ปลัด วธ.เผยกลยุทธ์การประชาสัมพันธ์สินค้า นิยมนำสรีระผู้หญิง ชูจุดขาย ทำให้ภาพลักษณ์หญิงไทยถูกมองแง่ลบ ขณะที่ สมาคมโฆษณาฯ ผลักดันตั้ง สภาวิชาชีพโฆษณา เพื่อออกใบอนุญาตการประกอบวิชาชีพ พร้อมกำหนดโทษได้
วันนี้ (22 ก.พ.) นางปริศนา พงษ์ทัดศิริกุล ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการสร้างการมีส่วนร่วมป้องกันและแก้ไขปัญหาสื่อไม่เหมาะสม ในหัวข้อ “เซ็กซ์ในสื่อโฆษณา: การตลาด บนความรับผิดชอบต่อสังคม” ว่า วธ.ได้เชิญผู้ประกอบการด้านโฆษณาประชาสัมพันธ์ สื่อมวลชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม เพื่อเปิดเวทีในการระดมความคิดเห็น และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เกี่ยวกับกรณีการใช้ผู้หญิงเป็นสื่อโฆษณาประชาสัมพันธ์และกิจกรรมส่งเสริมการตลาด เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยมีการนำเสนอสรีระของผู้หญิง โดยใช้รูปร่างหน้าตา รวมทั้งการแต่งกายที่ล่อแหลมเป็นเครื่องมือในการโฆษณาสินค้าทางสื่อต่างๆ เป็นจำนวนมาก ส่งผลให้เกิดกระแสความสนใจต่อสินค้าและบริการ โดยไม่คำนึงถึงบริบทหรือบรรทัดฐาน ศีลธรรม จริยธรรม และวัฒนธรรมอันดีงามของสังคมไทย
ในบางกรณีการนำเสนอเนื้อหาในโฆษณาไม่สื่อถึงตัวสินค้าโดยตรง ทำให้สังคมมองว่าเป็นการเสนอเรื่องเพศมากกว่า ขณะเดียวกัน ภาพเหล่านั้นยังเผยแพร่ไปสู่ต่างประเทศมากขึ้นเรื่อยๆ จนทำให้คนต่างชาติมองผู้หญิงไทยในทางที่ผิด ดังนั้น การที่ทุกภาคส่วนร่วมระดมความคิดเห็นในครั้งนี้ จะสามารถร่วมมือกันป้องกันและแก้ปัญหาได้ โดยกำหนดมาตรการ หรือแนวทางการดำเนินงานให้เป็นมาตรฐานกลางในลักษณะที่เป็นการสร้างบรรทัดฐานที่ทุกฝ่ายยอมรับร่วมกันในบริบทของสังคมวัฒนธรรมไทย เพื่อลบภาพลักษณ์ที่ไม่ดีต่อผู้หญิงไทยทั้งในประเทศและต่างประเทศ
ด้าน นายวิทวัส อดุลยานนท์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การแก้ปัญหาเรื่องดังกล่าว ทางสมาคมฯพยายามมาอย่างต่อเนื่องโดยการพลักดันให้เกิดเป็นสภาวิชาชีพโฆษณา เพื่อทำหน้าที่ออกใบอนุญาตการประกอบวิชาชีพ และสามารถกำหนดโทษได้ ซึ่งหากมีการแจ้งหรือร้องเรียนว่าโฆษณาชิ้นไหนไม่เหมาะสม ก็สามารถยึดใบอนุญาต และห้ามเผยแพร่โฆษณานั้นได้ ทั้งนี้ ทางภาครัฐควรผลักดันให้หน่วยงานที่ประกอบวิชาชีพด้านการโฆษณากำกับดูแลตัวเอง ทั้งเรื่องการพิจารณาเนื้อหาโฆษณา หรือการเซนเซอร์ ซึ่งขณะนี้มีหลายหน่วยงานได้ดำเนินการบ้างแล้ว ในรูปแบบของคณะกรรมการ
ซึ่งขณะนี้ภาครัฐไม่สามารถออกกฎหมายได้ครอบคลุมทั้งหมด เพราะปัจจุบันสื่อมวลชนได้ขยายเพิ่มขึ้นจำนวนมาก เช่น สื่อโทรทัศน์ได้ขยายจาก 4 ช่อง เป็น 100 กว่าช่อง และมีการโฆษณาแบบผิดกฎหมายเป็นจำนวนมาก ดังนั้น สิ่งที่ภาครัฐควรดำเนินการได้มากที่สุดคือการจัดกิจกรรมเชิงบวก เพื่อปลูกฝังให้คนในสังคมเข้าถึงศีลธรรมอันดีของไทย รวมถึงการแต่งกายที่ถูกต้อง หรือจัดกิจกรรมให้เยาวชนได้มีส่วนร่วมกับเรื่องดังกล่าวให้มากขึ้น เช่น การจัดประกวดให้นักเรียน หรือนักศึกษา จับผิดโฆษณา หรือวิเคราะห์ว่าโฆษณาชิ้นไหนผิดหรือขัดต่อศีลธรรมไทย เป็นต้น