xs
xsm
sm
md
lg

วัดใจ “สมศักดิ์” ยอมติดคุกเพื่อแม้ว-ลุยโหวต รธน.!?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์
ผ่าประเด็นร้อน

เอาละซี ชักดุเดือดเข้มข้นขึ้นมาอีกนิดหนึ่งแล้วพี่น้องชาวไทย หลังจากวานนี้ (6 มิถุนายน) คณะกรรมการประสานงานและเสนอความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาวินิจฉัยของประธานรัฐสภา ที่มีเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรเป็นประธาน ได้พิจารณาตามข้อกฎหมายได้สรุปความเห็นออกมาแย้ง 6 ข้อ โดยสรุปก็คือ ให้ ประธานรัฐสภา สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ เดินหน้าโหวตแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 3 ต่อไปโดยอ้างว่า “เป็นคำสั่ง” ที่ไม่ผูกพันสภา หลังจากก่อนหน้านี้ศาลรัฐธรรมนูญมีมติรับคำร้องและให้ชะลอการลงมติแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 ในวาระที่ 3 ออกไปก่อน เพื่อหาความชัดเจนว่าการแก้ไขดังกล่าวเป็นล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือไม่

ความเห็นของคณะกรรมการชุดดังกล่าวก็สอดคล้องไปในทางเดียวกับฝ่ายกฎหมายของพรรคเพื่อไทย ของ ทักษิณ ชินวัตร รวมทั้งกลุ่มนิติราษฎร์ที่เป็นแนวร่วมกับขบวนการทักษิณ ก็เร่งเร้าให้ประธานรัฐสภาเรียกประชุมเพื่อลงมติดังกล่าว โดยไม่ต้องไปฟังเสียงของศาลรัฐธรรมนูญ อีกทั้งยิ่งไปกว่านั้นยังได้สร้างกระแสกดดันด้วยการใช้มวลชนคนเสื้อแดงออกมาชุมนุมคัดค้านคำสั่งศาลและยังมีการรณรงค์ล่าชื่อเพื่อถอดถอนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอีกด้วย ซึ่งเมื่อวานนี้ก็ได้ดำเนินการไปแล้ว

นั่นเป็นมติและแรงยุของพวกที่อยู่วงนอกหรือไม่ก็เป็นประเภทที่ไม่ต้องรับผิดชอบสูงสุดหากเกิดความผิดพลาดขึ้นมาภายหลัง

อย่างไรก็ดี อีกด้านหนึ่งเมื่อได้ฟังความเห็นทางกฎหมาย จาก มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการกฤษฎีกา คณะที่ 1 ซึ่งในวงการถือว่าเป็น “โคตรเซียน” ทางกฎหมายที่ออกมาระบุว่ามติและคำสั่งดังกล่าวของศาลรัฐธรรมนูญถูกต้องแล้ว โดยยกเอารัฐธรรมนูญ มาตรา 216 วรรค 5 ที่ระบุว่า “มติของศาลรัฐธรรมนูญถือว่าเป็นเด็ดขาดและมีผลผูกพันต่อรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาลและองค์กรอื่นของรัฐ” มาสำทับ

ที่น่าสังเกตก็คือ กรณีนี้ศาลรัฐธรรมนูญได้มี “มติ 7 ต่อ 1” ให้รับคำร้องและให้ “ชะลอ”การลงมติเอาไว้ก่อน เพื่อหาความชัดเจน “ไม่ใช่สั่งระงับการลงมติ” โดยขั้นตอนหลังจากนี้ศาลก็จะเรียกทั้งสองฝ่ายคือฝ่ายผู้ร้องและผู้ถูกร้องไปชี้แจง ก่อนที่จะลงมติตัดสินอีกครั้ง ซึ่งหากพิจารณากันอย่างตรงไปตรงมาก็ไม่เห็นต้องขัดข้อง หากมีเจตนาที่บริสุทธิ์ไม่ได้ล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เพราะเชื่อว่าขั้นตอนดังกล่าวไม่น่าจะใช้เวลานานนัก

คำถามก็คือ ทำไมรออีกนิดไม่ได้!!
มีใครจะเป็นจะตายหรืออย่างไร!!

