จิตแพทย์เผยชาวบ้าน 3 จังหวัดชายแดนใต้ป่วยโรคเครียดจากเหตุรุนแรงมากถึง 10% ซึมเศร้า 2% แต่เข้ารับบริการด้านจิตเวชเพียง 2.4% เหตุเริ่มชินกับสถานการณ์และมีข้อจำกัดการเดินทาง แนะอยู่อย่างมีความหวัง ด้านกรมสุขภาพจิตส่งทีมแพทย์ พยาบาล นักจิตวิทยาลงพื้นที่ดูแลผู้ป่วยแบบถึงบ้าน พร้อมเปิดบริการผู้ป่วยในใน รพศ. หวังเพิ่มการเข้าถึงบริการ
นพ.ดำรง แวอาลี จิตแพทย์ประจำโรงพยาบาลยะลา เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีข่าวที่เกี่ยวข้องกับจิตเวชตามสื่อมวลชนเป็นจำนวนมาก แต่อัตราการเข้าถึงบริการของคนไข้จิตเวชยังคงน้อยอยู่ ซึ่งในปี 2547-2549 มีเพียง 3.34% เท่านั้น แม้ในช่วงปี 2550-2555 การเข้าถึงบริการจะเพิ่มขึ้นแต่ยังคงไม่มาก โดยเฉพาะในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มีการเข้าถึงบริการเพียง 2.4% เท่านั้น ทั้งที่ประชาชนกว่า 10% เป็นโรคเครียดจากเหตุการณ์ร้ายแรง (Post Traumatic Stress Disorder : PTSD) อันเนื่องมาจากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ ทั้งการทำร้ายครู ทหาร วางระเบิดในพื้นที่ชุมชน จนทำให้ประชาชนมีความกลัว กังวล และรู้สึกไม่มั่นคงปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์ แต่ที่มีการเข้าถึงบริการน้อยเพราะประชาชนบางส่วนสามารถปรับตัวต่อสถานการณ์ได้แล้ว บางส่วนมีปัญหาในเรื่องของการเดินทางมาเข้ารับบริการเนื่องจากอยู่ในพื้นที่เสี่ยง และปัญหาการส่งต่อรับกลับผู้ป่วยของระหว่างโรงพยาบาล อย่างไรก็ตาม นอกจากโรค PTSD แล้ว ประชาชนอีก 1-2% ยังประสบปัญหาภาวะซึมเศร้าด้วย
“เหตุการณ์ความรุนแรงในพื้นที่จะส่งผลกระทบต่อจิตใจของเด็กและเยาวชนมากกว่าผู้ใหญ่ ทำให้เกิดอาการหวาดผวา พ่อแม่ผู้ปกครองจำเป็นที่จะต้องปรับสภาพจิตใจของตัวเองให้เข้มแข็งก่อน เพื่อให้อยู่กับสถานการณ์ความรุนแรงตรงนี้ให้ได้ โดยต้องปรับตัวในการใช้ชีวิต ปรับวิธีคิดต่างๆ ต้องอยู่ด้วยความหวัง อยู่อย่างมีกำลังใจ โดยเฉพาะคนมีปัญหาสุขภาพจิตต้องทำกิจกรรมทางสังคมให้มากขึ้น เมื่อมีจิตใจที่เข้มแข็งแล้วจึงจะสามารถพูดแต่สิ่งดีๆให้ลูกเข้าใจและคลายความหวาดผวาลงไปได้” จิตแพทย รพ.ยะลากล่าว
นพ.ดำรงกล่าวอีกว่า นอกจากนี้ พ่อแม่ยังต้องคอยสังเกตพฤติกรรมที่มีปัญหาของลูกด้วยว่าสิ่งที่เขากำลังแสดงออก เขาต้องการสื่ออะไร ต้องทำความเข้าใจลูก รับฟังลูก ให้ลูกได้มีโอกาสแสดงความคิด พูดคุย มีเพื่อนทางสังคม ให้ความรัก ความอบอุ่น และใกล้ชิดกับลูก ก็จะช่วยให้เด็กมีกำลังใจที่ดีในการดำเนินชีวิตในพื้นที่ที่มีความรุนแรงได้
นพ.ดำรงกล่าวด้วยว่า สำหรับปัญหาการเข้าถึงบริการจิตเวชน้อยในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ได้อาศัยเครือข่ายบริการจิตเวชในการแก้ปัญหา โดย รพ.แม่ข่ายจะสนับสนุนการดูแลรักษา การส่งต่อคนไข้ที่มีอาการรุนแรง ส่วน รพ.ลูกข่ายจะเน้นการดูแลเยี่ยมบ้านผู้ป่วยและค้นหาผู้ป่วยรายใหม่ ซึ่งจะมีทีมสุขภาพจิต ประกอบด้วย แพทย์ พยาบาล และนักจิตวิทยา ในการไปเยี่ยมบ้านผู้ป่วยให้มีการดูแลอย่างต่อเนื่องหลังจากเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล คอยประเมินสุขภาพจิตผู้ป่วย ดูแลสภาพจิตใจ การปรับตัวปรับวิธีคิด รวมไปถึงเรื่องของการใช้ยา และคอยค้นหาผู้ป่วยรายใหม่ เพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการจิตเวชให้มากขึ้น
ด้าน นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ปัญหาการเข้าถึงบริการจิตเวชน้อยในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น กรมสุขภาพจิตได้แก้ปัญหาด้วยการเพิ่มกำลังคนทางด้านจิตเวชในโรงพยาบาลรัฐทั้งหมด 37 แห่งในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้และ 4 อำเภอใน จ.สงขลา เช่น เพิ่มจำนวนนักจิตวิทยาให้เป็น 2 คนต่อโรงพยาบาล 1 แห่ง มีการอบรมแพทย์และพยาบาลเพิ่มเติมในด้านจิตเวช ส่วนการดำเนินงานจะหันมาทำในเชิงรุก โดยให้ทีมจิตสุขภาพจิตลงพื้นที่เยี่ยมบ้านผู้ป่วย ขณะที่ระดับโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป มีการเปิดบริการผู้ป่วยในด้านจิตเวช เนื่องจากการส่งต่อผู้ป่วยไปยัง รพ.สงขลา ซึ่งเป็นรพ.แม่ข่าย อาจมีข้อจำกัดในเรื่องความปลอดภัยในการเดินทาง ซึ่งขณะนี้ รพ.ยะลา และรพ.นราธิวาส สามารถบริการผู้ป่วยในด้านจิตเวชได้แล้ว โดยอนาคตจะเปิดให้บริการใน รพ.ปัตตานีด้วย
นพ.วชิระกล่าวอีกว่า จากการดำเนินงานดังกล่าวส่งผลให้อัตราการเข้าถึงบริการจิตเวชเพิ่มขึ้น เพราะการส่งต่อผู้ป่วยจิตเวชมายัง รพ.สงขลา ลดลง เนื่องจาก รพศ.ทำหน้าที่ได้ดีขึ้น มีผู้ป่วยจิตเวชเข้ารับบริการเป็นผู้ป่วยในใน รพ.ยะลามากขึ้น ขณะที่ภาวะซึมเศร้า การฆ่าตัวตายในพื้นที่ทรงตัว ส่วนการดูแลเยียวยาจิตใจผู้สูญเสียสมาชิกในครอบครัวจากเหตุการณ์ความรุนแรงสามารถทำได้ครอบคลุมเกือบ 100%