xs
xsm
sm
md
lg

ม็อบอุเทน 4 พันคน เคลื่อนขบวนแล้ว!!! ลั่นขอ “อยู่ที่เดิม”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“สืบพงษ์” ย้ำ ม็อบอุเทน ชุมนุมอย่างสงบ ลั่นหากเกิดเหตุวุ่นวายไม่ใช่ นศ.อุเทศ ชัวร์ เพราะคุยกันแล้ว ระบุชุมนุมวันนี้เพื่อแสดงจุดยืน “อยู่ที่เดิม” ย้ำอยู่นานมีความผูกพัน จะขอเช่าจากจุฬาฯ ด้าน จุฬาฯ เล็งหาคนกลางไกล่เกลี่ย

นายสืบพงษ์ ม่วงชู รองอธิการมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวาย กล่าวว่า การรวมตัวของศิษย์เก่าอุเทนถวายวันนี้ ตนได้พูดคุยกับเหล่าศิษย์เก่าและนักศึกษาอุเทน แล้วว่าให้มีเป็นการชุมนุมอย่างสงบ และเป็นไปเพื่อแสดงจุดยืนที่จะขออยู่ที่ต่อที่เดิม เพราะอยู่กันมานานจนเป็นความผูกพัน ซึ่งทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีที่ดินมากมายเป็น 100 ไร่ กับพื้นที่ของอุเทนแค่ 21 ไร่ เพื่อให้อุเทนได้จัดการเรียนการสอนก็ไม่น่าจะมีปัญหา ซึ่งทางอุเทนถวายจะขอเช่าพื้นที่ต่อจากจุฬาฯ อย่างไรก็ตามในส่วนของการชุมนุนแสดงจุดยืนของศิษย์เก่งอุเทนถวายวันนี้จะไม่ยืดเยื้อ และไม่มีความวุ่นวายอย่างแน่นอน หากเกิดความวุ่นวายไม่น่าจะใช่นักศึกษาอุเทนอย่าแน่นอน เพราะได้มีการพูดคุยกันแล้ว ให้มีการชุมนุมอยู่ในความสงบ

เมื่อเวลา 8.00 น.วันนี้ (15 มี.ค.) ที่บริเวณมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวาย กลุ่มศิษย์เก่า และศิษย์ปัจจุบัน ได้ทยอยรวมตัวภายในอุเทนถวาย โดยได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจนครบาลกองบังคับการอารักขาและควบคุมฝูงชน หรือกองร้อยน้ำหวาน ประมาณ 30 คน ตั้งจุดตรวจค้นอาวุธ และตรวจคนเข้าออก โดยมีเครื่องสแกนตรวจจับอาวุธอย่างเข้มงวดตั้งอยู่บริเวณทางเข้าซึ่งพบว่า มีผู้ร่วมชุมนุมบางส่วนพกอาวุธมีดเข้ามา แต่เจ้าหน้าที่ได้ยึดไว้

นอกจากนั้น ประมาณ 10.00 น.มีมอเตอร์ไซค์ พยายามขับขี่เข้าไปภายในอุเทนถวาย แต่เมื่อพบว่ามีเจ้าหน้าที่ตำรวจคอยตรวจค้นอยู่ ก็ได้ขับรถหนีไปด้วยความรวดเร็ว

เมื่อเวลา 11.00 น.ที่กระทรวงศึกษาธิการ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ได้มีศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบันของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวาย กว่า 100 คน เดินทางมายังกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) โดยขึ้นรถประจำทาง เพื่อยื่นหนังสือเกี่ยวกับกรณีทวงคืนกรรมสิทธิ์ที่ดิน และขอให้ทบทวนวัตถุประสงค์ของการก่อสร้างอุเทนถวาย ที่เป็นพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว สร้างอุทิศถวายให้กับสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพ็ชรบูรณ์อินทราชัย ซึ่งเป็นพระอนุชา โดยมีนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รมว.ศึกษาธิการ ออกมารับหนังสือร้องเรียนด้วยตัวเอง

