บอร์ด ก.ค.ศ.ถกปมทุจริตครูผู้ช่วยยาวถึง 5 ชม.ก่อนตัดสินโยนเผือกร้อนให้ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯ เชือดแทน อ้าง ไร้อำนาจสั่งแต่งตั้ง โยกย้ายคนในเขตพื้นที่ “เสริมศักดิ์” เผยเตรียมส่งข้อมูลหลักฐาน และคะแนนสอบของ 486 คนที่สูงผิดปกติใน 129 เขต 68 จ.ให้เขตพื้นที่ฯภายใน 3 วัน พร้อมขีดเส้นตายให้สอบเสร็จภายใน 15 วัน ลั่นไม่มีมวยล้มต้มคนดู รอ 18 วันรู้ผลแน่
วันนี้ (22 มี.ค.) นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยภายหลังร่วมประชุมคณะกรรมการการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ที่มีนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รมว.ศึกษาธิการ เป็นประธานซึ่งใช้เวลาประชุมนานเกือบ 5 ชั่วโมงเพื่อพิจารณาเรื่องทุจริตสอบครูผู้ช่วย ว่า ที่ประชุมได้หารือกันถึงเรื่องการยกเลิกผลสอบในเขตพื้นที่การศึกษาที่พบการทุจริตสอบชัดเจน หรือยกเลิกผลสอบเป็นรายบุคคลในกรณีที่พบหลักฐานยืนยันการทุจริตชัดเจนแล้วซึ่งได้ข้อสรุปว่า อำนาจในการบริหารบุคคลในพื้นที่ทั้งอำนาจแต่งตั้ง โยกย้าย ถอดถอน เป็นอำนาจโดยตรงตามกฎหมายของคณะอนุกรรมการ ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษา ซึ่งบอร์ด ก.ค.ศ.มีอำนาจแค่กำกับดูแลการดำเนินการของ อ.ก.ค.ศ.เท่านั้น ไม่มีอำนาจสั่งการโดยตรงว่าให้ยกเลิกการบรรจุผู้ผ่านการคัดเลือกแม้จะพบหลักฐานทุจริตชัดเจน เพราะฉะนั้น บอร์ด ก.ค.ศ.จึงมีมติให้ส่งคะแนนของผู้ผ่านการคัดเลือกที่สูงผิดปกติจำนวน 486 คน พร้อมข้อมูลและหลักฐานต่างๆ ไปยังเขตพื้นที่การศึกษาต้นสังกัด ซึ่งครอบคลุมทั้งหมด 129 เขตพื้นที่ฯ ใน 68 จังหวัด
“ข้อมูลสำคัญที่จะส่งให้ คือ คะแนนของผู้เข้าสอบซึ่งอยู่ที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) รวมถึงข้อมูลและหลักฐานต่างๆ ที่กรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงในส่วนกลางตั้งขึ้นไปตรวจสอบและรวบรวมมาได้ โดยกำหนดให้ส่งข้อมูลไปยังเขตพื้นที่ฯ ภายใน 3 วัน จากนั้นให้ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯ ไปดำเนินการสอบสวนให้เกิดความชัดเจนและได้ข้อสรุปภายใน 15 วัน รวม 18 วัน ซึ่งถ้าพบว่าผู้ผ่านการคัดเลือกรายใดทุจริตสอบ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯ ต้องออกคำสั่งให้ออกจากราชการ ซึ่งสามารถดำเนินการได้ตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา มาตรา 30 (3) ว่า ผู้ได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการครูจะต้องไม่เป็นผู้ทุจริตในการสอบ และมาตรา 49 ว่า ถ้าบรรจุเป็นข้าราชการครูแล้วภายหลังพบว่าขาดคุณสมบัติก็สามารถให้ยกเลิกการสอบได้” รมช.ศึกษาธิการ กล่าวและว่า แม้ว่าการสอบสวนจะเป็นดุลพินิจของ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯ แต่ถ้าบอร์ด ก.ค.ศ.เห็นว่าผลสอบของ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯ ขัดแย้งกับข้อมูลก็สามารถสั่งให้ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯ กลับไปตรวจสอบใหม่ได้
