เชียงราย - สำนักงานบริหารพื้นที่อนุรักษ์ระดมเสือไฟเชียงราย-พะเยาฝึกสมรรถภาพ เตรียมพร้อมรับมือปัญหาไฟป่า-หมอกควัน หลังปี 54 มีผืนป่าถูกไฟเผาวอดกว่าพันไร่
วันนี้ (17 ม.ค.) นายนิพนธ์ จำนงสิริศักดิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 15 เป็นประธานการฝึกสมรรถภาพและเตรียมความพร้อมเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานควบคุมไฟป่า ของสถานีควบคุมไฟป่าในสังกัด รองรับฤดูแล้งที่มักจะเกิดไฟป่า และหมอกควันมากเป็นประจำทุกปี โดยมีเจ้าหน้าที่จากสถานีควบคุมไฟป่าทั้งใน จ.พะเยา และ จ.เชียงราย 6 แห่ง แห่งละ 10 นายเข้าร่วมการฝึก
นายนิพนธ์กล่าวว่า เนื่องจากเดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายนของทุกปีมักจะเกิดไฟป่าในหลายพื้นที่ สร้างความเสียหายต่อทรัพยากรธรรมชาติ เศรษฐกิจ และก่อให้เกิดปัญหาหมอกควัน โดยเฉพาะช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมาจุดที่เกิดปัญหามากหรือมีฮอตสปอตมากที่สุดคือ ต.วาวี อ.แม่สรวย ดังนั้นจึงได้จัดฝึกเจ้าหน้าที่เพื่อให้มีความสามารถปฏิบัติการได้ทันท่วงที
พร้อมกันนั้น ปีนี้จะบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด หากพบเห็นแล้วไม่เข้าไปป้องกันก็จะดำเนินคดีมาตรา 157
“ส่วนของการละเมิดเผาช่วงฤดูแล้งจนเกิดปัญหาขึ้นนั้น ส่วนใหญ่เกิดขึ้นกับป่าละเมาะใกล้บ้านจากการเผาไร่ และอื่นๆ มากกว่าเกิดขึ้นในผืนป่า ดังนั้นปีนี้คงจะมีการรณรงค์ประชาสัมพันธ์กันอย่างจริงจังมากขึ้น”
นายนิพนธ์กล่าวว่า พื้นที่ป่าอนุรักษ์ จ.เชียงราย และ จ.พะเยา ที่อยู่ในความรับผิดชอบของสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 15 มีเนื้อที่รวมกัน 1,062,500 ไร่ ปี 2555 เกิดไฟป่าในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 734 จุด ป่าสงวนแห่งชาติ 1,398 จุด พื้นที่เกษตรกรรม 674 จุด รวม 2,806 จุด มากกว่าปี 2554 ที่เกิดขึ้นเพียง 715 จุด โดยสถิติปี 2554 พบว่าเกิดขึ้นใน จ.เชียงราย 76.25 ไร่ จ.พะเยา 165 ไร่ รวม 241.25 ไร่ ปี 2555 ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2554 ถึงพฤษภาคม 2555 เกิดใน จ.เชียงราย 921 ไร่ และ จ.พะเยา 317 ไร่ รวม 1,238.5 ไร่ สำหรับปีนี้ทางสำนักงานบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 15 วางมาตรการเข้มตั้งแต่วันที่ 15 มกราคมถึง 15 เมษายน โดยจะมีเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังตลอดเวลา ดังนั้นหากจะเผาก็ควรเผาก่อนและหลังวันดังกล่าว
เจ้าหน้าที่ควบคุมไฟป่าระบุว่า ขณะนี้เจ้าหน้าที่ประสบปัญหาเรื่องการเผาพื้นที่ป่ารกร้างเพื่อทำไร่ของชาวบ้านบนพื้นที่สูง โดยเฉพาะช่วงเดือนมีนาคมถึงเมษายน เช่นเดียวกับชาวบ้านที่ทำนาก็จะเริ่มเผาตอและฟางข้าวเพื่อทำนาปรังหรือลดปัญหาการไถที่ยากลำบาก แม้หลายฝ่ายจะรณรงค์ให้นำวัชพืชมาทำปุ๋ยหมักหรือรณรงค์ไถแทนการเผา แต่ในทางปฏิบัติไม่สามารถทำได้ เนื่องจากการไถทำบนภูเขามีความเสี่ยง ต้นทุนสูงกว่าพื้นราบหลายเท่า ส่วนชาวบ้านพื้นที่ราบก็ไม่ยอมไถหลังเก็บเกี่ยวแล้วเสร็จใหม่ๆ และมาโหมเผาในเวลาเดียวกัน ซึ่งมีความกดอากาศสูง ทำให้อากาศไม่สามารถถ่ายเทได้จนเกิดปัญหาหมอกควันขึ้นพร้อมกัน