xs
xsm
sm
md
lg

“ปู” คึก ดอดเช็กเรตติ้งนิทรรศการน้ำผิดเวลา เจอคนน้อยเลยรีบกลับ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานพิธีเปิดนิทรรศการการบริหารจัดการน้ำของรัฐบาลปี 2555 ภายใต้ชื่อ “มุ่งมั่นทำงาน บริหารจัดการน้ำเพื่อประชาชน”  ที่ห้องบางกอกคอนเวนชัน ชั้น 5 ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล พลาซา ลาดพร้าว วานนี้ (31 ส.ค.)
“นายกฯ ยิ่งลักษณ์” คึก ชวน “กิตติรัตน์-ชัชชาติ” เช็กเรตติ้งนิทรรศการน้ำผิดเวลา เจอคนน้อยรีบกลับ ปิดปากให้สัมภาษณ์สื่อ ขณะที่รายการรัฐบาลยิ่งลักษณ์พบประชาชนช่วงเช้างัดเทปเปิดนิทรรศการน้ำมาออกอากาศ


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 09.00 น.วันนี้ (1 ก.ย.) น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง และนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รมว.คมนาคม เดินทางมาตรวจเยี่ยมการจัดนิทรรศกา “มุ่งมั่นทำงาน บริหารจัดการน้ำเพื่อประชาชน” ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 31 ส.ค. - 2 ก.ย.นี้ ที่ห้องบางกอกคอนเวนชันฮอล เซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าว

โดย น.ส.ยิ่งลักษณ์ถือโอกาสเดินทักทายประชาชนที่เดินทางมาชมนิทรรศการ ทั้งนี้จำนวนประชาชนที่ไปร่วมงานยังมีจำนวนน้อยเนื่องจากยังเป็นช่วงเช้าในวันหยุดสุดสัปดาห์ นายกรัฐมนตรีจึงใช้เวลาไม่นาน ก่อนเดินทางกลับ และปฏิเสธที่จะให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน

ผู้สื่อข่าวงานว่าในรายการ “รัฐบาลยิ่งลักษณ์พบประชาชน” เช้าวันนี้ได้นำเทปบันทึกภาพ น.ส.ยิ่งลักษณ์เปิดนิทรรศการ “มุ่งมั่นทำงาน บริหารจัดการน้ำเพื่อประชาชน” มาเปิดแทนการสัมภาษณ์เหมือนที่เคยทำทุกสัปดาห์

โดย น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า รัฐบาลได้นำเอาประสบการณ์ด้านวิกฤตมหาอุทกภัยในปีที่ผ่านมา นำมาปรับปรุง แก้ไข และเตรียมพร้อมรับมือภัยธรรมชาติที่จะเกิดขึ้น รวมถึงได้น้อมนำพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นหลักในการทำงาน โดยยึดหลัก 2P 2R คือ 1. การป้องกัน (Protection) แบ่งตามพื้นที่ของต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ โดยการป้องกันของพื้นที่ต้นน้ำจะเน้นชะลอการไหลของน้ำโดยการปลูกป่า สร้างฝายชะลอน้ำ และปลูกหญ้าแฝก ขณะที่พื้นที่กลางน้ำต้องบริหารปริมาณน้ำในเขื่อนให้เหมาะสมและคำนึงถึงภัยแล้งด้วย ซึ่งขณะนี้ได้รักษาระดับน้ำในเขื่อนไว้ที่เฉลี่ยประมาณร้อยละ 50 เพื่อจัดเตรียมการรองรับน้ำไว้ในเขื่อน รวมถึงจัดเตรียมพื้นที่รับน้ำนอง 2.1 ล้านไร่ และปรับปรุงซ่อมแซมประตูระบายน้ำตามเขื่อนต่างๆ ที่สำคัญ

ส่วนพื้นที่ปลายน้ำ เน้นการขุดลอกคูคลองเพื่อให้น้ำไหลลงสู่ทะเลให้เร็วที่สุด ทั้งทางฝั่งตะวันออก ตะวันตก นอกจากนี้จะมีการเสริมถนนเพิ่มแนวคันกั้นน้ำจาก 1 ชั้นในปีที่แล้ว เป็น 3 ชั้น เพื่อปกป้องพื้นที่ต่างๆ โดยเฉพาะพื้นที่เศรษฐกิจของไทย รวมถึงนิคมอุตสาหกรรม และเพิ่มระบบการติดตั้งเครื่องสูบน้ำในพื้นที่เกิดเหตุน้ำนองในปีที่ผ่านมาด้วย

2. การเตรียมพร้อม (Preparation) ได้มีการบูรณาการสร้างระบบคลังข้อมูลแห่งชาติใหม่ โดยบูรณาการข้อมูลจาก 17 หน่วยงานให้เข้ามาอยู่ ณ ศูนย์เดียวกัน มีการประเมินและวิเคราะห์ทั้งหมดเป็นระบบสั่งการเดียว หรือ Single Command เพื่อใช้ในการวิเคราะห์ การทำแบบจำลอง การสั่งการ การจัดการ และการเตือนภัยทั้งในภาวะปกติและภาวะวิกฤตที่มีขั้นตอนต่างๆ ต่อเนื่องในแต่ละลำดับ รวมถึงมีผู้รับผิดชอบชัดเจนลงไปยังทุกพื้นที่ชุมชน

3. การรับมือ (Response) ได้มีการเตรียมพร้อมรับมือการเกิดอุทกภัยในทุกระดับของความรุนแรง ว่าจะต้องมีการยกระดับการเตรียมพร้อมเจ้าหน้าที่ ผู้บริหารที่จะต้องเข้ามาดูแลรับผิดชอบ และในการบูรณาการอุปกรณ์ เครื่องมือต่างๆ ในปีที่ผ่านมา เพื่อความพร้อมในการเผชิญเหตุและแก้ปัญหาอย่างทันท่วงที และ 4. คือการฟื้นฟู (Recovery) รัฐบาลมีการกำหนดหลักเกณฑ์และสิทธิการช่วยเหลือผู้ประสบภัยในทุกกรณี ทั้งทางด้านของตัวผู้ประสบภัย ด้านสังคมสงเคราะห์ ด้านแพทย์ และการสาธารณสุข รวมถึงประชาชนที่อยู่ในพื้นที่รับน้ำนอง หรือเส้นทางที่น้ำผ่าน เป็นต้น

น.ส.ยิ่งลักษณ์ยังกล่าวถึงการแก้ไขปัญหาระยะยาวว่า รัฐบาลได้ออกพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อวางระบบบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ ในวงเงินกู้ 350,000 ล้านบาท เพื่อแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน โดยได้เชิญผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เชี่ยวชาญร่วมทำงานในรูปแบบของคณะกรรมการ เพื่อกำหนดเป็นแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการน้ำของประเทศขึ้นเรียบร้อยแล้ว ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการเชิญชวนผู้ที่สนใจยื่นคุณสมบัติ เพื่อร่วมกันจัดทำแนวคิด Conceptual Plan ให้ได้สิ่งที่ดีที่สุดสำหรับประเทศ ต่อจากนั้นจะมีการคัดเลือกเพื่อจัดทำขั้นตอนของรายละเอียด แล้วเข้าสู่กระบวนการที่มีความเป็นธรรมโปร่งใส และที่สำคัญเป็นไปตามกฎหมายและระเบียบของทางราชการ โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของประเทศเป็นสำคัญ
กำลังโหลดความคิดเห็น