xs
xsm
sm
md
lg

ชงคุรุสภาแก้ กม.ให้สอดคล้องกับผู้ผลิตครู

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เผยไทยมีผู้ถือตั๋วครู 1 ล้านคน แต่ไม่ได้เป็นครู 4 แสนคน ทั้งที่ในระบบยังขาดครูอีกแค่ 2 พันคน ประธาน สทศ.ชี้ การขอตั๋วครู ไม่ได้เป็นการสกัดกั้นคนดี คนเก่ง หากมีคุณสมบัติครบก็สามารถเป็นได้ แต่ต้องมีการประกันคุณภาพ เพื่อเพิ่มมาตรฐานการสอน ด้านผู้ทรงคุณวุฒิการศึกษา ชงคุรุสภาแก้ กม.ผลิตครูให้สอดคล้องกับผู้ผลิต

วันนี้ (19 ก.ค.) ที่โรงแรมแอมบาสซาเดอร์ สุขุมวิท สำนักงานคณะกรรมการเลขานุการคุรุสภา จัดประชุมระดมความคิดเห็น เรื่อง “ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู สกัดกั้น คนเก่ง คนดี เข้าเป็นครู จริงหรือ” โดยมีนายดิเรก พรสีมา ประธานกรรมการคุรุสภา นายสมหวัง พิธิยานุวัฒน์ ประธานคณะกรรมการบริหารสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) นายศักดิ์ กองสุวรรณ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการศึกษา และนายสมบัติ แสงสว่างสัจกุล รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) พร้อมด้วยบุคลากรผู้เชี่ยวชาญทางการศึกษากว่า 100 คนเข้าร่วม

นายดิเรก กล่าวว่า กลุ่มที่จบจากสถาบันผลิตครูตามระบบปกติ ในหลักสูตรครู 5 ปี จะไม่มีปัญหาเรื่องการขอใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ เพราะกลุ่มนี้คุรุสภาและมหาวิทยาลัยจะมีข้อมูลผู้จบที่ตรวจสอบได้ชัดเจน แต่กลุ่มที่มีปัญหา คือ 1.กลุ่มที่สำเร็จการศึกษา พ.ศ.2546 ซึ่งขณะนั้นคุรุสภาให้ทุกคนมาขอใบประกอบวิชาชีพได้ทุกคน โดยให้เวลา 3 ปี คือ ถึง พ.ศ. 2549 ซึ่งภายหลังเมื่อวิชาชีพครูเริ่มได้รับการยอมรับและมีเงินเดือนดีขึ้น คนกลุ่มนี้ที่ยังไม่มาขอใบประกอบวิชาชีพตามเวลา ก็อยากมาเป็นครู มาขอเทียบ มาตรฐานความรู้วิชาชีพครู 9 มาตรฐาน ซึ่งบางคนก็ผ่านไม่ครบตามที่คุรุสภากำหนด 2.ผู้ที่จบสาขาอื่น มาขอสอบเทียบมาตรฐานความรู้วิชาชีพครู 9 มาตรฐาน แต่พอสอบผ่านไม่ครบ ก็จะมาขอให้อนุโลม ซึ่งตนก็บอกไปว่าเรื่องมาตรฐานไม่ใช่เรื่องจะมาต่อรอง 3.กลุ่มเรียนนอกที่ตั้ง ที่เป็นปัญหาอยู่ทุกวันนี้ ซึ่งบางแห่งไม่ได้มาตรฐาน ไม่มีการฝึกสอน แต่อยากได้ใบอนุญาต ซึ่งเป็นไปไม่ได้เพราะถือว่าไม่ได้มาตรฐานตามที่คุรุสภากำหนด

