xs
xsm
sm
md
lg

ไขเทคนิคดูแลผู้ป่วยจิตเวชอยู่ร่วมครอบครัว!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ไม่น่าเชื่อว่าคนไทยทุก 5 คน จะมี 1 คนที่มีปัญหาสุขภาพจิต ซึ่งตัวเลขผู้ป่วยที่มาตรวจรักษากับทางโรงพยาบาลทั่วไปและโรงพยาบาลจิตเวชมี 650,000 คน และที่อาการน่าเป็นห่วงถึงขั้นคลุ้มคลั่งมีมากถึง 65,000 คน และที่น่าเป็นห่วงคือปัจจุบันมีหลายครอบครัวที่มีผู้ป่วยโรคจิตอาศัยอยู่ร่วมชายคาอยู่ด้วย!!

ที่เป็นเช่นนั้นเพราะบางรายอาการยังไม่แสดงออกอย่างชัดเจน แต่ถ้าอยากทราบว่าคนในครอบครัวมีอาการบ่งบอกว่าเป็นโรคจิตหรือไม่ นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต แนะนำวิธีการสังเกตง่ายๆคือ ดูจากอาการผิดปกติอย่างก่อนหน้านี้เป็นคนสดใสร่าเริง แต่กลับมีพฤติกรรมแปลกๆ เช่น นอนไม่หลับ เดินไปเดินมา พูดคนเดียว หวาดระแวง เก็บตัว ไม่สุงสิงกับใคร นั่งนิ่งเป็นหิน ไม่เคลื่อนไหว และไม่พูดจาใดๆ เป็นชั่วโมง หรืออาจเคลื่อนไหวช้า มีอาการประสาทหลอน คิดว่ามีบางสิ่งบางอย่างเกิดขึ้น เช่น ได้ยินเสียงคนมาสั่งให้ตนทำโน่นทำนี่ ได้ยินคนมาพูดคุยกับตน มาเตือน หรือมาตำหนิในเรื่องต่างๆ ทั้งที่ความจริงไม่มีคนพูดหรือไม่มีต้นกำเนิดเสียงเหล่านี้เลย

"ผู้ป่วยจะไม่สามารถคิดแบบมีเหตุมีผลได้อย่างต่อเนื่อง พูดคุยกับคนอื่นไม่ค่อยเข้าใจ ซึ่งส่งผลให้ผู้ป่วยถูกแยกให้อยู่คนเดียว บางครั้งมีการแสดงทางอารมณ์ที่ไม่เหมาะสม มีอารมณ์แปรปรวนง่าย บ่นอยากตาย เหล่านี้ล้วนเป็นสัญญาณว่าเขาน่าจะมีปัญหาทางด้านสุขภาพจิตเกิดขึ้นแล้ว และควรพาไปพบจิตแพทย์เพื่อทำการตรวจ วินิจฉัยและให้การรักษาทันที"

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าเป็นห่วงมากกว่านั้นคือ การแสดงพฤติกรรมรุนแรง หรือมีความเสี่ยงต่อการใช้ความรุนแรงของผู้ป่วยโรคจิตทั้งต่อตนเอง ผู้อื่น หรือทำลายทรัพย์สิน ทำให้สังคมหรือไม่แต่ครอบครัว ปฏิเสธและหวาดกลัวที่จะอยู่ร่วมกับผู้ป่วย ทั้งที่ญาติหรือผู้ดูแลมีบทบาทสำคัญอย่างมากในการดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด และต้องเฝ้าระวังอย่าให้มีการกระตุ้นอารมณ์หรือความคิดของผู้ป่วยจนขาดการควบคุมตนเอง

นพ.วชิระ กล่าวว่า หากมีความรู้ ทักษะในการประเมินอาการ สัญญาณเตือนความเสี่ยงและสามารถจัดการพฤติกรรมรุนแรงเบื้องต้นของผู้ป่วยขณะอยู่บ้านหรือในชุมชนได้ ก็จะช่วยลดพฤติกรรมรุนแรงของผู้ป่วยจิตเวช และเป็นการปกป้องครอบครัวและชุมชนให้ปลอดภัยยิ่งขึ้น และช่วยให้ผู้ป่วยมีโอกาสใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีคุณภาพ ผู้ป่วย ญาติ และผู้ดูแลมีความปลอดภัย และมีโอกาสได้ฟื้นฟูสมรรถภาพทั้งด้านร่างกาย สังคม จิตใจ และอาชีพ เพื่อเพิ่มความสามารถในการดูแลตนเอง และดำเนินชีวิตอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้เช่นเดียวกับบุคคลทั่วไป

นอกเหนือจากการรักษาแล้ว นพ.วชิระ ยังกล่าวด้วยว่า สังคมหรือคนปกติทั่วไปควรมีมุมมองหรือทัศนคติที่ถูกต้องต่อผู้ป่วย รวมถึงการให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยและครอบครัว เพื่อช่วยสนับสนุนให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดี อยู่ในสังคมอย่างปกติสุข และเพื่อป้องกันไม่ให้เราต้องเผชิญกับปัญหาสุขภาพจิต หรือโรคทางจิตเวช จึงควรฝึกสำรวจจิตใจตนเอง โดยหมั่นทำความเข้าใจอารมณ์ของตนเอง รู้เท่าทันอารมณ์ที่เกิดขึ้น ยอมรับความเครียดที่เกิดขึ้น และหาวิธีจัดการกับความเครียดนั้น รวมถึงการพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ขอคำแนะนำ เพื่อป้องกันไม่ให้ความเครียดส่งผลกระทบต่อโรคทางกาย และเพื่อป้องกันไม่ให้เจ็บป่วยด้วยโรคทางจิตใจซ้ำเติมอีกด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น