแปลงไปสู่การเดินหน้าของระบบสุขภาพ โดยจะพยายามรวบรวมความเห็น ติดตาม และประเมินผล ซึ่งมีการวางกรอบการทำงาน 11 เรื่องที่จะระดมความเห็นในด้านต่างๆ อาทิ การกำหนดนโยบายยุทธศาสตร์ การสร้างและจัดการความรู้ด้านสุขภาพ การประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพ การพัฒนากลไกเฝ้าระวังโรค เป็นต้น เพื่อนำไปสู่ข้อสรุปโดยตั้งกรอบการทำงานว่า จะให้แล้วเสร็จในเดือนตุลาคมนี้

ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้จัดการ สสส.กล่าวว่า ตนเห็นด้วยกับการปฏิรูป สธ.ซึ่งเป็นเรื่องท้าทายและเป็นเรื่องยาก จึงจำเป็นต้องคิดให้รอบด้าน เพราะโครงสร้างขณะนี้ยังคล้ายกับโครงสร้างการบริหารราชการเดิม ทำให้มีความยากในแง่การทำงาน โดยเฉพาะหน่วยงานต่างๆ ที่เข้าร่วมประชุมครั้งนี้ ซึ่งถูกออกแบบให้อยู่นอก สธ. เพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องการประสานงานข้ามกระทรวง อย่าง สสส.มีภารกิจเกี่ยวข้องกับงานนอก สธ.ถึง 70% เกี่ยวข้องกับ สธ.เพียง 30% การทำงานอาจจะลำบากหากต้องผูกโยงกับ สธ.ส่วนการตั้งคณะกรรมการนโยบายสาธารณสุขแห่งชาตินั้น มองว่าจำเป็นต้องหารือกันต่อไป

นพ.พงษ์พิสุทธิ์ จงอุดมสุข ผู้อำนวยการ สวรส.กล่าวว่า คณะกรรมการนโยบายสาธารณสุขแห่งชาติ กับ คสช.อาจมีส่วนซ้อนกันอยู่บ้าง เว้นแต่การมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ซึ่ง คสช.รับผิดชอบอยู่ เป็นไปได้หรือไม่ที่จะให้ คสช.ทำหน้าที่แทน โดยปรับองค์ประกอบของเลขานุการให้มีปลัด สธ.เข้าไปดำเนินการ ทั้งนี้ หากใช้กลไกนโยบายมาบริหารงานจะทำให้ทำงานได้ยาก และเกิดคำถามว่า จะเข้ามาทดแทนกลไกการบริหารงานที่มีอยู่ได้หรือไม่

นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการ สปสช.กล่าวว่า การตั้งคณะกรรมการนโยบายฯ ส่วนใหญ่เขียนนโยบายออกมาในรูปแบบนามธรรม ซึ่งยากในการปฏิบัติจริง จำเป็นต้องมีกลไกที่แปลงนโยบายมาสู่การปฏิบัติได้จริง และตอบได้ว่าประชาชนจะได้อะไร กระบวนการออกแบบของ สธ.ถูกออกแบบมาเป็นแบบระบบราชการ ซึ่งใช้กลไกของอำนาจในการบริหารงาน จึงจำเป็นต้องจัดความสมดุลเรื่องของการมีส่วนร่วมเพิ่มเติม
กำลังโหลดความคิดเห็น