xs
xsm
sm
md
lg

สพฐ.รับคะแนนเฉลี่ย O-Net สูงขึ้น แต่อันดับ PISA ไม่กระเตื้อง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สพฐ.ฟันธงอนาคตใช้คะแนน O-Net ประเมินคุณภาพการศึกษาและสอบคัดเลือกมากขึ้น ส่วนภาพรวมปีนี้เด็กทำคะแนนเฉลี่ย O-Net สูงขึ้น แต่ไม่มีผลต่อการจัดอันดับ PISA เหตุแนวข้อสอบต่างกัน เล็งจับมือ สสวท.พัฒนาระบบการทดสอบ และการสอนให้ใกล้กับวิธีประเมินของ PISA
ดร.ชินภัทร ภูมิรัตน (แฟ้มภาพ)
นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า ในอนาคตนี้ผลการทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน (O-Net) ที่จัดทดสอบโดยสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) จะถูกนำมาใช้กันมากขึ้น เช่น ใช้ในการรับนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 และชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 เพิ่มขึ้น โดยในปีการศึกษา 2555 นั้น สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้กำหนดให้โรงเรียนใช้สัดส่วนผลคะแนน O-Net เพียง 20% ปีต่อไปก็จะมีการปรับขึ้น หรือใช้เพื่อเลื่อนและให้มีวิทยฐานะของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา เป็นต้น ส่วนกรณีความยากง่ายของข้อสอบ O-Net ในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ที่ยังอยู่ในเกณฑ์ยากประมาณ 0.25 นั้น ขณะนี้ทาง สทศ.กำลังวิเคราะห์ผลข้อสอบอยู่ ซึ่งในส่วนของ สพฐ.เห็นว่า ควรจะให้มีความยากอยู่ในระดับที่พอเหมาะต่อการสะท้อนการศึกษาของประเทศ คืออยู่ระดับปานกลาง ซึ่งจะอยู่ที่ค่า 0.4-0.6

“การทดสอบ O-Net ไม่ได้มีจุดมุ่งหมายเพื่อใช้ในการสอบคัดเลือก แต่เป็นการประเมินคุณภาพการศึกษาของประเทศ เพราะฉะนั้นข้อสอบจึงต้องมีความยาก ง่าย และปานกลาง ซึ่งแม้ในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จะต้องนำผลคะแนน O-Net ใช้เป็นส่วนหนึ่งของการรับสมัครบุคคลเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา หรือแอดมิชชันกลาง ก็ตาม แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าข้อสอบ O-Net จะต้องยากมาก ส่วนกรณีผลคะแนน O-Net ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 และ ม.3 ปีนี้ที่มีค่าเฉลี่ยสูงขึ้น ไม่ได้หมายความผลการประเมินจากโครงการประเมินผลนักเรียนนานาชาติหรือ PISA (Programme for International Student Assessment) ประจำปี 2555 ที่จะมีการสุ่มประเมินนักเรียนไทยใน 150 โรงเรียนนั้นจะทำให้อยู่ในลำดับที่ดีขึ้น” นายชินภัทร กล่าว

นายชินภัทร กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ เพราะวิธีการออกข้อสอบของ สพฐ.กับการประเมินของ PISA ไม่ได้เป็นแนวเดียวกัน และต่อจากนี้ไป สพฐ.จะต้องปรับการออกข้อสอบให้ใกล้เคียงกับ PISA ดังนั้น การประเมินในปีนี้ยังไม่น่าจะมีผลต่อพัฒนาการที่ชัดเจน แต่ในการประเมินรอบต่อไปจะต้องดีขึ้น เนื่องจาก สพฐ.และสถาบันส่งเสริมการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) จะร่วมมือกันพัฒนาเพื่อให้ระบบการทดสอบและการเรียนการสอนมีแนวใกล้เคียงกับวิธีการประเมินของ PISA ที่ไม่ได้เน้นการทดสอบทางด้านความรู้และความจำ แต่จะเน้นทดสอบสมรรถนะด้านการอ่าน การคิดคำนวณและด้านวิทยาศาสตร์ เพื่อนำไปใช้ในชีวิตและสังคม
กำลังโหลดความคิดเห็น