xs
xsm
sm
md
lg

องค์กรสื่อจับมือสภาทนาย ช่วยนักข่าวสุจริตที่ถูกฟ้อง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (27ก.พ.) ที่สภาทนายความ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ถนนราชดำเนิน สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และสภาทนายความฯ จัดพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือ เรื่องการรับความช่วยเหลือด้านการดำเนินอรรถคดี และการส่งเสริมทางวิชาการขึ้น โดยมี นายสัก กอแสงเรือง นายกสภาทนายความฯ นายจักร์กฤษ เพิ่มพูล ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ และน.ส.ชไมพร คงเพชร เหรัญญิก ปฏิบัติหน้าที่แทน นายก่อเขต จันทเลิศลักษณ์ ประธานสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ในการลงนามความร่วมมือ
นายจักร์กฤษ กล่าวว่า เนื่องจากบางครั้งการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน ถูกการใช้กฎหมายมาหยุดการนำเสนอข่าวสู่ประชาชน สื่อมวลชนเหล่านั้นบางส่วนมีโอกาสต่อสู้คดี หรือป้องกันตัวเองได้น้อย บางครั้งต้องเข้าสู่กระบวนการทางศาล ถูกฟ้องร้องเพื่อให้ยุติการนำเสนอข่าว หรือฟ้องคดี เพื่อข่มขู่ผู้สื่อข่าว หรือบุคคลในกองบรรณาธิการข่าว ทำให้เกิดความหวาดกลัว และที่สำคัญมีหลายกรณีที่ผู้สื่อข่าว ต้องต่อสู้ตามกระบวนการทางศาลอย่างโดดเดี่ยว ดังนั้นสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ในฐานะที่เป็นสภาวิชาชีพสื่อ จึงเห็นควรที่จะหาแนวทางปกป้องคนในวิชาชีพสื่อมวลชน ที่ปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริต เพื่อส่งเสริมการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์ ยึดมั่นในจริยธรรม และดำรงความเป็นกลาง สร้างประโยชน์ที่ดีต่อสังคม โดยสภาการหนังสือพิมพ์ฯ ยินดีร่วมมือเผยแพร่บทบาทของทนายความของสภาทนายความฯ รวมถึงความร่วมมือในด้านอื่น เพื่อให้สังคมนี้เป็นสังคมที่โปร่งใส ถูกต้อง
"การช่วยเหลือครั้งนี้อยู่ภายใต้เงื่อนไขการทำหน้าที่ภายใต้กรอบจริยธรรมเท่านั้น ขั้นตอนการขอรับความช่วยเหลือ สภาการหนังสือพิมพ์ฯ จะมีคณะอนุกรรมการจริยธรรมและสิทธิเสรีภาพสื่อมวลชน ซึ่งมีนายภัทระ คำพิทักษ์ เป็นประธาน ตรวจสอบความถูกต้อง ส่วนสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ฯ ก็จะมีกรรมการตรวจสอบด้วย เพื่อเป็นการส่งเสริมให้สื่อมวลชนทำหน้าที่อย่างมีจริยธรรมด้วย" นายจักร์กฤษ กล่าว
นายภัทระ คำพิทักษ์ กรรมการและประธานอนุกรรมการจริยธรรมและสิทธิเสรีภาพสื่อมวลชน สภาการหนังสือพิมพ์ฯ กล่าวว่า ขณะนี้สังคมต้องการสื่อที่มีคุณภาพ และมีความกล้าหาญในการทำหน้าที่อย่างสุจริต ต้องการการตรวจสอบที่มีคุณภาพ แต่สื่อต้องมาวิตกว่า การทำหน้าที่จะมีผลออกมาอย่างไร เพราะมีการไปตรวจสอบผู้มีอิทธิพล การที่สภาทนายความฯ ให้ความร่วมมือครั้งนี้ จะเป็นหลักประกันที่สำคัญของสังคมที่ทำให้สื่อมั่นใจในการทำหน้าที่เพื่อรักษาสิทธิประโยชน์ของสังคมด้วยความกล้าหาญต่อไป สื่อที่ทำหน้าที่แล้วมีภาระทางคดีหรือถูกต้นสังกัดลอยแพเพราะปิดกิจการสามารถมั่นใจได้ว่า หากทำหน้าที่ของสื่อมวลชนที่ดีจะไม่ถูกทอดทิ้ง และน่าจะเป็นการเริ่มต้นความร่วมมือกับองค์กรอื่นที่ผลักดันเรื่องความโปร่งใสและธรรมาภิบาลให้เกิดขึ้นในสังคมต่อไป
ด้านนายสัก กล่าวว่า สภาทนายความฯ ยินดีให้ความช่วยเหลือกับผู้ประกอบวิชาชีพสื่อ ที่ได้รับผลกระทบจากการปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริต และอยู่ในกรอบของคุณธรรม และมรรยาทที่ดี เพื่อค้นหาความจริง พิสูจน์สิ่งที่ไม่ถูกต้อง ไม่เป็นธรรม เพื่อเสนอข่าวอย่างถูกต้อง ครบถ้วน เป็นธรรม ตรงไปตรงมา ให้ประชาชนเข้าถึงข้อเท็จจริงที่ถูกต้องชอบธรรม โดยสภาทนายความฯ พร้อมให้ความช่วยเหลือทุกช่องทาง ตามกรอบวิชาชีพทนายความ ผู้ขอรับความช่วยเหลือต้องผ่านการตรวจสอบข้อเท็จจริงจากคณะกรรมการที่สภาการหนังสือพิมพ์ฯ และสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ฯ แต่งตั้งขึ้น โดยการช่วยเหลือนั้นจะเป็นการช่วยเหลือแบบให้เปล่าตลอดทุกชั้นศาล ยกเว้นการเสียค่าธรรมเนียมศาล
นอกจากนี้ยังรวมถึงการช่วยเหลือ สนับสนุนด้านการดำเนินคดีเมื่อผู้ประกอบวิชาชีพนักข่าว นักหนังสือพิมพ์ สื่อวิทยุ และโทรทัศน์ เป็นผู้กล่าวหา หรือเป็นโจทก์ฟ้องคดี รวมถึงพยานด้วย
อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการเพิ่มอาวุธทางปัญญาให้กับผู้ประกอบวิชาชีพสื่อทางสภาทนายความฯ ยินดีสนับสนุนการให้ความรู้ทางกฎหมายที่จำเป็นในการประกอบวิชาชีพ โดยเรายินดีสนับสนุนและยินดีที่ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนการทำงานของสื่อมวลชนเพื่อนำเสนอข้อเท็จจริงที่เป็นประโยชน์สู่สังคมต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น