xs
xsm
sm
md
lg

หมอจิตคาดเครียดสะสมปมเหตุเด็กวัย 14 ฆ่าแม่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

จิตแพทย์คาด ด.ช.แบงก์ ฆ่าแม่ มีอาการคล้ายโรคซึมเศร้า ต้องรอตรวจสภาพจิตใจก่อนจึงระบุสาเหตุได้ ส่วนปมสังหารอาจเกิดจากความเครียดสะสม แนะแต่ละครอบครัวพูดคุยสื่อสารความต้องการให้มากขึ้น ช่วยแก้ปัญหาได้ ด้านอธิบดีกรมสุขภาพจิต ชี้ วัยรุ่นบันดาลโทสะง่าย ผู้ใหญ่ต้องใช้หลักโคนันทวิสาล มีเมตตา และท่าทีเป็นมิตร
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
นพ.ทวี ตั้งเสรี รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวถึงกรณี ด.ช.แบงก์ (นามสมมติ) อายุ 14 ปี ใช้อาวุธมีดสปาต้าแทงนางอริยา เกสดี ผู้เป็นมารดาเสียชีวิต และ น.ส.กาญจนาพร เกสดี พี่สาว จนได้รับบาดเจ็บ หลังถูกมารดาต่อว่าเรื่องเล่นคอมพิวเตอร์ และไล่ให้ไปนอนจนก่อเหตุสลดขึ้น ว่า ขณะนี้ทราบว่าตำรวจกำลังส่ง ด.ช.แบงก์ ไปตรวจสอบสภาพจิตใจอีกครั้ง แต่ไม่ทราบว่าจะส่งมาตรวจที่โรงพยาบาลจิตเวชในสังกัดกรมสุขภาพจิตหรือไม่ แต่การตรวจสอบสภาพจิตใจเด็กถือเป็นเรื่องดี เนื่องจากจิตแพทย์จะสามารถระบุได้ว่า เด็กมีอาการป่วยทางจิตหรือไม่ จะได้ดำเนินการช่วยเหลือเยียวยาสภาพจิตใจต่อไป เพราะการที่เด็กลุกขึ้นมาหยิบมีดมาไล่ฆ่าแม่ได้ ถือว่าผิดปกติ ยิ่งหลังเกิดเหตุเด็กยังคงมีอาการเซื่องซึมไม่พูดอะไรมาก อาจวิเคราะห์สาเหตุได้ใน 2 กรณี คือ 1.เกิดจากโรคซึมเศร้าอยู่แล้ว ซึ่งอาการเด่นชัดของโรคนี้ คือ อาการหงุดหงิด ก้าวร้าว อารมณ์เศร้า และ 2.เกิดจากความรู้สึกผิดหรือสำนึกที่ทำร้ายมารดาจนถึงแก่ชีวิต

เท่าที่ติดตามจากข่าว อาการของ ด.ช.แบงก์ น่าจะเป็นลักษณะของความเครียดที่สะสมมากๆ เข้า เมื่อถึงจุดหนึ่งจึงเกิดการระเบิดขึ้นมาจนมีความรุนแรงตามที่เป็นข่าว อย่างไรก็ตาม เมื่อส่งต่อเด็กไปตรวจสภาพจิตใจแล้ว จิตแพทย์จะมีการตรวจวิเคราะห์ที่แน่ชัด พร้อมสืบประวัติต่างๆเพิ่มขึ้นว่าเป็นการป่วยทางจิตหรือไม่ ส่วนกรณีที่พ่อเด็กเปิดเผยว่าตอนเด็ก ด.ช.แบงก์ มีอาการคล้ายเด็กพิการทางสมองแต่ไปรักษาแล้วก็ไม่มีอาการอีกนั้น มีแนวโน้มว่าอาจไม่เกี่ยวข้องกันกับเหตุสลดที่เกิดขึ้น” รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว

นพ.ทวี กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ หากผลการตรวจสภาพจิตใจของเด็กออกมาแล้วพบว่าป่วยทางจิตเวช หากเป็นอาการวิกลจริตก็จะเข้าข่ายมาตรา 65 ตามประมวลกฎหมายอาญา ที่ไม่ต้องรับโทษสำหรับความผิดนั้น แต่หากเป็นอาการซึมเศร้าหรือยังมีความรู้ผิดชอบอยู่บ้าง ขึ้นอยู่กับศาลจะพิจารณาความผิด

