xs
xsm
sm
md
lg

ปลัด สธ.นัดทุกวิชาชีพถกวิธีจ่ายค่าตอบแทน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ปลัด สธ.เชิญทุกวิชาชีพหารือปรับวิธีจ่ายค่าตอบแทน ยันไม่ตัดเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายทิ้ง ส่วนการจ่ายแบบ P4P จะวัดทั้งปริมาณและคุณภาพ ด้านหมอชนบทลั่นไม่ร่วมวง บอกไร้ประโยชน์ ชี้จ่ายตามภาระงานทำให้เกิดการล่าแต้ม หมอจะตรวจไวขึ้นไม่ยุติธรรมกับคนไข้ เตรียมบุกพบ “กิตติรัตน์” ชี้แจง 29 มี.ค.ขณะที่ สวส.แนะเปิดทาง รพ.เลือกผสมวิธีจ่าย

วันนี้ (27 มี.ค.) นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า หลังคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการของ สธ.เรื่องแนวทางการปรับปรุงวิธีการจ่ายค่าตอบแทนแบบผสมผสาน คือยังมีการจ่ายแบบเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายเหมือนเดิม และเพิ่มการจ่ายตามภาระงาน (P4P:Pay for Performance) ที่ประชุม ครม.ยังให้ สธ.ดำเนินการหารือร่วมกันทุกวิชาชีพเพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกัน โดยภายในวันนี้ สธ.ได้เชิญทุกฝ่ายเข้าร่วมหารือกัน ซึ่งจะพยายามอย่างเต็มที่เพื่อหาทางออกให้ได้ เพราะอยากให้ทุกฝ่ายเกิดความสบายใจ ซึ่งขั้นตอนของการดำเนินการปรับเปลี่ยนวิธีจ่ายค่าตอบแทนจะมีการทบทวนปรับเปลี่ยนตลอดในช่วง 2 ปี จึงอยากให้ทุกฝ่ายหาทางออกร่วมกัน
ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต
การเชิญทุกฝ่ายให้เข้าร่วมประชุมไม่ใช่คำสั่งที่จะไปบังคับใคร เพราะเข้าใจความรู้สึกของทุกฝ่าย โดยเฉพาะผู้ที่ปฏิบัติงานในส่วนภูมิภาค การหารือครั้งนี้จึงเป็นการเชิญมาหาทางออกร่วมกัน ไม่อยากให้จับจ้องว่าใครจะมาหรือไม่มา อยากให้บรรยากาศของการหารือเป็นไปด้วยความเข้าใจ” ปลัด สธ. กล่าวและว่า ส่วนข้อกังวลเรื่องการไหลออกของกำลังคนในระบบ ขอยืนยันว่าในระหว่างการเปลี่ยนวิธีการจ่ายค่าตอบแทนจะมีการปรับปรุงทบทวนประเมินผลอยู่ตลอด โดยในส่วนของโรงพยาบาลชุมชน (รพช.) ขนาดกลางและขนาดใหญ่ มีการปรับเบี้ยเหมาจ่ายลงประมาณ 5 พันบาท แต่ไม่มีการปรับลดเบี้ยในพื้นที่ทุรกันดาร ซึ่งสัดส่วนเงินที่ปรับลดลงนั้นจะนำมารวมกันเพื่อนำมาจ่ายแบบ P4P ให้คนที่มีภาระงานมากเกิดความเป็นธรรมในวิชาชีพ ทั้งนี้ เงื่อนไขของการจ่ายแบบ P4P จะมีการวัดทั้งปริมาณและคุณภาพ โดยเฉพาะด้านคุณภาพ เช่น ผลดีต่อสุขภาพประชาชน การลดโรคแทรกซ้อน เป็นต้น ไม่ใช่แค่ตรวจมากก็ได้เงินมาก

