กรมควบคุมโรค ชู “ยางล้อรถกันยุง” จากสุโขทัย นวัตกรรมภูมิปัญญาท้องถิ่นสกัดการเพาะพันธุ์ยุงลายและโรคไข้เลือดออก ชี้เป็นการนำของที่ใช้แล้วกลับมาใช้ใหม่อย่างมีคุณค่า ส่งผลมีผู้ป่วยไข้เลือดออกสะสมเพียง 60 ราย
วันนี้ (1 เม.ย.) นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า จากการลงพื้นที่ดูงานป้องกันโรคไข้เลือดออก ที่ ต.นาเชิงคีรี อ.คีรีมาศ จ.สุโขทัย พบว่า เป็นชุมชนต้นแบบปลอดลูกน้ำยุงลาย เนื่องจากมีนวัตกรรม “ยางล้อรถกันยุง” ซึ่งเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น ในการป้องกันยุงลายเข้าไปวางไข่ตามโอ่งน้ำและภาชนะใส่น้ำขนาดใหญ่ต่างๆ สามารถตัดวงจรการแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออกที่มียุงลายเป็นพาหะ โดยพบว่ายุงลายตัวเมีย 1 ตัวสามารถไข่ได้ 4-6 ครั้ง ครั้งละ 50-150 ฟอง ตกแล้วมีลูกได้ถึง 500 ตัว
นพ.พรเทพ กล่าวอีกว่า นวัตกรรมนี้สามารถทำแบบง่ายๆ ดังนี้ 1.ยางนอกรถจักรยานยนต์ที่มีขนาดครอบปากโอ่งน้ำได้ 2.ผ้ามุ้ง ผ้าขาวบาง หรือผ้ารี่ เส้นผ่าศูนย์กลางใหญ่กว่าวงล้อยางรถ และ 3.เรียวไม้ไผ่ หรือไม้ไผ่เหลาให้อ่อนพอโค้งงอได้ ส่วนการประกอบให้นำล้อรถวางในแนวราบ แล้วปูผ้ามุ้ง หรือผ้าขาวบางทับวงล้อ จากนั้นโค้งเรียวไม้ไผ่จนดันชายผ้ามุ้งเข้าไปในวงล้อให้ไม้เรียวแทนที่ยางในรถ นับเป็นการเปลี่ยนวัสดุที่เคยเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย ให้เป็นวัสดุในการป้องกันการเพาะพันธุ์ และนำของที่ไม่ใช้แล้วให้กลับมามีคุณค่าหรือนำกลับมาใช้ใหม่ สามารถเติมน้ำหรือรองน้ำฝนตามชายคาบ้าน หรือรองน้ำประปา โดยไม่ต้องเปิดฝา ช่วยกรองผง หรือป้องกันแมลง จิ้งจกหรือหนูตกลงไป ที่สำคัญทำง่าย หาง่าย และประหยัด
ด้าน นพ.ศักดิ์ชัย ไชยมหาพฤกษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 จังหวัดพิษณุโลก กล่าวว่า สถานการณ์โรคไข้เลือดออกในพื้นที่เครือข่ายบริการที่ 2 ข้อมูลตั้งแต่ 1 ม.ค.-27 มี.ค. 2556 พบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก จำนวน 622 ราย พบที่พิษณุโลก 196 ราย เพชรบูรณ์ 155 ราย ตาก 106 ราย อุตรดิตถ์ 105 ราย และสุโขทัย 60 ราย แต่ทุกจังหวัดไม่มีผู้ป่วยเสียชีวิต ซึ่งการป้องกันควบคุมโรคไข้เลือดออกไม่ให้ระบาดนั้น ต้องอาศัยความร่วมมือของหน่วยงานต่างๆ และประชาชน เร่งกำจัดลูกน้ำยุงลายอย่างสม่ำเสมอทุกสัปดาห์ ทั้งในบ้านและพื้นที่สาธารณะ รวมถึงประชาสัมพันธ์ส่งเสริมให้ประชาชนป้องกันตนเองไม่ให้ยุงลายกัด