xs
xsm
sm
md
lg

คร.เปิดต้นแบบ “ตำบลบางขนุน” ชุมชนปลอดลูกน้ำยุงลาย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข นำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่ดูงานชุมชนต้นแบบปลอดลูกน้ำยุงลาย ตำบลบางขนุน อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี พร้อมตั้งเป้าสร้างชุมชนต้นแบบตำบลละ 1 หมู่บ้านทั่วประเทศ เพื่อขยายให้เต็มทุกพื้นที่ ซึ่งเป็นวิธีพิชิตโรคไข้เลือดออกที่ยั่งยืน โดยเน้นกิจกรรม 5 ป.ปราบยุงลาย (เปลี่ยน ปิด ปล่อย ปรับปรุง ปฏิบัติเป็นประจำ) และ 1 ข.ขัดไข่ยุงลาย

วันนี้ (11 มี.ค.) ที่อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี ดร.นายแพทย์พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวภายหลังการลงพื้นที่ดูงานการป้องกันโรคไข้เลือดออก ณ ตำบลบางขนุน ชุมชนต้นแบบปลอดลูกน้ำยุงลาย ว่า โรคไข้เลือดออก ถือว่าเป็นปัญหาสำคัญทางด้านสาธารณสุขและการแพทย์ โดยล่าสุดสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ได้ประเมินสถานการณ์ว่าในปีนี้จะรุนแรงกว่าปีที่แล้ว จากรายงานจำนวนผู้ป่วย (ตั้งแต่ 1 มกราคม- 5 มีนาคม 2556) รวม 11,565 ราย เฉลี่ยสัปดาห์ละ 1,000 กว่าราย และมีรายงานผู้เสียชีวิตแล้ว 14 ราย สำหรับปัจจัยที่สนับสนุนการระบาดของโรค คือ ฝนที่ตกเป็นช่วงๆ ในขณะนี้ ถือเป็นการเติมน้ำในภาชนะที่อาจมีไข่ยุงลายสะสมอยู่ตามขอบภาชนะจำนวนมาก ประกอบกับสภาพที่อาจจะมีภาวะภัยแล้ง ทำให้ประชาชนเกิดพฤติกรรมการกักเก็บน้ำในภาชนะก็ยิ่งทำให้มีแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายเพิ่มขึ้นอีกเช่นกัน
ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต
โดยนิสัยของยุงลาย เป็นยุงที่สะอาด ไข่ในน้ำนิ่งใส ไม่ไข่ในน้ำเน่าเสีย หรือท่อระบายน้ำ ซึ่งที่เหล่านั้นเป็นที่เพาะพันธุ์ของยุงรำคาญไม่นำโรคไข้เลือดออก ยุงลายไม่ได้ไข่ในน้ำโดยตรงแต่จะไข่เหนือระดับน้ำ 1-2 เซนติเมตร เมื่อมีน้ำมาเติมท่วมจึงจะแตกตัวเป็นไข่ เป็นลูกน้ำ และเป็นยุงลายตัวเต็มวัยต่อไป ใช้เวลาทั้งหมด 7-10 วัน ฉะนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องรณรงค์ให้กำจัดลูกน้ำทุกสัปดาห์เพื่อตัดวงจรการเกิดยุง ขณะนี้มีชุมชนตัวอย่างที่ทำกันอย่างจริงจัง จนสามารถปกป้องคนในหมู่บ้านตัวเองไม่ให้เป็นโรคไข้เลือดออกมานับ 10 ปีแล้ว มีการใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ทำให้ยุงไม่ไข่ในภาชนะใส่น้ำ โดยยุงลายจะไม่ไข่เหนือสภาพน้ำที่เป็นกรดหรือเป็นด่างมากจนเกินไป เช่น การใช้ผลมะกรูดบากผิวใส่ลงในภาชนะขังน้ำ 1 ลูกต่อพื้นที่น้ำ 40 ตารางนิ้ว เปลี่ยนทุก 2 วัน หรือใช้ปูนแดง ปั้นขนาดเท่าลูกปิงปอง ตากให้แห้ง 3 วัน 1 ก้อน ใส่ โอ่งมังกร 1 ใบ เปลี่ยนทุกเดือน หรือใช้เทคนิคการเปิดน้ำให้เต็มภาชนะจนไม่เหลือพื้นที่ขอบภาชนะให้ยุงลายวางไข่ เป็นต้น การจัดการสิ่งแวดล้อมด้วยวิธี 5 ป. 1 ข.อย่างจริงจังสม่ำเสมอจะสามารถทำให้ชุมชนนั้นๆ ปลอดลูกน้ำยุงลายและห่างไกลจากโรคไข้เลือดออกได้ถาวร

สำหรับ 5 ป.ปราบยุงลาย ได้แก่ ปิด ปิดภาชนะน้ำกินน้ำใช้ให้มิดชิดหลังการตักใช้น้ำทุกครั้ง เพื่อป้องกันยุงลายลงไปวางไข่ เปลี่ยน เปลี่ยนน้ำในแจกัน ถังเก็บน้ำ ทุก 7 วัน เพื่อตัดวงจรลูกน้ำที่จะกลายเป็นยุง ปล่อย ปล่อยปลากินลูกน้ำในภาชนะใส่น้ำถาวร เช่น อ่างบัว ถังซีเมนต์เก็บน้ำขนาดใหญ่ ปรับปรุงสิ่งแวดล้อมให้ปลอดโปร่ง โล่ง สะอาด ลมพัดผ่าน ไม่เป็นที่เกาะพักของยุงลาย และปฏิบัติเป็นประจำจนเป็นนิสัย