นายพงศ์เทพ กล่าวว่า ประเด็นที่นักศึกษาอุเทนถวายมายื่นหนังสือถึงตนนั้นเป็นประเด็นที่ตรงกับผู้บริหารของอุเทนถวายได้เคยมาหารือกับตนแล้ว เพราะก่อนหน้านี้ตนได้เชิญผู้บริหารจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมลคลตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวาย มาหารือร่วมกันแล้ว ซึ่งจุฬาฯได้มีการหยิบยกบางประเด็นที่อุเทนถวายไม่เห็นด้วยขึ้นมาพูดคุยกัน ซึ่งตนก็ได้ขอให้ผู้บริหารฝั่งอุเทนถวายนำข้อมูลหลักฐานต่างๆ มาสนับสนุนข้อกล่าวอ้างของตนเอง เพราะมีข้อมูบางเรื่องที่อุเทนถวายจะต้องไปติดต่อกับหน่วยงานอื่นด้วย ซึ่งเรื่องนี้ต้องใช้เวลา ทั้งนี้ข้อสรุปสุดท้ายเรื่องดังกล่าวจะเป็นอย่างไรนั้นขอพิจารณาในข้อกฎหมายต่างๆก่อนไม่ว่าจะเป็นการได้ที่ดินมาของอุเทนถวาย หรือกลไลบางอย่างที่อุเทนถวาย บอกว่ายังค้างคาอยู่และยังไม่ได้รับการวินิจฉัย ส่วนกรณีที่คณะกรรมการเพื่อพิจารณาชี้ขาดการยุติในการดำเนินคดีแพ่งของส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง (กยพ.) ได้วินิจฉัยชี้ขาดแล้วว่าให้อุเทนถวายย้ายออกจากที่ดินแปลงดังกล่าว อีกทั้งคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก็รับทราบและมีมติเมื่อปี 2553 มอบหมายให้ ศธ.ให้ดำเนินการประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมธนารักษ์ สำนักงบประมาณ เพื่อจัดหาสถานที่ใหม่นั้น เรื่องนี้ทางอุเทนถวายอ้างกับตนว่า ทราบกระบวนการนี้แต่ไม่ได้เข้าร่วม ดังนั้นตนจึงขอหลักฐานจากอุเทนถวายในประเด็นดังกล่าวว่าไม่ได้เข้าร่วมจริงหรือไม่

ต่อมาเวลา 11.30 น. นักศึกษาอุเทนฯ ได้ชี้แจงเส้นทางการเดินขบวนให้ จนท.รับทราบเพื่อขอให้อำนวยความสะดวกโดยยืนยันว่าจะไม่สร้างความเดือดร้อนต่อประชาชน และจะใช้พื้นที่เกาะกลางหน้าทรัพย์สินจุฬาลงกรณ์ ขณะเดียวกันจะยื่นหนังสือเปิดผนึกกับทางจุฬาฯ โดยขอให้ทางจนท.ประสานกับทางจุฬาฯ ส่งผู้แทนมารับด้วย

กทม.สั่งเขตปทุมวันเร่งหาพื้นที่สร้างสำนักงาน

นางนินนาท ชลิตานนท์ ปลัดกรุงเทพมหานคร เปิดเผยถึงกรณีที่สำนักงานจัดการทรัพย์สินจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะขอคืนที่ดินหน่วยงานราชการในสังกัดกรุงเทพมหานครรวม 4 แห่ง ประกอบด้วย สำนักงานเขตปทุมวัน ศูนย์บริการสาธารณสุข สถานีดับเพลิง และโรงเรียนปทุมวัน ว่าเดิมมีการหารือกันกับจุฬาฯ กรุงเทพมหานครไม่ได้มีปัญหาอะไร ยินดีจะให้ที่คืนทั้งหมด แต่เขตได้แจ้งมาว่ากลุ่มผู้ปกครองของนักเรียนไม่ยอม จึงขอให้กรุงเทพมหานครช่วยเจรจากับเจ้าของที่ ซึ่งจุฬาฯ ไม่ได้ขัดข้อง แต่เมื่อจุฬาฯ พัฒนาพื้นที่เสร็จจะมอบพื้นที่ให้ กรุงเทพมหานคร 2.5 ไร่ ซึ่งยังไม่ทราบว่าจะอยู่ในจุดใดให้กรุงเทพมหานคร รวมศูนย์ทั้ง 4 เข้าอยู่ด้วยกัน ส่วนตัวมีความเห็นว่าจะหนาแน่นเกินไป จึงให้เขตปทุมวันไปสำรวจหาพื้นที่สร้างอาคารชั่วคราว เบื้องต้นพื้นที่ที่จะใช้คือ พื้นที่ใกล้กับสวนลุมพินี แต่จะต้องมาศึกษารายละเอียดงบประมาณค่าเช่า และการก่อสร้างอีกครั้งก่อนตัดสินใจ และในส่วนของโรงเรียนปทุมวันในอนาคตจะค่อยๆ แก้ไขปัญหาได้ ส่วนใหญ่ที่ผู้ปกครองไม่ยอมเนื่องจากเป็นคนที่อาศัยแถวนั้น แต่ในเร็ววันนี้ที่จุฬาฯ จะขอคืนพื้นที่กลุ่มคนเหล่านี้ต้องย้ายไปที่อื่นก็อาจจะต้องส่งลูกไปเรียนที่อื่น ซึ่งกรุงเทพมหานครเตรียมสถานศึกษาในสังกัดไว้รองรับหากเกิดการเปลี่ยนแปลง

