xs
xsm
sm
md
lg

“ปู” เปิดนิทรรศการน้ำ ยึดแนวพระราชดำริในหลวง ป้องกันอุทกภัย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“นายกฯ ยิ่งลักษณ์” เปิดนิทรรศการน้ำ เผย 4 แผนบริหารจัดการน้ำ รับมืออุทกภัย ยืนยันยึดแนวพระราชดำริในหลวง “น้ำต้องมีที่อยู่ และที่ไป” เป็นหลักในการปฏิบัติ








ที่ห้องบางกอกคอนเวนชัน ชั้น 5 ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล พลาซา ลาดพร้าว วันนี้ (31 ส.ค.) น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานพิธีเปิดนิทรรศการการบริหารจัดการน้ำของรัฐบาลปี 2555 ภายใต้ชื่อ “มุ่งมั่นทำงาน บริหารจัดการน้ำเพื่อประชาชน” โดยมีรัฐมนตรี อาทิ นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.มหาดไทย นายปลอดประสพ สุรัสวดี รมว.วิทยาศาสตร์ฯ นายธีระ วงศ์สมุทร รมว.เกษตรและสหกรณ์ นายชัชชาติ สิทธิ์พันธ์ รมช.คมนาคม คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) และข้าราชการระดับสูงจากหน่วยงานต่างๆ คณะทูตานุทูต ภาคเอกชน เข้าร่วมจำนวนมาก

นายกรัฐมนตรีกล่าวเปิดงานตอนหนึ่งว่า ประสบการณ์วิกฤติมหาอุทกภัยในปีที่ผ่านมาทุกคนคงทราบดี แต่ด้วยความร่วมมือร่วมใจ สละรวมพลังกันทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาชน รวมถึงสื่อมวลชน ทำให้เราผ่านวิกฤติไปได้ ซึ่งรัฐบาลได้นำประสบการณ์ของปีที่ผ่านมา มาปรับปรุงแก้ไข เพื่อเตรียมการรับมือกับอุทกภัยที่อาจเกิดขึ้นในปีนี้ และเตรียมแผนในระยะยาว โดยน้อมนำแนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาปฏิบัติ คือต้องเข้าใจธรรมชาติของน้ำว่า น้ำต้องมีที่อยู่ และมีที่ไป ประชาชนต้องได้รับการดูแลอย่างทั่วถึง เป็นธรรม และปลอดภัย

น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า แผนบริหารจัดการน้ำของรัฐบาลแบ่งเป็น 4 ส่วน คือ 1. การป้องกัน โดยพื้นที่ต้นน้ำ เช่น เน้นชะลอการไหลของน้ำด้วยการปลูกป่า สร้างฝาย การปลูกหญ้าแฝก ส่วนพื้นที่กลางน้ำ มีทั้งการบริหารน้ำในเขื่อนให้เหมาะสม รักษาระดับไว้ที่ร้อยละ 50 เตรียมพื้นที่รับน้ำนอง 2.1 ล้านไร่ ปรับปรุงซ่อมแซมประตูระบายประตูระบายน้ำต่างๆ ขณะที่พื้นที่ปลายน้ำ เน้นการขุดลอกคูคลองเพื่อให้น้ำไหลลงสู่ทะเลเร็วขึ้น เสริมถนนเพิ่มแนวคันกั้นน้ำเป็น 3 ชั้น จากเดิมมีเพียง 1 ชั้น เพื่อปกป้องนิคมอุตสาหกรรมและเขตเศรษฐกิจ

2. การเตรียมพร้อม บูรณาการสร้างคลังข้อมูลแห่งชาติ ให้สั่งการจุดเดียว ทำแบบจำลอง วิเคราะห์ข้อมูล และวางระบบขั้นตอนการเตือนภัยทั้งในภาวะปกติและวิกฤต 3. การรับมือ มีการยกระดับและเตรียมแผนเผชิญเหตุทั้งเจ้าหน้าที่และอุปกรณ์ และ 4. การฟื้นฟูเยียวยา โดยกำหนดหลักเกณฑ์และสิทธิในการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยทุกกรณี นอกจากนี้ในการแก้ปัญหาระยะยาวนั้น รัฐบาลยังได้อนุมัติ พ.ร.ก.กู้เงิน 3.5 แสนล้านบาทเพื่อแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการเชิญชวนผู้สนใจยื่นคุณสมบัติเพื่อจัดทำแนวคิด ยืนยันว่าการคัดเลือกจะเป็นไปอย่างโปร่งใส เป็นธรรม และเป็นไปตามระเบียบราชการและกฎหมายโดยคำนึงถึงประโยชน์ของประเทศเป็นสำคัญ








กำลังโหลดความคิดเห็น