ชมรมเภสัชฯ หนุน สธ.ลุยเปลี่ยนวิธีจ่ายค่าตอบแทนแบบ P4P ชี้ช่วยเพิ่มความเป็นธรรมและขวัญกำลังใจวิชาชีพอื่นๆ แนะเกณฑ์คิดคะแนนต้องชัดเจน ปลัด สธ.เผยดีเดย์ 1 เม.ย.นี้ เป็นแค่เก็บข้อมูล ยังไม่เริ่มจ่ายจริง พร้อมดึง สวรส.และ IHPP ร่วมประเมินผลดำเนินการ 1 ปี
วันนี้ (22 มี.ค.) เมื่อเวลา 08.45 น.ที่สำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุข ชมรมเภสัชกรโรงพยาบาล กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นำโดย ภก.ประทิน ฮึงวัฒนากุล หัวหน้ากลุ่มงานเภสัชกรรม โรงพยาบาลพระนั่งเกล้า ในฐานะประธานชมรมเภสัชกรฯ ได้นำเภสัชกรโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป (รพศ./รพท.) และโรงพยาบาลชุมชน (รพช.) เข้ายื่นหนังสือต่อ นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัด สธ.เพื่อสนับสนุนและให้กำลังใจ สธ.ในการดำเนินการปรับวิธีจ่ายค่าตอบแทนเป็นแบบตามภาระงาน (P4P : Pay for Performance)
ภก.ประทิน กล่าวว่า นโยบายการปรับวิธีจ่ายค่าตอบแทนเป็นแบบ P4P จะเป็นแนวทางสร้างความเป็นธรรมและขวัญกำลังใจให้แก่ผู้ปฏิบัติงานในกลุ่มวิชาชีพอื่นๆ ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์กับผู้ป่วยและโรงพยาบาล ซึ่งตนเห็นด้วยที่จะมีการจ่ายแบบ P4P เนื่องจากปัจจุบันงานสาธารณสุขมีภาระงานมากขึ้น หลายคนเริ่มบ่นว่าเหนื่อย ดังนั้น หากการทำงานมากขึ้นแล้วจะได้เงินเพิ่มก็น่าจะเป็นขวัญกำลังใจที่ดี อย่างไรก็ตาม การกำหนดคะแนนค่างานของกิจกรรมต่างๆ เพื่อนำมาคิดภาระงานนั้น สธ.ควรดำเนินการให้มีความชัดเจนเป็นที่ยอมรับและเป็นธรรมสำหรับทุกวิชาชีพ เมื่อออกเกณฑ์เสร็จแล้วก็ควรมีการเรียกตัวแทนแต่ละวิชาชีพมาหารือในเรื่องของเกณฑ์การคิดคะแนนให้เกิดการยอมรับร่วมกัน มีสัดส่วนที่เหมาะสม และลดความขัดแย้งระหว่างแต่ละวิชาชีพ อันเนื่องมาจากการเปรียบเทียบคะแนนระหว่างวิชาชีพ ระดับความยากง่ายของงาน ความเสี่ยง รวมถึงความรู้ทางวิชาการ
ภก.ฉวีวรรณ ม่วงน้อย หัวหน้าเภสัชกรรมชุมชนฝ่ายเภสัชกรรม ในฐานะประธานชมเภสัชกร รพช.กล่าวว่า สมาชิกเภสัชกร รพช.เห็นด้วยกับหลักการจ่ายค่าตอบแทนแบบ P4P ที่เริ่มมีความชัดเจนมากขึ้น แต่อยากจะฝากให้ผู้บริหาร สธ.พิจารณาในเรื่องของเกณฑ์พื้นที่และสัดส่วนการคิดคะแนนตามภาระงานให้มีความเหมาะสมมากขึ้นกว่าเดิม อย่างเกณฑ์การคิดคะแนน P4P เบื้องต้นของเภสัชกรนั้นอยู่ที่ 0.35 คะแนน ถือว่าน้อยเกินไป เนื่องจากภาระงานของเภสัชกรก็ไม่ได้น้อยกว่าแพทย์ ดังนั้น ค่าคะแนนควรได้ไม่ต่ำกว่า 0.5 คะแนน โดยในเรื่องการขอเพิ่มคะแนนนั้นตนจะยื่นรายละเอียดให้ทันการปรับเกณฑ์ในรอบแรก
