xs
xsm
sm
md
lg

กรมสุขภาพจิตเผยวัยรุ่นส่วนใหญ่ฆ่าตัวตายเพราะอารมณ์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กรมสุขภาพจิต เผยปัญหาการฆ่าตัวตายในไทยมีอัตรา 6 ต่อแสนประชากร ย้ำ ส่วนมากยังเป็นวัยรุ่น ทำเพราะอารมณ์หุนหัน ชี้สถานการณ์ยังปกติ วอนสื่ออย่ารายงานแบบชี้นำ

วันนี้ (11 ก.ค.) นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข กล่าวในการแถลงข่าวเรื่อง ปัญหาการฆ่าตัวตาย ว่า ที่ผ่านมา สถานการณ์ฆ่าตัวตายเป็นปัญหาสังคมที่สำคัญ ทุกประเทศทั่วโลก ซึ่งองค์การอนามัยโลก(WHO) ประมาณการว่า ในแต่ละปี มีผู้ฆ่าตัวตายสำเร็จมากกว่า 1 ล้านคน คิดเฉลี่ยมีผู้ฆ่าตัวตายสำเร็จ 1 คน ในทุก 40 วินาที ส่งผลกระทบต่อจิตใจของครอบครัว และผู้คนรอบข้างของผู้ตายอีกประมาณ 10-20 ล้านคน ในแต่ละปี รวมทั้งส่งผลเสียหายทางเศรษฐกิจมูลค่ามหาศาล สำหรับประเทศไทย ปี 2542 เป็นปีที่มีอัตราการฆ่าตัวตายสูงสุด 8.59 ต่อประชากรแสนคน

นพ.เกียรติภูมิ กล่าวต่อว่า สำหรับปีนี้ช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา ข่าวการฆ่าตัวตายในแต่ละเดือนจะอยู่ระหว่าง 11-25 ราย ส่วนใหญ่อยู่ที่เดือนละ 23-25 ราย ขณะที่ รพ.จิตเวชขอนแก่น มีการรายงานข่าวช่วงปี 2551-2553 เกี่ยวกับสถานการณ์การฆ่าตัวตายว่า ปี 2551 มีรายงานการฆ่าตัวตาย 188 ราย ปี 2552 มีจำนวน 203 ราย และ ปี 2553 มีจำนวน 215 ราย โดยส่วนมากเป็นวัยรุ่น อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบสถิติผู้ที่ฆ่าตัวตายในรอบปีที่ผ่านมา จะพบว่า ไม่ได้มีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นแต่อย่างใด โดยเฉลี่ยอัตราการฆ่าตัวตายอยู่ 6 ต่อแสนประชากร แต่ที่เป็นข่าวเพราะคนที่ฆ่าตัวตายเป็นบุคคลที่มีหน้าที่การงานดี

ซึ่งจะมีลักษณะกะทันหันมากกว่าจากปัญหาสุขภาพจิต เมื่อประสบวิกฤติ เช่น การเรียน สัมพันธภาพ หรือการทำงานก็อาจนำไปสู่การฆ่าตัวตายได้ ทั้งนี้สำหรับกลุ่มเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายยังคงมีในกลุ่มที่มีอาการป่วยโรคซึมเศร้า ผู้มีปัญหาสุรา ยาเสพติด ผู้ป่วยโรคจิต และผู้ป่วยโรคเรื้อรังทางกาย ซึ่งหากกลุ่มเหล่านี้มีการดูแลตนเอง และการดูแลจากครอบครัวดีจะลดการฆ่าตัวตายได้” นพ.เกียรติภูมิ กล่าว

นพ.เกียรติภูมิ กล่าวต่อว่า ในกลุ่มคนที่ฆ่าตัวตายมักมีสัญญาณเตือน เช่น พูดบ่นว่าอยากตาย ท้อแท้ ไม่อยากเป็นภาระ เขียนจดหมาย ลาตาย เคยพยายามฆ่าตัวตาย มีความคิดฆ่าตัวตาย มีการสั่งเสีย ทั้งนี้ แต่ละกลุ่มจะมีสัญญาณเตือนแตกต่างกัน เช่น กลุ่มวัยรุ่น มักจะเขียนจดหมาย หรือโทรศัพท์ ขณะที่วัยผู้ใหญ่ มักจะเก็บตัวหรือพูดบ่นอยากตาย นอกจากนี้ ร้อยละ 9.1 ของผู้ฆ่าตัวตาย ระบุว่า ได้มีการทะเลาะเบาะแว้งกับบุคคลใกล้ชิดก่อนตัดสินใจทำร้ายตนเอง ซึ่งเพศชายมักแสดงสัญญาณเตือนทางพฤติกรรม ท่าทาง ขณะที่ผู้หญิงจะแสดงสัญญาณเตือนทางคำพูด ถ้าหากญาติสังเกตเห็นหรือบุคคลนั้นมีโอกาสพูดคุยหรือรับคำปรึกษาก็จะสามารถป้องกันการฆ่าตัวตายได้ เพราะมากกว่า ร้อยละ 37.9 ของผู้ฆ่าตัวตายจะส่งสัญญาณเตือนนี้ไปหาบุคคลใกล้ชิด (ภรรยา บุตร) ขณะที่ ร้อยละ 2.3 เพื่อนร่วมงานจะเป็นกลุ่มที่ได้รับสัญญาณเตือน

รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวด้วยว่า ปัญหาที่เป็นอยู่ในขณะนี้ เชื่อว่า สื่อมวลชนมีส่วนช่วยลดได้ โดยพยายามหลีกเลี่ยงการพาดหัวข่าวที่แนะนำวิธีการฆ่าตัวตาย ซึ่งในต่างประเทศเคยมีการออกกฎหมายถึงขั้น สื่อเสนอได้แค่เนื้อหารายงานสถานการณ์ แต่ห้ามใช้รูปภาพที่ดูโหดร้าย หรือชี้นำ หรือหากใช้ประกอบก็ควรใช้เป็นรูปภาพที่สื่อลักษณะบุคคลเท่านั้น ไม่ใช่ลักษณะการฆ่าตัวตาย ทั้งนี้ จึงอยากวอนสื่อมวลชนสื่อสารข่าวด้วยการไม่ใช้ภาษาที่ทำให้เห็นว่าการฆ่าตัวตายเป็นเรื่องปกติ หรือเป็นทางออกของปัญหาชีวิต ไม่เสนอภาพข่าวซ้ำบ่อยๆ ไม่พรรณนาถึงวิธีการฆ่าตัวตายอย่างละเอียด ไม่ละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัวของครอบครัว
กำลังโหลดความคิดเห็น