xs
xsm
sm
md
lg

สปสช.ฟุ้ง! เครือข่ายบริการสุขภาพ 6 กลุ่มโรค ช่วยลดอัตราการตาย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สปสช.ฟุ้ง เครือข่ายบริการสุขภาพ 6 กลุ่มโรค ช่วยลดอัตราการตายได้ หลังพบปัญหาผู้ป่วยเข้าถึงบริการน้อย ด้าน สธ.เตรียมอัดความรู้โรงพยาบาลทุกระดับ เน้นการส่งต่อ-รับกลับผู้ป่วย ระหว่างกลุ่ม รพ.แม่ข่าย และลูกข่าย

วันนี้ (17 ธ.ค.) ที่โรงแรมเซ็นทราศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ นพ.วิชัย เทียนถาวร ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวระหว่างเป็นประธานเปิดการประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้และมอบรางวัลเครือข่ายบริการดีเด่น ประจำปี 2555 “จากทศวรรษแห่งการเรียนรู้ สู่ทศวรรษใหม่แห่งการพัฒนาที่ยั่งยืน” ซึ่งจัดโดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และคณะกรรมการพัฒนาระบบบริการตติยภูมิเฉพาะด้าน ว่า ปัญหาสุขภาพปัจจุบันเปลี่ยนจากโรคติดต่อเป็นโรคไม่ติดต่อ อาทิ โรคหัวใจ โรคมะเร็ง โรคหลอดเลือดสมอง เป็นต้น ซึ่งเกิดจากภาวะเสื่อมถอยของร่างกายและพฤติกรรมสุขภาพ ที่สำคัญ เป็นโรคที่อาจเกิดภาวะตายด่วนได้ มีอัตราการตายสูง และมีปัญหาทับซ้อน เช่น ปัญหาการส่งต่อและรับกลับ ดังนั้น การจัดระบบบริการสุขภาพให้ผู้ป่วยเข้าถึงอย่างรวดเร็วจึงเป็นกลไกสำคัญ

“เราได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานวิชาการ สมาคม และราชวิทยาลัยแพทย์เฉพาะทาง จนเกิดเป็นเครือข่ายบริการ ซึ่งปัจจุบันมีเครือข่ายสุขภาพที่สามารถให้บริการที่ซับซ้อน ช่วยให้ผู้ป่วยได้รับบริการอย่างทั่วถึง ทันเวลา และต่อเนื่อง ลดอัตราการเสียชีวิต ความพิการ และช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับประชาชน” นพ.วิชัย กล่าว
ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต
นพ.วิชัย กล่าวอีกว่า สำหรับบทบาทของ สธ.นอกจากจะรณรงค์และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับรู้ถึงการมีเครือข่ายสุขภาพเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการแล้ว จะร่วมมือกับ สปสช.ในการพัฒนาศึกษาองค์ความรู้ให้แก่โรงพยาบาลศูนย์ (รพศ.)/โรงพยาบาลทั่วไป (รพท.) และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) โดยเฉพาะความรู้เรื่องของการส่งต่อ และรับกลับในฐานะที่เป็นโรงพยาบาลแม่ข่ายและลูกข่ายด้วย นอกจากนี้ สธ.จะช่วยสนับสนุนในเรื่องของเทคโนโลยีทางการแพทย์ เพื่อให้การรักษามีคุณภาพมากขึ้น ลดอัตราการตายลง

ด้าน รศ.พญ.ประสบศรี อึ้งถาวร ประธานคณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข สปสช.กล่าวว่า ขณะนี้มีระบบเครือข่ายบริการสุขภาพ 6 กลุ่มโรคด้วยกัน ได้แก่ โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง โรคมะเร็ง การบริการทารกแรกเกิดน้ำหนักน้อย การบริการจิตเวช และการดูแลแบบประคับประคอง ซึ่งเป็นกลุ่มโรคที่มีอัตราการตายสูง มีปัญหาทับซ้อน และคุณภาพการบริการ อาทิ ปัญหาระบบการส่งต่อในระดับต่างๆ การดูแลต่อเนื่องที่หน่วยบริการใกล้บ้าน ผู้ป่วยไม่สามารถเข้าถึงบริการจำเป็น สปสช. คกก.พัฒนาระบบบริการตติยภูมิเฉพาะด้าน และ คกก.ควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข จึงสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาระบบเครือข่ายบริการ 6 กลุ่มโรคดังกล่าว โดยร่วมมือกับหน่วยบริการทั่วประเทศ ทั้งในระดับปฐมภูมิ ทุติยภูมิ และตติยภูมิ ให้มีระบบหน่วยบริการแม่ข่ายและลูกข่าย และพัฒนาการส่งต่อรับกลับผู้ป่วยในเครือข่าย

รศ.พญ.ประสบศรี กล่าวอีกว่า สำหรับผลการพัฒนาเครือข่าย 6 กลุ่มโรคนั้น จากการดำเนินการพัฒนาเครือข่ายโรคหัวใจและหลอดเลือด และโรคหลอดเลือดสมอง ตั้งแต่ปี 2552 พบว่า ที่ผ่านมา มีผู้ป่วยเสียชีวิตเพราะไม่สามารถเข้าถึงยาละลายลิ่มเลือดเป็นจำนวนมาก จึงขยายเครือข่ายบริการที่สามารถให้ยาละลายลิ่มเลือดมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันทั้ง 2 เครือข่ายมีอัตราการได้รับยาละลายลิ่มเลือดทันเวลาเพิ่มมากขึ้นและอัตราการเสียชีวิตลดลง ส่วนเครือข่ายโรคมะเร็ง พบว่า สามารถเข้ารับบริการโรคมะเร็งในทุกจังหวัด โดยเฉพาะเคมีบำบัด มีอัตราการรักษาด้วยยาเคมีบำบัดร้อยละ 90 สำหรับรังสีรักษาสามารถส่งต่อและรอคอยการรักษาไม่เกิน 2 เดือน

“การพัฒนาเครือข่ายทารกแรกเกิดน้ำหนักน้อยนั้น มีการพัฒนาศักยภาพ สนับสนุนอุปกรณ์ และเครือข่ายส่งต่อรับกลับ ซึ่งปัจจุบันมีหน่วยบริการเครือข่าย 855 แห่ง เป็นแม่ข่าย 27 แห่ง และลูกข่าย 828 ส่วนการพัฒนาเครือข่ายจิตเวช มีหน่วยบริการเข้าร่วมเครือข่ายบริการจิตเวชเพิ่มมากขึ้น 593 แห่ง ขณะที่การพัฒนาเครือข่ายการดูแลแบบประคับประคอง มีนโยบายสนับสนุนนำร่องเขตละ 1 แห่ง ซึ่งปี 2555 มี 61 เครือข่าย 584 หน่วยบริการ ครอบคลุมทั่วประเทศ” รศ.พญ.ประสบศรี กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น