xs
xsm
sm
md
lg

สกอ.ให้ มทร.ศรีวิชัย แจ้ง นศ.รู้ตัว หลักสูตรสัตวแพทย์ยังไม่ผ่านรับรอง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ทปอ.ให้นักกฎหมายตรวจสอบเพื่อกำหนดบทบาทหน้าที่สภาวิชาชีพให้ชัด ย้ำสภาวิชาชีพไม่ควรควบคุมจนมหา’ลัยขาดอิสระทางวิชาการ ด้านรองเลขาธิการ กกอ.เผยให้ มทร.ศรีวิชัย แจ้ง นศ.รู้ตัวล่วงหน้าว่าจบแล้วอาจไม่สามารถขอใบประกอบวิชาชีพได้ หลังเพิ่งรู้มหา’ลัยเปิดรับ นศ.แล้วทั้งที่หลักสูตรสัตวแพทย์ ยังไม่ผ่านการรับรองจากสภาวิชาชีพ

รศ.นพ.กำจร ตติยกวี รองเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (รองเลขาธิการ กกอ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ศรีวิชัย ได้เปิดสอนหลักสูตรสัตวแพทยศาสตร์ โดยหลักสูตรดังกล่าวยังไม่ผ่านการรับรองจากสภาวิชาชีพ และอยู่ระหว่างการเปิดรับสมัครนักศึกษาเพื่อเข้าศึกษาต่อแล้ว ดังนั้น สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) จึงได้ประสานให้ มทร.ศรีวิชัย ดำเนินการแจ้งให้นักศึกษาที่สมัครเข้าเรียนรับทราบข้อเท็จจริงแต่ต้นว่าหลักสูตรดังกล่าวนี้ยังไม่ได้ผ่านการรับรองจากสภาวิชาชีพ ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบจต่อนักศึกษาเมื่อจบแล้วจะมีปัญหาไม่ได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพได้ ทั้งนี้ ที่ผ่านมามหาวิทยาลัยหลายแห่งเปิดสอนโดยที่หลักสูตรยังไม่ผ่านการรับรองจนสุดท้ายผลกระทบตกอยู่กับนักศึกษาที่จบการศึกษาไปแล้วไม่สามารถขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเพื่อนำไปใช้ทำงานได้ อย่างไรก็ตาม เวลานี้ตนทราบเพียงว่ามีแค่ มทร.ศรีวิชัย แห่งเดียวเท่านั้นที่ดำเนินการลักษณะนี้ ส่วนมหาวิทยาลัยอื่น จะมีหรือไม่นั้น ตนไม่ทราบ

ศ.ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) กล่าวว่า โดยทั่วไปมหาวิทยาลัย จะรู้อยู่แล้วว่าถ้ายังไม่ได้รับการรับรองจากสภาวิชาชีพ ก็ยังไม่สามารถเปิดสอนได้ แต่ต้องดูเป็นเรื่องๆ เพราะบางสภาวิชาชีพ จะรับรองหลังจากมีบัณฑิตจบแล้ว และไม่เข้ามาเกี่ยวข้องในเรื่องรายละเอียดหลักสูตร เช่น นิติศาสตร์ ที่กำหนดชัดเจนว่า ผู้ที่ได้รับใบประกอบวิชาชีพ จะต้องจบเนติบัณฑิต โดยที่สภาวิชาชีพไม่เข้ามาเกี่ยวข้องกับการเรียนการสอน ทั้งนี้ ที่ผ่านมา ทปอ.มีการจัดประชุมเรื่องดังกล่าวและนักนิติศาสตร์หลายคนกำลังดูข้อกฎหมาย และกำหนดบทบาทหน้าที่ของสภาวิชาชีพให้ชัดเจน และ เพิ่มเติมไว้ในร่าง พ.ร.บ.อุดมศึกษา พ.ศ.... สภาวิชาชีพจะควบคุมมหาวิทยาลัยทุกอย่างไม่ได้ ไม่ใช่นั้นมหาวิทยาลัยจะขาดอิสระทางวิชาการ และขณะนี้วิชาการมีการพัฒนาไปไกลมาก จนบางครั้งสภาวิชาชีพเองยังตามไม่ทัน

“ที่ผ่านมาก็เคยมีกรณีมหาวิทยาลัยฟ้องร้องสภาวิชาชีพไปบ้างแล้ว ซึ่งส่วนตัวผมเอง สนับสนุนให้มหาวิทยาลัยฟ้องร้อง หากสภาวิชาชีพเข้าไปเกี่ยวข้องกับรายละเอียดการสอนมากเกินกว่าที่กำหนด ทั้งนี้เพื่อให้เกิดบรรทัดฐาน และมีการปรับแก้หลักเกณฑ์ที่ได้มาตรฐานต่อไป และเชื่อว่าหากมหาวิทยาลัยทนไม่ไหวจริงๆ ก็คงจะมีการฟ้องร้องเกิดขึ้นอีก” ศ.ดร.สมคิดกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น