นพ.ณรงค์ กล่าวว่า วันนี้ทางชมรมเภสัชกรฯ ได้ส่งความเห็นกรณีการปรับวิธีการจ่ายค่าตอบแทน ซึ่งมีการปรับลดค่าเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายลง และปรับเพิ่มการจ่ายตามภาระงาน ซึ่งทางชมรมเภสัชกรฯก็เห็นด้วยกับแนวทางนี้ และพร้อมที่จะทำงานร่วมกันกับ สธ.แต่ก็ยังคงมีการเสนอจุดที่เห็นต่าง ซึ่งทาง สธ.ก็พร้อมรับมาพิจารณาและทบทวน โดยจะยึดหลักในเรื่องของการสร้างความเป็นธรรมให้กับทุกวิชาชีพและในวิชาชีพ ผู้ที่ทำงานมากก็ควรจะได้รับค่าตอบแทนมาก เพื่อให้ระบบค่าตอบแทนมีความยั่งยืน โดยผลลัพธ์นี้จะไปตกอยู่ที่ประชาชนด้วย เพราะบุคลากรตั้งใจทำงานมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ไทยยังคงมีเรื่องของความแตกต่างด้านพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่อยู่ยาก การปรับวิธีจ่ายค่าตอบแทนก็จะพยายามทำให้สมดุลกัน
“หากปล่อยให้สาธารณสุขเดินหน้าไปในระบบที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ สุดท้ายจะกลับมาเป็นภาระทั้งเรื่องความอุ้ยอ้ายของระบบ และเรื่องการเงินการคลัง ดังนั้น รัฐบาล รัฐมนตรี สธ.และผู้บริหารที่เห็นสภาพปัญหานี้ก็พยายามพัฒนาปฏิรูป โดยหวังว่าทุกวิชาชีพที่เป็นเจ้าของกระทรวงจะช่วยกันดูแลและทำให้ สธ.เดินหน้าไปอย่างมีศักดิ์ศรี มีคุณภาพ และไปอย่างเป็นทีม เพราะถ้าใครคนหนึ่งทำคงไม่สามารถดูแลสุขภาพประชาชนได้ทั้งหมด โดยพร้อมที่จะรับข้อเสนอจากทุกวิชาชีพ เพื่อนำเสนอรัฐมนตรี” ปลัด สธ.กล่าว
นพ.ณรงค์ กล่าวอีกว่า ตามแผนดำเนินงานเบื้องต้นการปรับวิธีจ่ายค่าตอบแทนระยะแรกนั้นจะเริ่มวันที่ 1 เม.ย.นี้ จะเป็นเพียงการเริ่มเก็บข้อมูลตามภาระงานเท่านั้น ยังไม่เริ่มจ่ายแบบ P4P แต่โรงพยาบาลใดมีความพร้อมในเรื่องของข้อมูลก็สามารถเริ่มจ่ายได้เลย หากหน่วยงานใดยังไม่พร้อมก็จะให้ดำเนินการเก็บข้อมูลจนกว่าจะพร้อม ซึ่งคาดว่าภายใน 3 เดือนน่าจะเข้าที่เข้าทางแล้วกลับมาย้อนจ่ายทีหลัง แม้ขณะนี้จะมีเสียงสะท้อนในเรื่องของรายละเอียดก็จะพิจารณาปรับกันไป อย่างสภาการพยาบาลที่ทำเรื่องนี้ใน รพช.มาประมาณ 9 ปี ก็ยังมีการปรับตลอดเวลา ทั้งนี้ ระหว่างการดำเนินการในระยะที่ 1 จะมีการประเมินผลการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง โดยสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) และสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) เพื่อนำมาพิจารณาปรับต่อไปให้เกิดความเป็นธรรมแก่ทุกวิชาชีพก่อนเข้าสู่การดำเนินการในระยะที่ 2