นพ.ทวี กล่าวด้วยว่า ปัจจุบันนี้แต่ละครอบครัวมีการสร้างความสัมพันธ์ต่อกัน พูดคุยสื่อสาร แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันน้อยลง เมื่อมีความเครียดหรือไม่สบายใจก็ไม่มีการพูดคุยทำความเข้าใจกัน เป็นบ่อเกิดของความเครียดสะสม โดยเฉพาะเด็กหรือลูกที่ไม่ค่อยได้คุย หรือสื่อสารกับพ่อแม่เท่าที่ควร อย่างกรณี ด.ช.แบงก์ถูกแม่ตักเตือนให้เลิกเล่นคอมพิวเตอร์มากๆ เข้าจนเกิดอาการโมโหลุกขึ้นมาเอามีดไล่แทงฟันนั้น เพราะลูกไม่เข้าใจแม่ คิดว่าแม่ไม่รักจึงถูกว่ากล่าวตักเตือนเสมอ ตรงนี้ต้องแก้ด้วยการพูดคุยทำความเข้าใจกันอย่างสม่ำเสมอ

“กรณีการเล่นคอมพิวเตอร์นั้น พ่อแม่ลูกควรมีการพูดคุยทำข้อตกลงกันว่า แต่ละวันจะเล่นได้กี่ชั่วโมง เมื่อเล่นครบแล้วควรไปทำกิจกรรมอย่างอื่นบ้าง ซึ่งตรงนี้ต้องอาศัยการพูดคุยกันในครอบครัวบ่อยๆ จึงจะสามารถมีข้อตกลงที่เข้มแข็งได้ และเมื่อพูดคุยสื่อสารความต้องการกันมากๆ ก็จะเป็นการช่วยลดความเครียดสะสมภายในครอบครัวด้วย” นพ.ทวี กล่าว

ด้าน นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ตามทฤษฎีด้านสุขภาพจิตเด็ก วัยรุ่นมีแนวโน้มก้าวร้าวมากกว่าเด็กและผู้ใหญ่ เพราะเป็นช่วงรอยต่อของวัย และมีฮอร์โมนต่างๆ พลุ่งพล่านในร่างกาย ทั้งฮอร์โมนเพศ และฮอร์โมนการเจริญเติบโต พื้นฐานของวัยรุ่นจึงมีความแรงอยู่ในตัว ประกอบกับบุคลิกจากการอบรมเลี้ยงดู สติปัญญา อารมณ์ และความคิด อาจทำให้เกิดความรุนแรง โมโหร้าย ตัดสินใจผิดพลาด ส่วนสภาพแวดล้อมภายในครอบครัว ชุมชน หรือสื่อที่มีความรุนแรง ล้วนเป็นสิ่งยั่วยุหรือเร้าให้เกิดความรุนแรง

“หากวัยรุ่นหมกมุ่นกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งแล้วมีคนมาต่อว่าหรือขัดขวาง ส่วนใหญ่จะควบคุมอารมณ์ตนเองได้ แต่อาจมีอาการฟุดฟัดบ้างเป็นเรื่องปกติ ส่วนกรณี ด.ช.แบงก์ อาจต้องมีการพิจารณาเพิ่มเติมว่ามีอะไรเกิดขึ้นภายในจิตใจเป็นพิเศษหรือไม่ อย่างไรก็ตาม การสอบสวนเด็กและวัยรุ่นตามกฎหมายจะมีนักจิตวิทยาและนักสังคมสงเคราะห์เข้าร่วมด้วย เพื่อช่วยประเมินสภาพจิตใจเด็กได้มากขึ้น” อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว

นพ.วชิระ กล่าวอีกว่า หากพ่อแม่ผู้ปกครองจะห้ามปราม หรือแนะนำสิ่งใดกับบุตรหลาน ควรใช้หลักโคนันทวิสาล เน้นท่าทางที่เป็นมิตร มีความเมตตา ไม่ใช้วาจาที่อาจยั่วยุให้อารมณ์รุนแรงขึ้น ซึ่งผู้ใหญ่รู้จักหักห้ามใจได้มากกว่าเด็กและวัยรุ่น จึงไม่ควรกระทำการด้วยวาจาหรือท่าทางที่รุนแรง นอกจากนี้ ควรสังเกตบุตรหลานด้วยว่ามีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการก่อความรุนแรงหรือไม่ เช่น ไม่ค่อยสนใจดูแลตนเอง เก็บกด ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด
กำลังโหลดความคิดเห็น