xs
xsm
sm
md
lg

“ปลอดประสพ” มั่นใจปล่อยน้ำเข้ากรุงแค่จิ๊บๆ ปภ.เผย 2 จว.อีสานเจอภัยแล้ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายปลอดประสพ สุรัสวดี รมว.วิทยาศาสตร์ (ภาพจากแฟ้ม)
รมว.วิทยาศาสตร์ ยืนยันการปล่อยน้ำเข้ากรุงทดสอบระบบระบายน้ำไม่สร้างความเดือดร้อน อ้างปล่อยน้ำไม่เกิน 20 ลบ.ม.ต่อวินาที เตรียมทุ่มงบ 10 ล้าน ศึกษาขุดลอกบึงสีไฟ พิจิตร ทำแก้มลิงถาวร อีกด้านรัฐบาลตั้งคณะอนุกรรมการ 6 คณะดูแลครอบคลุมภัยพิบัติ อธิบดี ปภ.เผยภัยแล้งเกิดขึ้นเฉพาะภาคอีสาน ชัยภูมิ-สารคาม กระทบ 2.5 ล้านไร่


 คลิกที่นี่ เพื่อฟัง"นายปลอดประสพ สุรัสวดี"ให้สัมภาษณ์  

วันนี้ (30 ส.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายปลอดประสพ สุรัสวดี รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) กล่าวว่า ในวันที่ 5 และ 7 ก.ย.นี้ จะทดสอบระบบการระบายน้ำผ่านคลองสำคัญในพื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) โดยจะไม่สร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนที่อาศัยอยู่ริมตลิ่ง เนื่องจากเป็นการระบายน้ำที่ไม่เกิน 20 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ของศักยภาพลำคลองที่รองรับได้ และได้หารือกับผู้บริหาร กทม. ที่ดูแลเรื่องน้ำ ที่สำคัญในแผนดังกล่าว ซึ่งเป็นการเตรียมการโดยกรมชลประทาน ที่จะปล่อยน้ำจากจังหวัดชัยนาท และที่สำคัญไม่ได้ปล่อยน้ำจนเต็มเขื่อน จึงอยากขอให้พี่น้องประชาชนสบายใจ

ทั้งนี้ ในวันที่ 6 ก.ย.จะมีการพิจารณาโครงการขุดลอกบึงสีไฟ จ.พิจิตร โดยจะมีการอนุมัติงบประมาณ 10 ล้านบาท เพื่อการศึกษาและสำรวจลำน้ำ เพื่อนำไปสู่การบูรณะและขุดลอกเป็นแก้มลิงถาวร อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา กบอ.ได้อนุมัติงบให้กับโครงการดังกล่าวไป 2 วงเงิน โดยวงเงินแรกเป็นเงินจำนวน 50 ล้านบาท ซึ่งอนุมัติให้กับกรมทรัพยากรน้ำ และวงเงินที่สองจำนวน 97 ล้านบาทให้แก่จังหวัด เพื่อดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาล ซึ่งงบทั้งหมดอยู่ในวงเงิน 1.2 แสนล้านลบบาท และจากนี้ไปกรอบวงเงินกู้ 3.5 แสนล้านบาท ทางรัฐบาลจะให้เหลือ 3 แสนล้านบาท ตามกรอบทีโออาร์ ที่ให้เอกชนเข้ามาเสนอโครงการการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ ส่วนที่เหลือ 5 หมื่นล้านนั้น เว้นไว้เฉพาะโครงการที่เร่งด่วนและจำเป็นเท่านั้น เช่น 3 โครงการที่มีมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 29 ส.ค.เห็นชอบ เช่น การย้ายประตูระบายน้ำจุฬาลงกรณ์ การทำระบบไซฟ่อนประตูระบายน้ำบางโฉมศรี และทำเขื่อนล้อมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต เป็นต้น

อีกด้านหนึ่ง น.ส.ศันสนีย์ นาคพงศ์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และนายวิบูลย์ สงวนพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กล่าวแถลงถึงผลการประชุมการติดตามและป้องกันสาธารณภัยในวันนี้ โดยมี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานว่า ในการประชุมมีสาระสำคัญ 3 ประเด็น คือ 1. การจัดนิทรรศการมุ่งมั่นทำงานบริหารจัดการน้ำเพื่อประชาชน ในวันที่ 31 ส.ค. ถึง 2 ก.ย. ที่ห้องบางกอกคอนเวนชัน ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าว โดยภายในงานนิทรรศการดังกล่าว จะแสดงถึงการบริหารการจัดการน้ำ ซึ่งจะนำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นปีที่แล้ว มาเป็นตัวตั้งในการจัดงานนิทรรศการ 2. ปภ.แจ้งว่านายกรัฐมนตรีให้มีการจัดซ้อมแผนเผชิญเหตุในพื้นที่ ซึ่งได้สั่งการตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เพื่อเตรียมความพร้อมให้ประชาชนรับมือกับอุทกภัยที่อาจจะเกิดขึ้น 3. เรื่องการแก้ปัญหาระบบการเตรียมภัย

นายวิบูลย์กล่าวว่า วันนี้เป็นการประชุมนัดแรกโดยคณะกรรมการชุดนี้ตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาภัยพิบัติแห่งชาติ เพื่อดูแลและป้องกันเกี่ยวกับเรื่องภัยพิบัติ 18 ประเภท โดยที่ประชุมได้อนุมัติให้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการ 6 คณะ ได้แก่ 1. อนุกรรมการช่วยเหลือผู้ประสบภัย ที่มีปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นประธาน 2. อนุกรรมการประชาสัมพันธ์ มีปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน 3. อนุกรรมการด้านต่างประเทศ ที่มีปลัดกระทรวงการต่างประเทศเป็นประธาน 4. อนุกรรมการชุดแผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิ 5. อนุกรรมการอุทกภัย และ 6. อนุกรรมการวาตภัย โดยทำงานประสานกับ ปภ.ดูแลป้องกันสถาณการณ์ภัยพิบัติต่างๆ ทั้งในระดับปกติและระดับรุนแรง

ส่วนสถานการณ์ภัยแล้งในหลายพื้นที่ ซึ่งหลายฝ่ายเป็นห่วงในขณะนี้ ทราบว่าประสบอยู่ในแค่ส่วนของการพืชผลการเกษตร แต่ในส่วนของการบริโภคและอุปโภคน้ำของประชาชนส่วนใหญ่จะยังไม่มีผลกระทบ โดยนายกรัฐมนตรีได้สั่งการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ประสานกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และหน่วยงานเกี่ยวข้องดูแล โดยรายงานผู้ได้รับผลกระทบขณะนี้อยู่ 4.4 แสนราย และพื้นที่การเกษตรประมาณ 2.5 ล้านไร่ ที่พื้นที่รับผลกระทบส่วนใหญ่อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น จ.ชัยภูมิ และ จ.มหาสารคาม
กำลังโหลดความคิดเห็น