เผย 10 จังหวัดดื่มน้ำเมาสูงสุด “พะเยา” ครองแชมป์ ส่วน 3 จังหวัดชายแดนใต้ดื่มน้อย ขณะที่ผลสำรวจพบคนไทยก๊งเหล้า 18 กลม เบียร์ 61 ขวดใหญ่ และไวน์ 1 ขวดต่อปีต่อคน ใช้เวลาแค่ 4.5 นาทีเข้าถึงร้านเหล้า
วันนี้ (26 มี.ค.) ที่โรงแรม เดอะ สุโกศล นพ.ทักษพล ธรรมรังสี ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.) กล่าวแถลงเปิดตัวรายงานสถานการณ์การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และผลกระทบในประเทศไทย พ.ศ. 2556 และรายงานสถานการณ์การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ระดับจังหวัด พ.ศ. 2554 ซึ่งจัดโดย ศวส.และสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ว่า สถานการณ์การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของไทยปัจจุบันปี 2554 คนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป โดยเฉลี่ยมีการดื่มแอลกอฮอล์คิดเป็น 7.1 ลิตรของแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ต่อคนต่อปี หรือเท่ากับการดื่มสุรากลั่นประมาณ 18 กลม เบียร์ 61 ขวดใหญ่ และ ไวน์ 1 ขวดรวมกัน โดยพบว่าในช่วง 10 ปี อัตราการดื่มเบียร์เพิ่มเป็น 2 เท่า และไวน์เพิ่มเป็น 4 เท่า ส่วนการนำเข้าสุราสี 3 ใน 4 มาจากยุโรป เมื่อดูอัตราการเข้าถึงพบว่า ร้านค้าที่มีใบอนุญาตเพิ่มขึ้น 1.2 แสนร้าน จากเดิมที่มีประมาณ 6 แสนกว่าร้าน ผู้บริโภคส่วนใหญ่จะซื้อจากร้านขายของชำ และคนไทยใช้เวลาเพียง 4.5 นาที ก็สามารถหาร้านที่มีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ขายได้ แสดงให้เห็นว่าคนไทยสามารถเข้าถึงเครื่องดื่มอย่างง่าย
นพ.ทักษพล กล่าวอีกว่า หากพิจารณาสัดส่วนประชากรที่ดื่มแอลกอฮอล์พบว่า เพศชาย โดยเฉพาะในผู้ใหญ่ และวัยสูงอายุ มีอัตราการดื่มลดลง และสามารถคิดได้ว่าประชากรที่เคยดื่มสุราและเลิกดื่มได้ถึง 2.6 ล้านคนในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นผลจากมาตรการต่างๆ และการรณรงค์ แต่ขณะเดียวกันพบว่า ประชาชนหญิงและกลุ่มวัยรุ่นมีอัตราการดื่มเพิ่มขึ้น เฉลี่ยร้อยละ 1 ต่อปี และยังพบว่าและกลุ่มครัวเรือนที่มีรายต่ำที่สุด มีค่าใช้จ่ายเพื่อซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพิ่มมากขึ้นที่สุด ในขณะที่ครัวเรือนที่รายได้ดีกว่ามีทิศทางจะจ่ายในสัดส่วนที่ลดลง เมื่อสำรวจผลกระทบทางสังคมยังพบว่า ประชาชนพบเห็นปัญหาจากดื่มเป็นเรื่องปกติ โดย 3 ใน 4 เคยเห็นการทะเลาะกันจากการดื่มในปีที่ผ่านมา และประมาณ 1 ใน 3 เคยพบเห็นการทำร้ายร่างกายในครอบครัวจากการดื่ม
“อัตราการดื่มที่เพิ่มขึ้นส่วนหนึ่งเป็นผลจากการทำการตลาดอย่างหนักของอุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่เปลี่ยนจากสื่อหลักโดยโฆษณาทางทีวี วิทยุ ไปสู่สื่อในพื้นที่ โฆษณาผ่านสื่อออนไลน์และเครือข่ายสังคม และการโฆษณา ณ จุดขาย และแม้ว่าจำนวนการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนจะลดลง แต่ระดับความรุนแรงของคดีอุบัติเหตุมีเพิ่มขึ้นเมื่อดูจากการเสียชีวิตและการบาดเจ็บสาหัส ในปี 54 ยังพบว่า สุราเป็นสาเหตุการตาย 1 ใน 3 ของคดีอุบัติเหตุ โดยช่วงเทศกาลจะเพิ่มเป็นอันดับ 1 โดยพบว่า 3 ใน 5 หรือ ร้อยละ 70 ของอุบัติเหตุที่เกิดในช่วงเทศกาล มีปริมาณแอลกอฮอล์ในกระแสเลือดมากกว่าที่กฎหมายกำหนด” นพ.ทักษพล กล่าว
นายสุรศักดิ์ ไชยสงค์ รอง ผอ.ศวส.กล่าวว่า จากรายงานสถานการณ์การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รายจังหวัด พ.ศ. 2554 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ ซึ่งเก็บข้อมูลพฤติกรรมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พบว่า พื้นที่ที่มีอัตราการดื่มในระดับต่ำที่สุด คือ ภาคใต้และภาคกลาง โดยเฉพาะในเขตพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่วนพื้นที่ที่มีอัตราการดื่มสูงที่สุดอยู่ในภาคเหนือ และตะวันออกเฉียงเหนือ โดย 10 จังหวัดที่มีความชุกในการดื่มสูงที่สุด คือ พะเยา ปราจีนบุรี แพร่ พิษณุโลก เชียงใหม่ เชียงราย ร้อยเอ็ด สุโขทัย ลำปาง และแม่ฮ่องสอน ส่วนจังหวัดที่มีความชุกในการดื่มต่ำที่สุด คือ นราธิวาส สมุทรสงคราม ระนอง สงขลา ปัตตานี ภูเก็ต ยะลา สุพรรณบุรี กระบี่ และ หนองคาย การแก้ปัญหาที่ได้ผลคือ การจัดการกับปัญหาและลดความเสี่ยงต่อปัญหาแอลกอฮอล์ในระดับจังหวัด จึงควรมีนโยบายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่สามารถบังคับใช้กฎหมายในระดับพื้นที่อย่างจริงจังต่อไป