ด้าน นพ.อารักษ์ วงศ์วรชาติ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสิชล จ.นครศรีธรรมราช และอดีตประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าวว่า ทางกลุ่มฯขอปฏิเสธการเข้าร่วมกับ สธ.เนื่องจากที่ผ่านมาได้แสดงจุดยืนเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่าไม่ต้องการใช้วิธีคิดแบบ P4P เพราะไม่ได้ช่วยเพิ่มคุณภาพการบริการ แต่จะทำให้มุ่งเน้นการล่าแต้มเพื่อให้ได้ค่าตอบแทนเพิ่มขึ้น เช่น แพทย์คนหนึ่งวินิจฉัยคนไข้อย่างละเอียดใช้เวลาประมาณ 15 นาที กับแพทย์อีกคนวินิจฉัยไม่ถึงนาที เพื่อต้องการทำยอดตรวจคนไข้ แบบนี้ยุติธรรมกับคนไข้หรือไม่ เมื่อเรื่องนี้ยังไม่ได้ข้อสรุป สธ.ก็ไม่สมควรเสนอเรื่องให้รองนายกฯ เพื่อกลั่นกรองเข้า ครม.เพราะถือว่าไม่ถูกต้อง

วันที่ 29 มี.ค.นี้ ตัวแทนชมรมแพทย์ชนบทและตัวแทน ผอ.รพช.ประมาณ 10 คน จะขอเข้าพบนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง เพื่อชี้แจงทำความเข้าใจในเรื่องนี้ แต่หากจะให้ไปหารือหรือสร้างความเข้าใจร่วมกับ รมว.สาธารณสุธ. และปลัด สธ.อีกคงไม่มีประโยชน์" นพ.อารักษ์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า การเรียกร้องของชมรมฯ เริ่มไม่ชัดเจน เพราะไม่ได้มุ่งแค่การปรับค่าตอบแทน นพ.อารักษ์ กล่าวว่า เป็นการเรียกร้องภาพรวมที่เกี่ยวข้องกันหมด เดิมทีชมรมฯ จับตาอยู่ห่างๆ แต่ตอนนี้เมื่อต่อจิกซอว์ ทำให้ทราบว่าทุกอย่างเกี่ยวข้องกันหมด ทั้งการเปลี่ยนวิธีการจ่ายค่าตอบแทน ซึ่งส่งผลต่อขวัญกำลังใจหมอชนบท การสนับสนุนนโยบายเมดิคัล ฮับ ซึ่งเชื่อมโยงได้ว่า หากหมอในชนบทหมดกำลังใจก็จะลาออกและไหลไปอยู่ภาคเอกชน สุดท้ายก็จะส่งผลต่อประชาชนผู้รับบริการ นพ.ประดิษฐ จึงไม่เหมาะสมดำรงตำแหน่งอีก อย่างไรก็ตาม การเคลื่อนไหวหลังจากนี้มีการหารือว่า หาก ครม.เดินหน้าเรื่องนี้ อาจต้องมีการฟ้องศาลปกครอง เนื่องจากระเบียบดังกล่าวเป็นการลิดรอนสิทธิของแพทย์ในเรื่องค่าตอบแทน ส่วนจะมาชุมนุมทุกวันอังคารหรือไม่นั้น ย่อมมีแน่นอน เพียงแต่อาจหมุนเวียนกันมา เพราะยังต้องทำหน้าที่ดูแลคนไข้

นายไพศาล บางชวด นายกสมาคมวิชาชีพสาธารณสุข (สวส.) กล่าวว่า ตนเห็นด้วยในหลักการทบทวนวิธีการจ่ายค่าตอบแทนใหม่ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำของบุคลากรสาธารณสุข แต่ในการทบทวนนั้นต้องให้สอดคล้องกับผลการปฏิบัติงานของแต่ละพื้นที่และหน่วยบริการแต่ละระดับที่มีความแตกต่างกันด้วย ที่สำคัญต้องครอบคลุมกลุ่มผู้ปฏิบัติงานให้บริการทางการแพทย์และสาธารณสุขกลุ่มอื่นๆ เพิ่มขึ้น เช่น กลุ่มนักสาธารณสุขและหมออนามัยที่ดูแลรักษาชาวบ้านอยู่ในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) หรือสถานีอนามัยเดิมเกือบ 1 หมื่นแห่ง แต่กลับไม่มีข้อเรียกร้องใดๆ จากกลุ่มเหล่านี้และแทบไม่มีใครพูดถึง