อย่างไรก็ตาม ในส่วนพื้นที่ 2.5 ไร่ ที่จุฬาฯ ให้มาเพื่อสร้างเป็นศูนย์ราชการ ได้สั่งการให้สำนัการโยธาลองออกแบบ โดยแบ่งเป็น 2 แนวทางคือ 1.รวม 4 หน่วยงานไว้ในที่เดียวกัน และ 2.รวมเพียง 3 หน่วยงานคือ สถานีดับเพลิง ศูนย์บริการสาธารณสุข และโรงเรียน ส่วนเขตให้ไปหาอาคารเช่า หรือสร้างสถานที่ใหม่ทดแทน เพื่อพิจารณาความเป็นไปได้ว่าสามารถทำได้มากน้อยเพียงใด เพื่อมาให้ผู้บริหารพิจารณาอีกครั้ง

ม็อบอุเทน 4 พันเคลื่อนขบวน

เมื่อเวลา 11.00 น.ที่อาคาร 7 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออกวิทยาเขตอุเทนถวาย ตัวแทนนักศึกษากลุ่มคณะพิทักษ์เพื่อการศึกษาอุเทนถวาย (คปส.) ร่วมชี้แจงและกำหนดการเดินขบวนเพื่อเรียกร้องการทวงคืนที่ดินอุเทนฯ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจและสื่อมวลชน โดยระบุว่า ในเวลา 12.00 น.จะนัดรวมตัวนักศึกษาภายในอุเทน และเมื่อถึงเวลา 12.30 น.จะเคลื่อนขบวนไปยังสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาฯ ผ่านเส้นทางถนนปทุมวัน โดยจะใช้พื้นที่บริเวณเกาะกลางและปิดถนน 1 เลนเท่านั้น เพื่อไม่ให้เกิดความวุ่นวาย กิจกรรมการแสดงละคร และขอความร่วมมือเจ้าหน้าที่ตำรวจประสานผู้บริหารจุฬาฯ เพื่อยื่นหนังสือเปิดผนึกชี้แจงข้อเรียกร้องของกลุ่มนักศึกษาอุเทนฯ ทั้งนี้ตนยืนยันว่าจะควบคุมความเรียบร้อยในการชุมนุม เพื่ือไม่ให้สร้างความเดือดร้อนแก่ผู้อื่น ทั้งนี้ตนคาดการณ์ผู้เข้าร่วมชุมนุมครั้งนี้ประมาณ 3,000-4,000 คน และจะสลายการชุมนุมภายใน 17.00 น.

“ผมก็ไม่อยากได้ยินเสียงสาปแช่งจากประชาชนดังนั้นจะคอยดูแลไม่ให้เกิดความเดือดร้อนแก่ชาวบ้านละแวกนี้ พร้อมกันนี้ คปส.ได้จัดหน่วยสวัสดิภาพรักษาความปลอดภัย จำนวน 100 คน ถ่ายวิดีโอป้องกันมือที่สาม และกำชับนักศึกษาว่าไม่ต้องการให้เกิดความรุนแรง" ตัวแทน คปส.กล่าว

