xs
xsm
sm
md
lg

รอบรู้โรคภัย : รับมือ... "ไบโพลาร์" โรคของคนอารมณ์ 2 ขั้ว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


โลกเราทุกวันนี้มีแต่การแข่งขัน แก่งแย่งกันตลอดเวลา จนทำให้คนเราเกิดความเครียดได้ง่าย และนำมาซึ่งโรคต่างๆ ทางจิตเวช อย่างเช่น โรควิตกกังวล ซึมเศร้า ซึ่งพวกเราอาจพอคุ้นหูกันมาบ้างแล้ว ไม่เหมือนอย่างโรคไบโพลาร์ ซึ่งแม้จะไม่ได้เกิดจากความเครียดโดยตรง แต่ความเครียดก็เป็นปัจจัยกระตุ้น เหมือนการกินน้ำตาลมากในผู้ป่วยที่มีพันธุกรรมเบาหวาน

ไบโพลาร์ คือ โรคที่มีความผิดปกติของอารมณ์เป็น 2 ขั้ว มีทั้งช่วงที่อารมณ์ดีหรือก้าวร้าวผิดปกติ (mania) และบางช่วงที่อารมณ์ซึมเศร้าผิดปกติ (depressed) ฉะนั้น เดิมจึงเรียกโรคนี้ว่า manic-depressive disorder แต่บางคนมีอารมณ์ดีหรือก้าวร้าวผิดปกติอย่างเดียว โดยไม่มีอารมณ์ซึมเศร้าก็ได้

โรคนี้พบได้ในประชากรทั่วไปประมาณร้อยละ 3 ซึ่งนับว่าบ่อยทีเดียว พบได้อัตราเท่ากันทั้งหญิงและชาย โดยมักเริ่มมีอาการในช่วงผู้ใหญ่วัยต้น

• ไบโพลาร์เกิดได้อย่างไร

โรคนี้เกิดจากการทำงานที่ผิดปกติของสมอง โดยมีสารสื่อประสาทที่ไม่สมดุล และมีปัจจัยทางพันธุกรรมเกี่ยวข้องค่อนข้างมาก
หากมีคนในครอบครัวเป็นโรคนี้หรือโรคทางจิตเวชอื่น จะมีโอกาสเป็นโรค มากกว่าคนทั่วไป ส่วนสิ่งแวดล้อม เช่น การเลี้ยงดูในวัยเด็ก หรือความเครียด มักเป็นเพียงปัจจัยเสริม

ถ้าปล่อยทิ้งไว้ไม่รักษา อาการต่างๆ อาจดีขึ้นเองในบางคน แต่ต้องใช้เวลานาน และกว่าอาการจะดีขึ้นก็ส่งผลกระทบ มากมายทั้งต่อตัวผู้ป่วยและคนรอบข้าง บางคนก่อหนี้สิน บางคนใช้สารเสพติด ต้องออกจากงานหรือโรงเรียน บางคนทำผิดกฎหมาย ที่รุนแรงที่สุด คือฆ่าตัวตาย หรือทำร้ายผู้อื่น และถ้าเป็นหลายๆ ครั้ง อาการครั้งหลังจะเป็นนานและถี่ขึ้น

• อาการของโรค

มี 2 ช่วง คือ
1. ช่วงที่อารมณ์ซึมเศร้า

• มีอาการเบื่อหน่ายท้อแท้ ไม่อยากทำอะไร

• มองทุกอย่างในแง่ลบ

• เรี่ยวแรงลดลง

• มีความคิดอยากตาย ซึ่งมีไม่น้อยที่นำไปสู่การฆ่าตัวตาย

2. ช่วงที่อารมณ์ดีหรือก้าวร้าว

• เชื่อมั่นในตนเองมาก รู้สึกว่าตนมีความสำคัญหรือมีความสามารถมาก

• เรี่ยวแรงเพิ่ม นอนน้อยกว่าปกติ โดยไม่มีอาการเพลีย

• พูดเร็ว พูดมาก หรือพูดไม่ยอมหยุด

• ความคิดแล่นเร็ว มีหลายความคิด เข้ามาในสมอง

• สมาธิลดลง เปลี่ยนเรื่องพูดหรือทำอย่างรวดเร็ว ตอบสนองต่อสิ่งเร้าง่าย ทำให้ไม่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

• มีกิจกรรมมากผิดปกติ อาจเป็นแผนการหรือลงมือกระทำจริงๆ แต่มัก ทำได้ไม่ดี

• การตัดสินใจไม่เหมาะสม เช่น ใช้จ่ายเงินฟุ่มเฟือย ทำเรื่องที่เสี่ยงอันตรายหรือผิดกฎหมาย

• สำส่อนทางเพศ บางคนจะหงุดหงิด ก้าวร้าว จนถึงทะเลาะหรือทำร้าย ร่างกายผู้อื่น รายที่เป็นมากอาจมีอาการของโรคจิตร่วมด้วย

หลายคนอาจสงสัยว่า ในคนปกติก็ต้องมีการขึ้นลงของอารมณ์มากบ้าง น้อยบ้างตามนิสัย แล้วเมื่อไหร่จึงเรียกว่าผิดปกติหรือเป็นโรค