วิธีการจ่ายค่าตอบแทนทั้ง 2 แบบไม่ถือว่าเป็นวิธีการที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพมากที่สุด เพราะแต่ละพื้นที่มีความหลากหลายที่แตกต่างกันไป ทั้งด้านกำลังคน การเงิน ปัจจัยแวดล้อม และภาระงาน ไม่ควรจำกัดวิธีการใดแล้วบังคับใช้เหมือนกันทั้งประเทศ ในโรงพยาบาลบางแห่งอาจทำความตกลงแบบสมัครใจโดยใช้ลักษณะวิธีการจ่ายที่สอดคล้องตามผลการปฏิบัติงานผสมผสานกับแบบเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่าย ทั้งในพื้นที่ปกติ พื้นที่ทุรกันดาร พื้นที่พิเศษหรือเสี่ยงภัย โดยนำประโยชน์ของประชาชนเป็นตัวตั้ง ส่วน รพ.สต.นั้นไม่เหมาะสมกับวิธีการจ่ายแบบ P4 P แต่ควรจ่ายตามผลการปฏิบัติงานที่สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ ภาระงาน และกำลังคน” นายไพศาล กล่าว

นพ.ประเสริฐ ขันเงิน ผอ.โรงพยาบาลพุทธชินราช จ.พิษณุโลก กล่าวว่า การมาชุมนุมของแพทย์ชนบทที่หน้าทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 26 มี.ค.ที่ผ่านมา คาดว่ายังมีผู้ชุมนุมบางส่วนไม่เข้าใจถึงระบบการจ่ายค่าตอบแทนแบบ P4P และยังไม่ทราบรายละเอียดว่าการตัดเบี้ยกันดารจะตัดแค่บางแห่งเท่านั้น คือพื้นที่ที่มีความเจริญมากแล้ว อาทิ บางบัวทอง หนองจอก เป็นต้น ดังนั้น หาก สธ.มีการประชาสัมพันธ์ถึงรายละเอียดที่ชัดเจนก็จะทำให้กลุ่มที่เข้าใจคลาดเคลื่อนเข้าใจได้มากขึ้น และเชื่อว่าภายหลัง ครม.มีมติเห็นชอบในหลักการการจ่ายแบบ P4P ก็จะทำให้มีการประชาสัมพันธ์มากขึ้น ซึ่งหากทุกกลุ่มได้รับข้อมูลที่บิดเบือนก็จะช่วยลดปัญหาความคัดแย้งลงได้

เมื่อศึกษาดูแล้วการจ่ายค่าตอบแทนแบบ P4P ไม่ได้ทำให้รายได้ลดลง มีแต่จะเพิ่มขึ้น ส่วนเรื่องที่แกนนำแพทย์ชนบทประกาศว่าจะไปชี้แจงให้ประชาชนเข้าใจนั้น ตนคิดว่าประชาชนมีวิจารณญาณในการตัดสินใจ อย่างไรก็ตาม ไม่ว่ากลุ่มแพทย์ชนบทที่มาประท้วงจะหยุดงานในช่วงสงกรานต์หรือไม่ ขอให้ประชาชนมั่นใจว่าจะมีแพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ คอยให้บริการ 24 ชั่วโมง ซึ่งโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป (รพศ./รพท.) เตรียมพร้อมรับมืออยู่แล้ว ซึ่งขณะนี้ก็ได้มีการหารือเพื่อเตรียมมาตรการพิเศษรับมือแล้ว โดยอาจใช้ลักษณะเดียวกับกรณีน้ำท่วม” นพ.ประเสริฐ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น