xs
xsm
sm
md
lg

ปธ.สทศ.หนุนดึงองค์กรวิชาชีพร่วมจัดสอบ U-Net

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ประธาน สทศ.เสนอดึงเครือข่ายองค์กรวิชาชีพร่วมจัดสอบ U-Net ขณะที่ผลวิจัยการพัฒนาระบบการสอบเสนอวัดมาตรฐานบัณฑิตใน 5 องค์ประกอบ

รศ.ดร.ไทย ทิพย์สุวรรณกุล อาจารย์มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เปิดเผยถึงผลการวิจัยการพัฒนาระบบและวิธีการทดสอบตามมาตรฐานอุดมศึกษา : มาตรฐานด้านคุณภาพบัณฑิต หรือ U-Net ว่า ในเบื้องต้นผลการวิจัยมีข้อเสนอให้มีการวัดคุณภาพบัณฑิตตามองค์ประกอบ ดังนี้ 1.องค์ประกอบด้านคุณธรรม จริยธรรม โดยใช้การสำรวจคุณธรรมจริยธรรมเพื่อการอยู่ร่วมกันใน 2.องค์ประกอบด้านความรู้ ได้แก่ ความสามารถพื้นฐานทางวิชาการทั่วไป, ความสามารถพื้นฐานเฉพาะกลุ่มสาขาวิชา, ความสามารถในวิชาชีพเฉพาะทาง, ความสามารถในการพัฒนาตนเอง 3.องค์ประกอบด้านทักษะทางปัญญา ได้แก่ ความสามารถในการวิเคราะห์และแก้ปัญหาในสถานทั่วไปและในสถานการณ์เฉพาะวิชาชีพ 4.องค์ประกอบด้านความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลและความรับผิดชอบ เช่น ความสามารถในการทำงานร่วมกับผู้อื่นๆ, ความสามารถในการเป็นผู้นำ, ความสามารถในการทำงานร่วมกับผู้อื่นด้วยความรับผิดชอบ และ 5.องค์ประกอบด้านทักษะการวิเคราะห์เชิงตัวเลข การสื่อสาร และการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ ได้แก่ การวิเคราะห์เชิงตัวเลข, ความสามารถในการสื่อสารภาษาไทยและภาษาอังกฤษ, ความสามารถในการใช้เทคโนโลยี
ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต
อย่างไรก็ตาม ส่วนวิธีการวัดและประเมินนั้น กรณีความรู้ที่เป็นวิชาชีพเฉพาะจะประสานให้สภาวิชาชีพพัฒนาระบบ และวิธีการทดสอบที่เหมาะสม ส่วนการทดสอบความรู้พื้นฐานทั่วไป มีข้อเสนอจัดทำแบบทดสอบกลาง รวม 4 ฉบับ ได้แก่ การใช้ภาษาไทยเพื่อการสื่อสาร 60 ข้อ,การใช้ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร 50 ข้อ, การใช้สารสนเทศและเทคโนโลยีเพื่อการดำเนินชีวิต 50 ข้อ, การใช้คณิตศาสตร์ในชีวิตประจำวัน 30 ข้อ โดยแต่ละวิชาจะใช้เวลาในการสอบไม่เกิน 1 ชั่วโมง 30 นาที และ สอบวันละ 2 ชั่วโมง รวมจะใช้เวลาสอบ 2 วัน จัดสอบปีละ 2 ครั้ง นิสิต/นักศึกษาสามารถเลือกสอบได้ ไม่บังคับว่าทุกคนต้องสอบ

ด้านศ.ดร.สมหวัง พิธิยานุวัฒน์ ประธานคณะกรรมการสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) กล่าวว่า โดยส่วนตัวแล้วเห็นว่า การจัดสอบ U-Net นั้น สทศ.จะต้องหาเครือข่ายเข้ามาร่วมดำเนินการ และแบ่งหน้าที่กันทำ โดยขอความร่วมมือสภาวิชาชีพต่างๆ เข้ามาร่วม ไม่ใช่ สทศ.ดำเนินการเพียงลำพัง และหากสามารถใช้ U-Net เป็นเครื่องมือในการวัดประเมินผลคุณภาพบัณฑิตอย่างมีประสิทธิภาพแล้ว จะส่งผลดีต่อการประเมินภายนอกของสถาบันอุดมศึกษา โดยสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) สามารถนำข้อมูล U-Net ไปใช้ได้ ซึ่งจะได้ประเมินลงลึกด้านการบริหารงานหรือด้านอื่นๆ ของมหาวิทยาลัยต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น