การจะบอกว่าป่วยแน่นอนต้องใช้เกณฑ์การวินิจฉัยจากแพทย์ แต่ทั่วไปเราควรนึกถึงโรคนี้และไปปรึกษาแพทย์เมื่อ

• การขึ้นลงของอารมณ์มากกว่าคนทั่วไป หรือมากกว่าปกติของคนนั้น เป็นเวลาติดต่อกันนาน 4-7 วัน

• มีความผิดปกติของการกินการนอนร่วมด้วย

• กระทบต่อการทำงานหรือความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง

• การรักษา

โดยทั่วไป แพทย์จะให้ยาและคำแนะนำเกี่ยวกับโรคและยา รวมถึงการดูแลตนเองในด้านต่างๆ ควบคู่ไปด้วย ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่จะหายจากอาการใน 2-8 สัปดาห์ และกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้เหมือนก่อนป่วย แต่ในบางรายอาจต้องให้ทำจิตบำบัดร่วมด้วยเพื่อขจัดความเครียด และลดความขัดแย้งกับคนรอบข้างที่เป็นสาเหตุของความเครียด

เนื่องจากโรคนี้เกิดจากสารสื่อประสาทที่ไม่สมดุล จึงต้องใช้ยาที่จะปรับสารสื่อประสาท ปัจจุบันมียาควบคุมอารมณ์หลายชนิดที่มีประสิทธิภาพ ยาในกลุ่มนี้ไม่ใช่ยากล่อมประสาทหรือยานอนหลับ ไม่ทำให้ติดยาเมื่อใช้ในระยะยาว แต่มักต้องใช้เวลา 2-4 สัปดาห์จึงจะเห็นผล

นอกจากยาควบคุมอารมณ์ แพทย์อาจใช้ยากลุ่มอื่นร่วมด้วยเพื่อประสิทธิภาพในการรักษาที่ดีขึ้น ยาทางจิตเวชก็เหมือนกับยาอื่นที่ทุกตัวจะมีผลข้างเคียง แต่อาการและความรุนแรงจะต่างกัน ผลข้างเคียงส่วนใหญ่จะไม่เป็นอันตรายมาก ผู้ป่วยควรได้พูดคุยกับแพทย์เพื่อเลือกยาที่เหมาะสม และปรึกษาแพทย์ ถ้ามีอาการข้างเคียง สำหรับสตรีมีครรภ์และให้นมบุตรควรคุยกับแพทย์ถึงประเด็นเหล่านี้ด้วย

โรคนี้มีอัตราการเป็นซ้ำสูงมากถึง 90% ฉะนั้นโดยทั่วไปหลังจากหายแล้ว แพทย์มักแนะนำให้กินยาต่ออย่างน้อย 1 ปี เพื่อป้องกันการกลับเป็นซ้ำ หรืออาจนานกว่านี้ ทั้งนี้ขึ้นกับจำนวนครั้งที่เคยเป็นและความรุนแรงในครั้งก่อนๆ ยาไม่ได้ทำให้สมองเสื่อมลง แต่การป่วยซ้ำหลายๆครั้งทำให้สมองแย่ลงได้

• การปฏิบัติตัว

1. นอนพักผ่อนให้เพียงพอ

2. ดูแลสุขภาพทั่วไป เช่น ออกกำลังกาย มีกิจกรรมที่ช่วยคลายเครียด หลีกเลี่ยงสุรา สารเสพติด

3. กินยาตามแพทย์สั่ง ถ้ามีปัญหาผลข้างเคียงจากยา ควรปรึกษาแพทย์ก่อน ไม่ควรหยุดยาเอง

4. หมั่นสังเกตอารมณ์ของตน เรียนรู้อาการแรกเริ่มของโรค และรีบไปพบแพทย์ก่อนจะมีอาการมาก

5. บอกคนใกล้ชิดถึงอาการเริ่มแรกของโรค ให้ช่วยสังเกตและพาพบแพทย์

การช่วยเหลือผู้ป่วย

1. เข้าใจว่าอารมณ์และพฤติกรรมที่ผิดปกติเป็นการเจ็บป่วย ไม่ใช่นิสัยของผู้ป่วย

2. ช่วยดูแลให้ผู้ป่วยกินยา และปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์

3. สังเกตอารมณ์ของผู้ป่วย เรียนรู้อาการเริ่มแรกของโรค และรีบพาไปพบแพทย์ก่อนที่จะมีอาการมาก

4. ช่วยควบคุมการใช้จ่ายและพฤติกรรมที่เสี่ยงต่ออันตราย ถ้าเห็นว่าผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการอีก

5. เมื่อผู้ป่วยหายจากอาการ ให้กำลังใจในการกลับไปเรียนหรือทำงาน และไม่หยุดยาก่อนปรึกษาแพทย์

สรุปว่าโรคนี้รักษาหายได้ และสามารถกลับไปเรียนหรือทำงานได้ตามเดิม

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 138 มิถุนายน 2555 โดย ผศ.พญ.สุทธิพร เจณณวาสิน ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล)




กำลังโหลดความคิดเห็น