xs
xsm
sm
md
lg

แนะปรับโครงสร้าง กกอ.ดึงสภาวิชาชีพเข้าร่วมลดซ้ำซ้อน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายมีชัย ฤชุพันธุ์ (ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต)
“มีชัย” แฉ! สภาวิชาชีพทำเกินหน้าที่ พร้อมแนะปรับโครงสร้าง กกอ.ดึงวิชาชีพมีส่วนร่วมเพื่อลดความซ้ำซ้อน

วันนี้ (12 พ.ย.) ที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) จัดการประชุมทางวิชาการ ประจำปี 2555 เรื่อง “บทบาทของสภาวิชาชีพที่มีต่อการรับรองหลักสูตรและการจัดการเรียนการสอนของสถาบันอุดมศึกษา” โดยมีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะอนุกรรมการร่าง พ.ร.บ.การอุดมศึกษา พ.ศ.... กล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “การจัดความสัมพันธ์ระหว่างมหาวิทยาลัยกับสภาวิชาชีพ” มีใจความสำคัญตอนหนึ่ง ว่า ในแผนการศึกษาชาติ ได้กำหนดมาตรฐานการศึกษาโดยเฉพาะระดับอุดมศึกษาให้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) อีกทั้ง พ.ร.บ.ของแต่ละมหาวิทยาลัยก็ให้อำนาจสภามหาวิทยาลัยของตนเองมีอำนาจในการอนุมัติหลักสูตรและปริญญาบัตรภายใต้มาตรฐานที่ กกอ.กำหนด

แต่ต่อมาเมื่อมีกฎหมายสภาวิชาชีพเกิดขึ้น วิชาชีพแรก คือ เนติบัณฑิตสภา มีหน้าที่กำหนดคุณสมบัติของผู้ที่จะเข้ามาเป็นสมาชิก แต่ไม่ได้รับรองปริญญาโดยเนติบัณฑิตสภาจะลงไปให้คำแนะนำการสอนกฎหมายในมหาวิทยาลัยมากกว่าจะรับรองหลักสูตร อย่างไรก็ตาม หลังปี 2528 กฎหมายสภาวิชาชีพมีเพิ่มมากขึ้นจนถึงปัจจุบันมีจำนวนถึง15 วิชาชีพ และกำลังจะมีเพิ่มขึ้นล่าสุดที่กำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของสภา ได้แก่ สภาวิชาชีพนักสังคมสงเคราะห์ ทั้งนี้ วิชาชีพที่ดูจะมีความเข้มข้นมากที่สุด คือ สภาการพยาบาล และเป็นหน่วยงานแรกที่รับรองทั้งหลักสูตรและปริญญาบัตร ดังนั้น จึงต้องมาดูว่าการที่มีอำนาจอนุมัติทั้งสองส่วนจะเป็นการไปก้าวก่ายอำนาจของสถาบันอุดมศึกษาหรือไม่

“ปัจจุบันสภาวิชาชีพหลายแห่งมีอำนาจในการรับรองปริญญาบัตร ซึ่งอำนาจการรับรองปริญญาบัตรเป็นของสภามหาวิทยาลัย ซึ่งผลจากความเข้มงวดของกฎหมายเช่นนี้ ทำให้บางกรณีเช่นการจัดตั้งคณะวิชาบางครั้งทำไม่ได้จนกว่าสภาวิชาชีพจะรับรองหลักสูตร ซึ่งการดำเนินการเช่นนี้จะเป็นการจำกัดความก้าวหน้าของวิชาการหรือไม่” นายมีชัย กล่าว

นายมีชัย กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ หลายวิชาชีพก็ได้มีการรับรองหลักสูตรและปริญญาบัตรแล้วยังกำหนดให้ต้องสอบเพื่อขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพอีก ซึ่งแสดงว่า ยังวางใจไม่ได้ ต้องทดสอบความรู้อีกแล้วจะรับรองหลักสูตรไปทำไม และความจริงแล้วสภาวิชาชีพมีบุคลากรเพียงพอที่จะอ่านหลักสูตรหรือไม่ และต้องให้บุคลากรจากสถาบันอุดมศึกษามาช่วยอ่านหรือไม่ หากไม่วางคนในสถาบันอุดศึกษา แต่ให้มาช่วยอ่านหลักสูตรก็คงเข้าอีหรอบเดิม อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้ สภาวิชาชีพต้องกลับไปคิดว่าการจำกัดขอบเขต หรือตีกรอบให้สถาบันอุดมศึกษาเดิน มันจะเป็นอุปสรรคอย่างไร และการทำหน้าที่รับรองหลักสูตรและปริญญาบัตร เป็นการทำเกินหน้าที่ของสภาวิชาชีพหรือไม่ อีกทั้งยังอาจจะลิดรอนเสรีภาพทางวิชาการ และหมิ่นเหม่ก้าวก่ายเกินความจำเป็นตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้เสรีภาพางวิชาการ เสรีภาพในการประกอบวิชาชีพหรือไม่ ซึ่งตนเข้าใจดีถึงข้อห่วงใยของสภาวิชาชีพที่เกรงว่ามหาวิทยาลัยอาจจะสอนสะเปะสะปะจึงต้องควบคุม แต่มีทางออก คือ ขณะนี้กำลังมีการปรับปรุงโครงสร้าง กกอ.ดังนั้น หากให้มีตัวแทนสภาวิชาชีพนั่งอยู่ใน กกอ.ซึ่งเท่ากับว่า จะมีอำนาจในการอนุมัติหลักสูตรอยู่แล้ว จะได้ลดความซ้ำซ้อน หากสภาวิชาชีพเห็นด้วยกับตนก็จะได้เสนอเพื่อปรับโครงสร้างไปในคราวเดียวกัน แต่สภาวิชาชีพก็ยังทำหน้าที่ควบคุมจรรยาบรรณให้หรือเพิกถอนใบอนุญาตได้เช่นเดิม โดยไม่ทำในสิ่งที่ไม่จำเป็นต้องทำ
กำลังโหลดความคิดเห็น