นายเสริมศักดิ์ กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม ในส่วนของเขตพื้นที่ฯ 4 เขตที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ ชี้ว่าพบการทุจริตชัดเจนรวมทั้ง สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) นครปฐม เขต 2 ที่พบหลักฐานการทุจริตสอบชัดเจนเช่นกันนั้น ก็ให้ดำเนินการตามแนวทางข้างต้นเช่นเดียวกัน เพราะตามกฎหมายบอร์ด ก.ค.ศ.ไม่มีอำนาจสั่งการโดยตรงให้ยกเลิกการบรรจุข้าราชการครูในพื้นที่ ต้องเป็นอำนาจของ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯ ทั้งนี้ ตนยืนยันว่า เรื่องนี้ไม่มีมวยล้มต้มคนดูแน่นอนซึ่งเมื่อครบกำหนด 18 วันนับจากวันนี้แล้วจะมีความชัดเจนอย่างแน่นอน รู้ว่าใครบ้างที่จะถูกยกเลิกการบรรจุเพราะทุจริตสอบ
ด้านนางพนิตา กำภู ณ อยุธยา ปลัด ศธ.กล่าวว่า สำหรับการสอบคัดเลือกบุคคลเข้ารับราชการในตำแหน่งครูผู้ช่วย ซึ่งกำหนดจัดสอบในเดือนช่วงเดือนเม.ย.นั้น จะยังคงกำหนดสอบช่วงเดิม แต่บอร์ด ก.ค.ศ.ได้มีมติปรับเปลี่ยนวิธีการคือจัดกลุ่มจังหวัดการสอบใหม่ยึดตามเขตพื้นที่ตรวจราชการของ ศธ.โดยมีผู้ตรวจราชการ ศธ.ที่รับผิดชอบกลุ่มจังหวัดนั้นเป็นประธานคณะกรรมการจัดสอบ ส่วนข้อสอบนั้นก็ให้เขตพื้นที่ฯ ตามกลุ่มจังหวัดเป็นผู้ดำเนินการโดยไปประสานให้มหาวิทยาลัยในพื้นที่เป็นผู้ออกข้อสอบ
ด้านนางรัตนา ศรีเหรัญ เลขาธิการ ก.ค.ศ.กล่าวว่า ข้อกังวลว่า อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯ จะช่วยเหลือผู้ทุจริตและอาจมีการสรุปผลสอบ สวนทางกับผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงของส่วนกลางจริงนั้น ถ้ามีการตรวจสอบพบว่า เป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้อง ก.ค.ศ.มีอำนาจในการถอดถอน อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯ ทั้งคณะ โดยเฉพาะบุคคลที่เป็นผู้แทนข้าราชการครูจะต้องได้รับโทษทางวินัยด้วย
นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นอำนาจของ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯ ที่จะต้องชี้ขาด โดย สพฐ.จะส่งเรื่องไปให้เขตพื้นที่รีบดำเนินการกลับมาโดยเร็ว แต่ไม่ใช่ว่าเมื่อส่งเรื่องไปให้แล้ว อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯจะตัดสินอย่างไรก็ได้ เพราะเราก็ยังต้องตรวจติดตามอยู่ เนื่องจากข้อมูลที่จะส่งไปโดยเฉพาะคะแนนก็มีจุดบ่งชี้ที่ชัดเจน คือ คะแนนสูงผิดสังเกต ซึ่งที่ผ่านมาเขตพื้นที่ไม่เคยเห็นคะแนนมาก่อน ดังนั้น ถ้าเขตพื้นที่ฯได้เห็นคะแนนทั้งหมดก็จะรู้ทันทีว่าคนที่สอบได้คนไหนที่น่าสงสัย