“ขอยืนยันว่าการบันทึกข้อมูลตามภาระงานของแพทย์จะไม่มีความยุ่งยากและเป็นการเพิ่มภาระ เพราะเป็นการเก็บข้อมูลจากระบบคอมพิวเตอร์อยู่แล้ว โดยการบันทึกนั้นจะมีการตั้งกรรมการตรวจสอบ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม โดยเบื้องต้นเราจะคุยเรื่องของวิธีการจัดเก็บและปริมาณงานก่อน เพื่อให้แต่ละวิชาชีพมีความเข้าใจที่ตรงกัน จากนั้นจึงนำข้อมูลดังกล่าวกลับมาแปลงเป็นคะแนนเพื่อทำการเบิกจ่ายย้อนหลัง” ปลัด สธ.กล่าวและว่า ขณะนี้วิชาชีพต่างๆ ได้เดินหน้าจ่ายค่าตอบแทนตามภาระงานมาพอสมควรแล้วคือเมื่อตั้งแต่ปี 2549 ทั้งใน รพศ. รพท.และ รพช.ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 10 แห่ง เช่น พนมสารคาม สูงเนิน และพาน เป็นต้น
แพทยสภาแนะ สธ.ขยายเวลา รพช.ที่ยังไม่พร้อม
นพ.สัมพันธ์ คมฤทธิ์ เลขาธิการแพทยสภา กล่าวว่า แพทยสภาเป็นองค์กรที่ตั้งขึ้นเพื่อมุ่งหวังที่จะเห็นความสามัคคีของแพทย์ ดังนั้น การที่แพทย์ออกมาชุมนุมเรียกร้องไม่ว่าเรื่องใดก็ตามเป็นสิ่งที่แพทยสภาไม่อยากเห็น อย่างกรณีกลุ่มแพทย์ชนบทจะออกมาประท้วงกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กรณีปรับวิธีการจ่ายค่าตอบแทนเป็นแบบตามภาระงาน (P4P : Pay for Performance) นั้น เท่าที่ทราบไม่ได้มีการตัดงบประมาณแต่อย่างใด เพียงแต่ปรับเปลี่ยนวิธีการจ่ายเงินเท่านั้น และพื้นที่ชายแดนภาคใต้ พื้นที่ทุรกันดารหรืออยู่ยากก็ยังคงได้เบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายแบบเดิม ซึ่งขณะนี้โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป (รพศ./รพท.) ทั่วประเทศมีความพร้อมที่จะปรับการจ่ายค่าตอบแทนแล้ว
นพ.สัมพันธ์ กล่าวอีกว่า ส่วนกรณีที่แพทย์ชนบทไม่พอใจและจะมีการชุมนุมประท้วง โดยส่วนตัวมองว่าแบ่งแพทย์ออกได้ 3 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มที่ไม่สนใจที่จะปรับแนวทางการจ่ายค่าตอบแทนตั้งแต่แรก จึงไม่สนใจที่จะรับข้อมูลในเรื่องดังกล่าว 2.กลุ่มแพทย์ที่ยังไม่มีความพร้อมในการปรับวิธีการจ่ายค่าตอบแทน เนื่องจากการจ่ายตามภาระงานจะต้องมีการเตรียมบุคลากร และเครื่องมือในการที่จะประเมินผลงานของแพทย์ และ 3.กลุ่มแพทย์ที่จะได้รับผลกระทบในการได้รับเบี้ยเลี้ยงน้อยลง ซึ่งตนยอมรับว่ามีอยู่ อย่างไรก็ตาม ตนเห็นว่าสำหรับในกลุ่มที่ยังไม่พร้อม เช่น โรงพยาบาลชุมชน (รพช.) สธ.ก็ควรจะเลื่อนเวลาในการปรับแนวทางการจ่ายเบี้ยเลี้ยงออกไปก่อน ส่วนกลุ่มที่มีความพร้อมก็ให้เริ่มดำเนินการได้ตามที่กำหนด คือ 1 เม.ย.นี้ แต่ไม่ควรที่จะยกเลิกแนวทางดังกล่าวทั้งหมด