ด้าน พ.ต.อ.พรชัย ไทยแท้ กองบังคับการตำรวจนครบาล 6 กล่าวว่า ตนขอบคุณนักศึกษาอุเทนฯ ที่กำหนดเส้นทางและให้คำสัญญาว่าจะไม่ทำให้ชาวบ้านเดือดร้อน ซึ่งตรงกับจุดมุ่งหมายเดียวกับตำรวจ อย่างไรก็ตามตนได้ขอความร่วมมือนักศึกษาให้ลดเวลาการชุมนุมลง โดยอยากให้เสร็จสิ้นทั้งหมดก่อนเวลา 16.00 น.เพื่อป้องกันปัญหาจราจร ซึ่งทางนักศึกษาได้รับปากจะไปหารือกันอีกครั้ง

จุฬาฯ ออน ศธ.ไกล่เกลี่ยปัญหา

จากนั้น 12.00 น.ที่อาคารจามจุรี 3 มหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศ.นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล อธิการบดีจุฬาฯ พร้อมด้วยคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัย เปิดแถลงข่าวว่า ทางมหาวิทยาลัยมีความกังวลใจ และมีความห่วงใยในสวัสดิภาพของนิสิต 40,000 คน และบุคลากรของมหาวิทยาลัย ประมาณ 8,000 คน แต่จุฬาฯจะไม่ปิดทำการจนกว่าจะได้รับการยืนยันถึงสถานการณ์จากเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพราะต้องให้บริการประชาชน และจะไม่หยุดเพราะจะกระทบต่อคนส่วนใหญ่ ซึ่งทางจุฬาฯ ไม่สามารถทำได้ ขณะเดียวกันเชื่อว่าแนวทางในการแก้ปัญหาเรื่องดังกล่าว ต้องมีการเจรจาทั้ง 3 ฝ่ายทั้งกระทรวงศึกษาการ (ศธ.) จุฬาฯ และอุเทนถวาย โดยเชื่อว่าหากอุเทนถวายมีที่มีทางที่ดีกว่าเดิม และใกล้กับภาคอุตสาหกรรม ทางอุเทนถวายยินดีขยับขยายและถ้าทางศธ.เข้ามาช่วยดำเนินการในส่วนนี้ก็จะมีความง่ายขึ้น

อย่างไรก็ตาม เมื่อช่วงเช้า นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้โทรศัพท์เข้ามาแสดงความห่วงใยโดยคิดว่าทางแก้ปัญหาในเรื่องนี้ คือการเจรจาเท่านั้น ส่วนข้อเสนอของทางอุเทนถวายว่าจะเช่าที่ เพื่อให้อุเทนถวายได้อยู่ที่เดิม คงต้องมีการเจรจากัน

“จุฬาฯ ยืนยัน และเคยบอกตลอดเวลาว่า ไม่ได้ให้อุเทนถวายย้ายออกทันที เรามองอุเทนถวายด้วยความเห็นใจ ขณะเดียวกัน คณะรัฐมนตรีเคยมีมติไปแล้วว่าจะหาสถานที่ที่เหมาะสมให้กับอุเทนถวาย ซึ่งเชื่อว่าในอนาคตอันใกล้ รมว.ศธ.คงจะเชิญทั้ง 3 ฝ่ายจะมาพูดคุยกันเป็นทางการ” ศ.นพ.ภิรมย์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่าหากต่างฝ่ายต่างเห็นว่าตนเองมีกรรมสิทธิ์ในการถือครองที่ดิน ใครจะเป็นผู้ชี้ขาด ศ.นพ.ภิรมย์ กล่าวว่าเรื่องประวัติศาสตร์เป็นเรื่องละเอียดอ่อน และใครก็มีสิทธิที่จะใช้ข้อความตอนหนึ่งตอนใดมาเป็นประวัติศาสตร์ได้ ทั้งนี้ การ พิจารณาของคณะกรรมการพิจารณาชี้ขาดการยุติการดำเนินคดีแพ่งของส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หรือ กยพ.ก็ได้ใช้เวลาในการพิจารณาเรื่องดังกล่าว เป็นเวลา 2 ปี ซึ่งเป็นเวลาพอสมควร น่าจะเป็นการพิจารณาอย่างรอบด้านแล้ว และเท่ากับว่ามีคนกลางเข้ามาร่วมตรวจสอบในเรื่องดังกล่าวแล้ว




กำลังโหลดความคิดเห็น