xs
xsm
sm
md
lg

วอนสถานศึกษาเร่งกำจัดแหล่งเพาะลูกน้ำยุงลายหวังลดการระบาด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กรมควบคุมโรค ขอความร่วมมือโรงเรียนทั่วประเทศทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายในสถานศึกษาก่อนปิดเทอมและเปิดเทอม หวังลดการระบาด

วันนี้ (21 มี.ค.) นายพสิษฐ์ ศักดาณรงค์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ในปีนี้คาดว่าโรคไข้เลือดออกจะมีสถานการณ์การระบาดที่รุนแรง มีผู้ป่วยประมาณ 120,000-150,000 ราย มีผู้เสียชีวิตกว่า 100 ราย และต้องสูญเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาสูงถึง 2 พันล้านบาท โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่อยู่ในวัยเรียนและวัยแรงงาน ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบที่ สธ.เสนอให้ทุกกระทรวงมีส่วนร่วมในการจกำจัดลูกน้ำยุงลายแล้ว สำหรับกระทรวงศึกษาธิการนั้นเห็นว่า ช่วงฤดูร้อนเป็นช่วงโรงเรียนปิดเทอมจึงขาดการดูแลสิ่งแวดล้อม ทำให้เมื่อเปิดเทอมจะมียุงมากกว่าปกติ ซึ่งตรงกับฤดูกาลระบาดของโรคไข้เลือดออก หากควบคุมโรคไม่ดีพอ ดังนั้น ศธ.ควรป้องกันควบคุมไข้เลือดออกแต่เนิ่นๆ ตั้งแต่ก่อนปิดเทอมในเดือนมีนาคมต้องรณรงค์กำจัดลูกน้ำยุงลายในสถานศึกษา และรณรงค์กำจัดลูกน้ำยุงลายก่อนวันเปิดเทอมอีกครั้ง
ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต
นายพสิษฐ์ กล่าวอีกว่า ทั้งนี้จะขอความร่วมมือให้ ศธ.แจ้งให้ทุกโรงเรียนดำเนินการรณรงค์กำจัดลูกน้ำยุงลายในสถานศึกษาพร้อมกันหรือตามความเหมาะสมในเดือนมีนาคม พฤษภาคม และ 15 มิถุนายน ซึ่งวันที่ 15 มิถุนายนนี้ เป็นวันรณรงค์ต่อต้านโรคไข้เลือดออกพร้อมกันทั่วภูมิภาคอาเซียน เรียกว่าวันไข้เลือดออกอาเซียน (ASEAN DENGUE DAY) ซึ่งภูมิภาคนี้เป็นภูมิภาคที่มีโรคไข้เลือดออกสูงเนื่องจากภูมิประเทศและภูมิอากาศร้อนชื้นเอื้ออำนวยต่อการเพาะพันธุ์ยุง นอกจากการรณรงค์กำจัดลูกน้ำยุงลายในสถานศึกษาแล้ว สธ.จะขอให้สอดแทรกความรู้เรื่องไข้เลือดออกและลงมือปฏิบัติเป็นประจำทุกสัปดาห์ เช่น การกำจัดลูกน้ำยุงลายที่จะเกิดตาม แจกัน ที่รองกระถาง ที่เก็บกักน้ำในห้องน้ำ เป็นต้น รวมถึงสอนนักเรียนให้ผลิตอุปกรณ์กำจัดลูกน้ำ เช่น การทำกับดักยุงอย่างง่ายและทำยากันยุง ได้แก่ น้ำมันตระไคร้หอม เพื่อนำไปใช้ที่บ้านและที่โรงเรียน และสอนให้รู้จักใช้ผลิตภัณฑ์พื้นบ้านที่เหมาะสมในการกำจัดลูกน้ำยุงลาย เช่น ปลาหางนกยูง ปูนแดง ข่า น้ำมันขี้โล้ น้ำส้มสายชู กำมะถัน ผลมะกรูด และเกลือแกง
กำลังโหลดความคิดเห็น