ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - ศอ.บต. จับมือมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จัดตั้ง “ห้องปฏิบัติการและวิจัยทางสัตวแพทย์” แห่งแรกในภาคใต้ หนุนงานวิจัยปศุสัตว์และต่อยอดอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล
วันนี้ (13 ก.พ.) ที่ห้องปฏิบัติการและวิจัยทางสัตวแพทย์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ว่าที่ ร.ต.เลิศเกียรติ วงศ์โพธิพันธ์ รองเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เป็นประธานเปิดงานส่งมอบห้องปฏิบัติการและวิจัยทางสัตวแพทย์ โครงการจัดตั้งคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยมีรองศาสตราจารย์ ดร.ชูศักดิ์ ลิ่มสกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นประธานรับมอบ มีรองศาสตราจารย์ สพ.ญ.อุษา เชษฐานนท์ ผู้อำนวยการโครงการจัดตั้งคณะสัตวแพทย์ศาสตร์ เป็นผู้กล่าวรายงาน มีคณะผู้บริหาร คณาจารย์ และเจ้าหน้าที่ร่วมเป็นเกียติในพิธีเป็นจำนวนมาก
ว่าที่ ร.ต.เลิศเกียรติ วงศ์โพธิพันธ์ รองเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวว่า ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ได้ตระหนักถึงความสำคัญของงานด้านสัตวแพทย์ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการส่งเสริมและพัฒนาการเลี้ยงสัตว์ พัฒนาผลิตภัณฑ์จากสัตว์ให้มีคุณภาพ การต่อยอดอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล การสร้างองค์ความรู้สู่การจัดการโรค และทำให้การปศุสัตว์ในภาคใต้มีความยั่งยืน ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) จึงสนับสนุนงบประมาณแก่โครงการจัดตั้งคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เพื่อจัดตั้ง “ห้องปฏิบัติการและวิจัยทางสัตวแพทย์” แห่งแรกในภาคใต้ตอนล่าง เป็นเงิน 5.7 ล้านบาท เพื่อพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตปศุสัตว์ โดยพร้อมที่จะเปิดให้บริการแก่ประชาชนในพื้นที่อย่างเป็นทางการในเดือน มี.ค. นี้
ด้านรองศาสตราจารย์ สพ.ญ.อุษา เชษฐานนท์ ผู้อำนวยการโครงการจัดตั้งคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า การจัดตั้งห้องปฏิบัติการและวิจัยทางสัตวแพทย์เป็นหนึ่งในการเตรียมความพร้อมของการจัดตั้งคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณ จากศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เพื่อใช้เป็นห้องชันสูตรและวิจัยทางสัตวแพทย์ โดยเน้นการชันสูตรโรคในปศุสัตว์ เช่น แพะ วัว ไก่ เป็ด ซึ่งเป็นสัตว์ที่เกษตรกรในพื้นที่ภาคใต้นิยมเลี้ยง ห้องปฏิบัติการนี้ยังคงครอบคลุมไปถึงการให้บริการชันสูตรโรคในสัตว์เลี้ยงเป็นเพื่อน เช่น สุนัข แมว นก อีกด้วย
รองศาสตราจารย์ สพ.ญ.อุษา กล่าวอีกว่า ภายในห้องปฏิบัติการและวิจัยทางสัตวแพทย์ที่สร้างขึ้นนี้ มีเครื่องมือและอุปกรณ์ชันสูตรโรคสัตว์กว่า 30 ชิ้น เช่น เครื่องนับปริมาณเม็ดเลือด เครื่องตรวจค่าเคมีในเลือด เครื่องปั่นเหวี่ยงเพื่อตรวจซีรัม ตู้ปลอดเชื้อ ตู้เพาะเลี้ยงเซลล์ เครื่องเพิ่มปริมาณสารพันธุกรรม เป็นต้น ส่วนการให้บริการของห้องปฏิบัติการและวิจัยทางสัตวแพทย์ในช่วงแรกนั้นจะให้บริการตรวจเบื้องต้น เช่น การตรวจเลือด การตรวจหาค่าเคมีในเลือด การตรวจอุจจาระ ซึ่งบ่งบอกการทำงานของอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย การชันสูตรเชื้อที่ไม่ร้ายแรงมากนัก เนื่องจากห้องปฏิบัติการดังกล่าวยังคงเป็นสถานที่ปฏิบัติงานชั่วคราว ซึ่งในอนาคตจะพัฒนาให้สามารถให้บริการชันสูตร และตรวจโรคสัตว์ในหลายรูปแบบมากขึ้น และจะเป็นส่วนหนึ่งของโรงพยาบาลสัตว์ ที่มหาวิทยาลัยคาดว่าจะเริ่มให้บริการในปลายปี 2557
ทั้งนี้ ผู้เลี้ยงสัตว์ หรือหน่วยงานในพื้นที่สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับการให้บริการของห้องปฏิบัติการและวิจัยทางสัตวแพทย์ ได้ที่โครงการจัดตั้งคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โทรศัพท์ 0-7428-9600 และ 0-7428-9602 ในวันและเวลาราชการ หรืออีเมล sasitorn.ch@psu.ac.th