อย่างไรก็ดี นั่นเป็นท่าทีและความเห็นของพวกที่อยู่วงนอก แม้บางคนอาจมีส่วนได้เสียมากบ้างน้อยบ้างคละกันไป แต่นาทีนี้ก็ต้องมาวัดใจกันว่า ในที่สุดแล้วคนอย่าง สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ที่อยู่ในตำแหน่งประธานรัฐสภาจะตัดสินใจอย่างไร จะเดินหน้าทำตามความเห็นของคนพวกนี้หรือไม่ หรือว่าจะเชื่อตามที่ศาลรัฐธรรมนูญได้ทำหนังสือแจ้งมาหลังจากที่มีมติรับคำร้องแล้วให้ชะลอการโหวตในวาระที่ 3 ออกไปก่อน

เพราะงานนี้ถ้าเดินหน้า เขาและพวก ซึ่งหมายถึงสมาชิกรัฐสภา ทั้ง ส.ส.และส.ว.โดยเฉพาะ ส.ส.ที่สังกัดพรรคการเมืองนั้นหากมีความผิดพลาดตามมาก็ต้องรับผิดทางกฎหมาย และที่ผ่านมาก็มีเสียงเตือนออกมาแล้วว่า “อย่าเล่นกับไฟ”

ที่ผ่านมาทางประธานศาลรัฐธรรมนูญ วสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ก็ได้ออกมาให้ความเห็นว่า ศาลเพียงแค่ต้องการความชัดเจนว่าฝ่ายที่แก้ไขไม่ได้มีเจตนาล้มล้างรัฐธรรมนูญ ล้มล้างการปกครองตามที่สังคมเกิดความระแวง เหมือนกับการให้ “สัญญาลูกผู้ชาย”ว่า ไม่ได้ทำตามที่ถูกกล่าวหาหรือสงสัย และหากต่อไปในอนาคตหากมี สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) แก้ไขรัฐธรรมนูญออกมานอกลูกนอกทางไปไกลเกินกว่าที่ให้สัญญาไว้ดังกล่าว สมาชิกรัฐสภาก็ไม่ต้องให้การรับรอง เพราะถือว่าทำผิดเจตนารมณ์ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งก็ถือว่าไม่เห็นมีอะไรซับซ้อนหรือเสียหน้า เสียศักดิ์ศรีใดๆเลยแม้แต่น้อย

ที่ผ่านมาคนกลุ่มนี้มักอ้างเสียงข้างมาก มาจากประชาชน แต่แท้ที่จริงแล้วเสียงข้างมากไช่ว่าจะถูกต้องเสมอไป เพราะเสียงข้างมากบางครั้งอาจพาเข้ารกเข้าพง แต่ที่สำคัญที่สุดยิ่งกว่าก็คือ “ต้องทำเพื่อประโยชน์ของประชาชนเป็นใหญ่มากกว่า” ไม่ใช่ใช้การเลือกตั้ง ใช้เสียงข้างมากมาโหวตหาความถูกผิด อย่างที่กำลังดำเนินการอยู่ในเวลานี้

ขณะเดียวกัน การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่กำลังดำเนินการอยู่อย่างเข้มข้น ไม่ต้องมาปฏิเสธกันอีกต่อไปว่า ทักษิณ ชินวัตร ไม่ได้เกี่ยวข้อง ไม่ได้อยู่เบื้องหลัง รวมทั้งไม่ได้เกี่ยวข้องกับตำแหน่งประธานรัฐสภาของ สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ดังนั้น นาทีนี้ก็ต้องมาวัดใจกันว่า ในที่สุดแล้ว ประธานรัฐสภาคนนี้จะเสี่ยงคุกเพื่อ ทักษิณ แบบ “รนหาเรื่อง” หรือไม่ อีกไม่นานก็ต้องมีคำตอบ ซึ่งก็ถือว่ามี “เดิมพัน” สูงเสียด้วย ถ้าพลาดนั่นก็หมายความว่ามีผลกระทบไปไกลแน่นอน!!
ทักษิณ ชินวัตร
กำลังโหลดความคิดเห็น