1 ข.ขัดไข่ยุงลาย เนื่องจากยุงลายจะไข่เหนือระดับน้ำ 1-2 เซนติเมตร นั้น เมื่อมีน้ำมาเติมจนท่วมหลังไข่ก็จะฟักตัวเป็นลูกน้ำ แต่หากไม่มีน้ำมาเติมจนท่วมถึงก็จะแห้งติดผนังภาชนะอย่างนั้นได้นานเป็นปี และเมื่อมีน้ำมาท่วมเมื่อใด ไข่ก็พร้อมจะแตกตัวเป็นลูกน้ำภายในได้ใน 30 นาที ซึ่งยุงตัวเมีย 1 ตัว ไข่ครั้งละ 50-150 ฟอง 4-6 ครั้งในช่วงชีวิตประมาณ 60 วันของยุง ฉะนั้นยุงตัวหนึ่งจะมีลูกได้ราว 500 ตัว จึงจำเป็นต้องมีการขัดไข่ยุงลายในภาชนะด้วย โดยใช้ใยขัดล้าง หรือแปรงชนิดนุ่มช่วยในการขัดล้าง และทิ้งน้ำที่ขัดล้างนั้นบนพื้นดินเพื่อให้ไข่แห้งตายไปไม่ควรทิ้งลงท่อระบายน้ำ ซึ่งอาจจะเป็นแหล่งน้ำใสนิ่งทำให้ไข่บางส่วนรอดและเจริญเป็นลูกน้ำและยุงลายได้อีก

อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมควบคุมโรคได้จัดทำคู่มือกำจัดไข้เลือดออก 5 ล้านฉบับ เพื่อแจกประชาชน และจากการรณรงค์ป้องกันโรคไข้เลือดออกอย่างต่อเนื่อง ทำให้ขณะนี้มีหมู่บ้านปลอดลูกน้ำยุงลาย 5,000 กว่าแห่งแล้ว พร้อมตั้งเป้าจะสร้างหมู่บ้านปลอดยุงลายให้ได้อย่างน้อยตำบลละ 1 หมู่บ้านทั่วประเทศ แต่สำหรับพื้นที่ที่สามารถทำให้ปลอดลูกน้ำยุงลายได้ทั้งตำบล ถือเป็นความสำเร็จที่น่าภาคภูมิใจและเป็นต้นแบบที่ดีของพื้นที่อื่นๆ หนึ่งในนั้นคือตำบลบางขนุน อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี ที่เรามาลงพื้นที่ดูกิจกรรมการดำเนินงานในครั้งนี้ ที่สำคัญไม่มีไข้เลือดออกมานานกว่า 3 ปีแล้ว เคล็ดลับของที่นี่คือ ไม่ต้องใช้นวัตกรรมอะไรใหม่ๆ แต่ร่วมมือร่วมใจกันอย่างจริงจังของทุกฝ่าย ได้แก่ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบางขนุน สาธารณสุขของ รพ.สต.บางขนุน เทศบาล โรงเรียน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ชมรมผู้สูงอายุ ชมรมแม่บ้าน ชมรมต่างๆ อสม.ร่วมดำเนินกิจกรรม 5 ป. 1 ข.กันอย่างจริงจัง และมอบหมายหน้าที่แต่ละฝ่ายกันอย่างชัดเจนด้วย

“ขอแนะนำประชาชน ว่า หากท่านใดมีอาการป่วยมีไข้ กินยาลดไข้แล้วไข้ยังลอยไม่ลด 2-3 วัน คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร หน้าแดง ปวดเมื่อยตามร่างกาย ซึ่งเป็นอาการเบื้องต้นของไข้เลือดออก ไม่ต้องรอให้เกิดจุดเลือดใต้ผิวหนัง ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อเจาะเลือดตรวจ ก่อนที่ผู้ป่วยจะเกิดอาการช็อกและเสียชีวิต และหลังการรักษาโรคไข้เลือดออกแล้ว ช่วงที่ไข้ลดลงในวันที่ 3-4 หากผู้ป่วยซึมลง กินดื่มไม่ได้ให้รีบกลับมาหาแพทย์เพื่อรักษาให้ทันท่วงที ที่สำคัญโรคไข้เลือดออก ยังไม่มีวัคซีนใช้ในการฉีดป้องกันโรค(กำลังอยู่ในระหว่างการศึกษาทดลอง) จึงต้องรักษาแบบช่วยประคองตามอาการจนกว่าผู้ป่วยฟื้นตัวและหายจากอาการป่วย หากประชาชนมีข้อสงสัยสามารถติดต่อได้ที่ศูนย์บริการข้อมูลฮ็อตไลน์ กระทรวงสาธารณสุข โทรศัพท์ 1422 และศูนย์ปฏิบัติการกรมควบคุมโรค โทรศัพท์ 0 2590 3333” อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น