xs
xsm
sm
md
lg

นิติฯ มธ.เสนอปรับหลักสูตร กม.ใหม่ หลังเปลี่ยนแปลง รธน.บ่อยครั้ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นิติศาสตร์ มธ.เสนอปรับเนื้อหาหลักสูตรเนติบัณฑิต ชี้ ปัจจุบันมีข้อจำกัดกับการเปลี่ยนแปลง รธน.บ่อยครั้งทำให้เน้นเรียน แต่ กม.แพ่ง-อาญา พร้อมวอนสภาวิชาชีพรับรองหลักสูตรให้เร็วขึ้น และให้ สกอ.รับรองหลักสูตรแล้วให้ส่งเรื่องไปยังสภาวิชาชีพโดยตรง ชี้ ปัจจุบันไทยมีนัก กม.กว่า 3-4 แสนคน ขณะที่คดีความในศาลมีถึง 1.2 ล้านคดี ขณะที่ นิติฯ มธ.อาสารับเป็นเจ้าภาพจัดประชุมกลุ่มคณะนิติฯ กำหนดแนวทางผลิตบุคลากรครั้งแรก

ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เปิดเผยว่า ในงานการประชุมทางวิชาการที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ประจำปี 2555 เรื่อง “บทบาทของสภาวิชาชีพที่มีต่อการรับรองหลักสูตร และการจัดการเรียนการสอนของสถาบันอุดมศึกษา” เมื่อเร็วๆ นี้ได้นำเสนอข้อสรุปที่ประชุมกลุ่มวิชาชีพนิติศาสตร์ ว่า คณะนิติศาสตร์ มีสภาวิชาชีพกำกับดูแล 2 องค์กร คือ สภาทนายความ และสำนักอบรมศึกษากฎหมายเนติบัณฑิตแห่งรัฐสภา ซึ่งที่ประชุมได้เสนอให้ทั้ง 2 สภาวิชาชีพดังกล่าวดำเนินการรับรองหลักสูตรใหม่ให้เร็วขึ้น หลังมีปัญหานักศึกษาเรียนจบหลักสูตรแล้ว แต่หลักสูตรกลับอยู่ระหว่างการรับรอง พร้อมเสนอสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ด้วยว่า เมื่อดำเนินการรับทราบหลักสูตรแล้วขอให้ส่งผลการรับรองไปยังสภาวิชาชีพโดยตรง เพราะที่ผ่านมาเกิดการสับสนของสถานศึกษาในการแยกส่งหลักสูตรไปให้ สกอ.และสภาวิชาชีพรับรอง ซึ่งมักจะมีคำถามจาก สกอ.ว่าหลักสูตรที่ส่งมานั้น ผ่านการรับรองจากสภาวิชาชีพหรือยัง
ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต
นอกจากนี้ได้เสนอให้ปรับเนื้อหาการเรียนการสอนหลักสูตรเนติบัณฑิตที่มีข้อจำกัด จากปัญหาการเปลี่ยนแปลงของรัฐธรรมนูญบ่อยครั้ง หรือคิดเป็น 4 ปีต่อฉบับ ทำให้การเรียนการสอนนิติศาสตร์ปัจจุบัน ต้องไปเน้นเรียนกฎหมายแพ่งและอาญา ขณะที่กฎหมายรัฐธรรมนูญเพิ่งจะมาเน้นเรียนจริงจังในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ฉะนั้น การสอบเนติบัณฑิตเองจะต้องปรับปรุงเนื้อหาการสอบด้วย และยังเสนอให้มีการจัดทำรายละเอียดการรับรองหลักสูตรนิติศาสตร์และสถานศึกษาของสภาวิชาชีพด้วย เพราะปัจจุบันเกณฑ์การรับรองระบุไว้ชัดเจนว่า สถานศึกษาต้องยึดถือจัดการเรียนการสอนนิติศาสตร์ให้มีมาตรฐานเทียบเท่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยรามคำแหง แต่ไม่ชัดเจนในรายละเอียด

ปัจจุบันประเทศไทยมีนักกฎหมายเพิ่มขึ้นเป็น 3-4 แสนคน มีคดีความอยู่ในศาล 1.2 ล้านคดี มีผู้ถูกดำเนินคดีติดห้องขัง 2.4 แสนคน ซึ่งในจำนวนนี้แยกเป็นผู้ต้องขังที่อยู่ระหว่างการดำเนินคดี 9 หมื่นคน สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าการที่มีคณะนิติศาสตร์มาก ยิ่งมีคดีความสู่ศาลมากเช่นเดียวกัน ซึ่งเป็นคำถามของคณะนิติศาสตร์ในการผลิตนักกฎหมาย 3-4 แสนคน ว่า ทำไมถึงสะสางคดีไม่ได้ อย่างไรก็ตามที่ประชุมเห็นร่วมกันว่าต่อจากนี้กลุ่มคณะนิติศาสตร์จะต้องมีการจัดประชุมต่อเนื่อง ถึงทิศทางการผลิตนักกฎหมาย การจัดการเรียนการสอนนิติศาสตร์ ซึ่ง มธ.รับจะเป็นเจ้าภาพในการจัดประชุมครั้งแรก” ผศ.ดร.ปริญญา กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น