นายดิเรก กล่าวอีกว่า การขอใบประกอบวิชาชีพครูไม่ได้ยาก ถ้าออกมาจากสถาบันผลิตครูที่ได้มาตรฐาน โดยขณะนี้มีผู้ที่มีใบประกอบวิชาชีพครูทั่วประเทศทั้งหมดประมาณ 1 ล้านกว่าคน แบ่งเป็นครูสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ประมาณ 4 แสนกว่าคน ครูสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ประมาณ 1 แสนคน และสังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) อีกประมาณ 1 แสนคน เท่ากับว่ายังมีคนที่มีใบประกอบวิชาชีพครู แต่ไม่ได้เป็นครูอีกกว่า 4 แสนคน ขณะที่เรายังขาดครูในระบบอีกกว่า 2 พันคน

“ผมคิดว่า สภาวิชาชีพทุกสาขา ไม่ว่าจะของประเทศใด ล้วนมีหน้าที่ปกป้อง ผู้รับบริการ ซึ่งก็คือนักเรียนทุกคน ให้ได้เรียนอย่างมีคุณภาพ ไม่ใช่ปกป้องคนอยากเป็นครู ดังนั้น ถ้าสมาชิกในวิชาชีพคนใดมีความประพฤติไม่เหมาะสม เราก็ต้องถอนใบอนุญาตฯเพื่อให้ผู้รับบริการได้รับประโยชน์สูงสุด” นายดิเรก กล่าว

นายสมหวัง กล่าวว่า การขอใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู ไม่ได้เป็นการสกัดกั้นคนดี คนเก่งมาเป็นครู เพราะหากมีคุณสมบัติครบ ก็สามารถมาขอใบอนุญาตประกอบวิชาชีพได้ทุกคน แต่เท่าที่ดูครูเป็นวิชาชีพชั้นสูงวิชาชีพเดียว ที่ไม่ได้สอบมาตรฐานวิชาชีพในทางการปฏิบัติ เช่นเดียวกับแพทย์ วิศวกรรมศาสตร์ เป็นต้น โดยตามหลักแล้ว ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ เพราะมาตรฐานความรู้วิชาชีพครู 9 มาตรฐาน ถือเป็นการประกันคุณภาพทางวิชาการเท่านั้น โดยที่ผ่านมาตนได้หารือกับนายดิเรก แล้วว่า ต่อไปจะต้องมีการประกันคุณภาพในเรื่องการปฏิบัติของครูมากขึ้น เพื่อให้มีความมั่นใจว่า ครูที่ได้ใบประกอบวิชาชีพไป สามารถปฏิบัติการสอนได้อย่างมีคุณภาพจริงๆ เช่น ในประเทศอินโดนีเซีย ที่มีใบประกอบวิชาชีพครู หลังเรา แต่เขาให้ความสำคัญกับการควบคุมคุณภาพวิชาชีพครู และใช้ประโยชน์จากคะแนนการทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ หรือโอเน็ต ทำให้คะแนน PISA เพิ่มขึ้นถึง 100 แต้ม ภายใน 6 ปี

นายศักดิ์ กล่าวว่า ส่วนตัวคิดว่า ใบประกอบวิชาชีพครูมีส่วนสกัดกั้นคนดี คนเก่ง มาเป็นครูจริง แต่ปัญหาจริงๆ ไม่ได้เกิดจากใบประกอบวิชาชีพ แต่เกิดจากการบังคับใช้กฎหมาย ที่ไม่สอดคล้องกับผู้ผลิต และผู้บังคับใช้กฎหมาย ตั้งแต่แรก และมีการเปลี่ยนแปลงข้อบังคับไปเรื่อยๆ จนสถาบันฝ่ายผลิตตามไม่ทัน และในมาตรฐานเดียวกันจะใช้กับครูตั้งแต่ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน จนถึงระดับอุดมศึกษา ซึ่งตามจริงแล้วไม่ควรจะเป็นเช่นนั้น อาทิ ระดับอาชีวศึกษา ต้องการครูที่เชี่ยวชาญทางปฏิบัติมากกว่าวิชาชีพ ดังนั้นมาตรฐานทางวิชาการจึงควรลดลง ไม่เท่ากันหมด ซึ่งโดยภาพรวมคิดว่าคุรุสภาควรต้องทำกฎหมายใหม่ เพื่อให้ตรงตามความต้องการของผู้ใช้
กำลังโหลดความคิดเห็น