“สุชาติ” เสนอไอเดีย ให้ครูผู้สอนทุกวิชา ร่วมออกข้อสอบส่งเข้าคลังข้อสอบ สทศ.หวังใช้สอบ O-Net และ NT ฟุ้งวิธีนี้จะทำให้มีข้อสอบในแต่ละวิชามากถึง 2-3 แสนข้อ และให้ครูระดับซีเนียร์เป็นคัดเลือกข้อสอบไปใช้ ของใครได้รับเลือกก็มีค่าตอบแทนเป็นรางวัล
วันนี้ (2 ก.ค.) ที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เครือข่ายองค์กรวิชาชีพครูแห่งประเทศไทย (ค.อ.ท.) ประกอบด้วย สหพันธ์ครูภาคเหนือ ชมรมครูภาคกลาง ชมรมครูประชาบาลภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สมาพันธ์ครูภคใต้ และเครือข่ายพัฒนาชีวิตครูแห่งประเทศไทย ประมาณ 50 คน เดินทางเข้าพบ ศ.ดร.สุชาติ ธาดาธำรงเวช รัฐมนตรีว่า ศธ.เพื่อสนับสนุน โครงการกระทรวงศึกษาธิการไทยใสสะอาดพร้อมสนับสนุนให้ดำรงตำแหน่ง รมว.ศึกษาธิการ ต่อไป โดย ศ.ดร.สุชาติ กล่าวว่า เรื่องที่เกิดขึ้นนั้น ไม่มีผู้ใหญ่ท่านใดมาพูดกับตน ข่าวที่เกิดขึ้นมาจากสื่อมวลชนมาถามและก็ไปพาดหัวด้วยคำที่รุนแรง ซึ่งตนวางอุเบกขากับเรื่องนี้และต่อไปจะระมัดระวังมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ในเรื่องของความโปร่งใสนั้น ตนได้เน้นย้ำและทำตั้งแต่เรื่องการสอบบรรจุครูผู้ช่วย สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ซึ่งขอฝากข่าวไปยังผู้ที่สอบผ่านครูผู้ช่วย ทั้ง 724 คน ว่า หากต่อไปมีปัญหาหรือไม่ได้รับความเป็นธรรมสามารถร้องเรียนมาที่ตนโดยตรง และก่อนที่ตนจะปลีกวิเวกก็จะพยายามแก้ไขกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องที่เป็นปัญหาให้เสร็จก่อน เช่น ให้ขึ้นบัญชีผู้สอบผ่านครูผู้ช่วย 2 ปี เป็นต้น
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวต่อว่า ขณะนี้ ศธ.ได้อนุมัติงบประมาณให้สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) ประมาณ 200 ล้านบาทเพื่อจัดทำคลังข้อสอบ ซึ่งเป็นระบบดิจิตอล เพื่อใช้ในการทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน (O-Net) อย่างไรก็ตาม ตนได้เสนอแนวคิดว่าเราน่าจะให้ครูผู้สอนทุกวิชาร่วมทำการออกข้อสอบ จะออกมาคนละกี่ข้อก็ได้แล้วจัดส่งมารวบรวมไว้ในคลังข้อสอบ เมื่อมีการจัดสอบ O-Net หรือ การทดสอบระดับชาติของ (National Test : NT) ของ สพฐ.ก็สามารถนำข้อสอบเหล่านี้มาใช้ โดยให้ครูที่มีความเชี่ยวชาญมาเป็นผู้คัดเลือกข้อสอบเหล่านั้น ซึ่งข้อสอบของครูคนใดที่ได้รับการคัดเลือกมาใช้ก็จะได้รับค่าตอบแทน
“แต่เดิมนั้นการออกข้อสอบ O-Net สทศ.จะเชิญครู 50-60 คน มาเก็บตัวและร่วมกันออกข้อสอบ ซึ่งก็จะได้ข้อสอบจำนวนน้อยทำคลังข้อสอบไม่ได้ ซึ่งผมเห็นว่าข้อสอบก็น่าจะให้ครูผู้สอนเป็นคนออกด้วย เพราะฉะนั้นก็ให้ครูแต่ละวิชาร่วมกันออกข้อสอบ จะออกคนละกี่ข้อก็ได้และส่งมารวมๆ ซึ่งผมมองว่าวิชาหนึ่งเราจะมีข้อสอบถึง 2-3 แสนข้อ และเมื่อจะมีการทดสอบ NT หรือ O-Net ก็ไปคัดเลือกข้อสอบที่ครูส่งมาแล้วนำมาใช้โดยก็จะให้ครูระดับซีเนียร์มาเป็นผู้คัดเลือกข้อสอบเหล่านั้น ข้อสอบของใครได้รับการคัดเลือกก็ให้ค่าตอบแทนครูคนนั้นไป ซึ่งวิธีการนี้นั้นจะทำให้เรามีข้อสอบใช้ได้อย่างต่อเนื่อง แต่หากกลัวเรื่องมาตรฐานก็สามารถอบรมให้ครูก่อนได้ โดยเรื่องนี้ได้มอบให้ รศ.ดร.สัมพันธุ์ พันธุ์พฤกษ์ ผอ.สทศ.ไปศึกษาและให้เริ่มดำเนินการในปีนี้”รมว.ศึกษาธิการ กล่าว