xs
xsm
sm
md
lg

สทศ.เมิน นร.คอมเมนต์สอบ O-NET วิทย์ 67 ข้อใหม่ไม่เป็นธรรม บอกเป็นข้อสอบคู่ขนาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สทศ.ยันจัดสอบ O-NET วิทย์ใหม่ ไม่มีปัญหาความไม่เป็นธรรมระหว่าง นร.ที่เคยสอบมาแล้วกับ นร.ที่มาสอบครั้งแรก ชี้ข้อสอบทั้ง 67 ข้อ เป็นข้อสอบคู่ขนานแค่คล้ายคลึงแต่ไม่เหมือน พร้อมเผยสอบ V-NET ไร้ปัญหา
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
วันนี้ (23 ก.พ.) รศ.สัมพันธ์ พันธุ์พฤกษ์ ผู้อำนวยการสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) ตรวจเยี่ยมสนามสอบการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติ ด้านอาชีวศึกษา (V-NET) เพื่อวัดความรู้ ความคิดของนักเรียนในปีสุดท้ายของหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.3) และประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.2) ที่วิทยาลัยเทคโนโลยีสยามธุรกิจ ราชเทวี ซึ่งเป็น 1 ใน 28 ศูนย์สอบ การสอบครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3 มีผู้มีสิทธิสอบ 92,613 คน พบว่า เป็นไปด้วยความเรียบร้อย การสอบมี 3 วิชา ประกอบด้วย สมรรถนะพื้นฐานประยุกต์ สมรรถนะพื้นฐานเพื่อการเรียนรู้ และสมรรถนะพื้นฐานเพื่อวิชาชีพ โดยผลสัมฤทธิ์ทาง V-NET สทศ.จะนำไปปรับปรุงคุณภาพการเรียนการสอบนักเรียนอาชีวะให้ได้มาตรฐานยิ่งขึ้น

รศ.สัมพันธ์ กล่าวถึงการสอบ O-NET ของนักเรียนชั้น ม.6 วิชาวิทยาศาสตร์ ว่า การที่บอร์ด สทศ.มีมติให้ใช้ 67 ข้อ ในข้อสอบชุดที่ 200 ที่มีปัญหาทางเทคนิค และเกลี่ยคะแนนเต็มร้อยแทนนั้น ให้นักเรียนที่ยังได้รับผลกระทบจากการสอบวิชาดังกล่าวใน 7 ศูนย์สอบ เข้าไปตรวจในเว็บไซต์ สทศ.แต่ยังไม่พบรายชื่อของตน ให้เข้าเมนูเติมรายชื่อ เพื่อขอสอบใหม่ได้ทันที การสอบใหม่จะมีขึ้นในวันที่ 7 มีนาคม 2556 เป็นการสอบรวมระหว่างนักเรียนที่ยื่นคำร้อง กับนักเรียนที่ ไม่เคยสอบมาก่อน แต่ข้อสอบจะยังคงใช้ 67 ข้อ แต่ลดเวลาสอบเหลือ 1.30 ชม.ตั้งแต่เวลา 11.30-13.00 น.ส่วนกรณีที่มีนักเรียนบางคนโพสต์ข้อความในอินเทอร์เน็ตเกี่ยวกับความไม่เป็นธรรมระหว่างนักเรียนที่เคยสอบมาแล้วและนักเรียนที่สอบครั้งแรก เห็นว่าข้อสอบที่จะใช้ 67 ข้อในเน็ตเป็นข้อสอบคู่ขนานที่คล้ายคลึงกัน แต่ไม่เหมือนกันทีเดียว

“การจัดสร้างข้อสอบโอเน็ตนั้น คณะทำงานจัดสร้างและกลั่นกรองข้อสอบ ของ สทศ.ได้ดำเนินการจัดทำข้อสอบคู่ขนานไว้ก่อนหน้าที่มีการจัดสอบเรียบร้อยแล้ว โดยข้อสอบคู่ขนานจะใช้ในกรณีผู้เข้สอบเกิดเหตุฉุกเฉินหรือเหตุสุดวิสัย เช่น ป่วยกระทันหันหรือประสบอุบัติเหตุ ซึ่งเป็นเรื่องที่ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2549 ซึ่งเป็นปีแรกที่มีการจัดสอบโอเน็ต โดยข้อสอบคู่ขนานได้จัดสร้างตามหลักวิชาการ ที่มีความยากง่ายใกล้เคียงหรือเกือบจะเท่ากันกับข้อสอบที่ใช้สอบจริงในรอบปกติ จึงไม่อยากให้นักเรียนเกิดความกังวลว่าจะเกิดการได้เปรียบเสียเปรียบ หรือ เพื่อนเคยเห็นข้อสอบมาแล้ว เพราะยืนยันว่าจะไม่ใช้ข้อสอบเดิมที่มีการสอบไปแล้วเมื่อวันที่ 10 ก.พ.2556 แน่นอน” รศ.สัมพันธ์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า การให้ผู้เข้าสอบ 7 ศูนย์สอบได้สอบใหม่เป็นมติของบอร์ด สทศ.หรือไม่  รศ.สัมพันธ์ กล่าวว่า ยืนยันว่าเป็นมติ บอร์ด สทศ.ที่ได้ประชุมด่วนเมื่อวันที่ 14 ก.พ.2556 ซึ่งมอบหมายให้ สทศ.ดำเนินการแก้ไขปัญหา โดยตั้งคณะทำงานขึ้น 1 ชุด ประกอบด้วย ประธานบอร์ด สทศ., ผอ.สทศ., รองผอ.สทศ., เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ,ฝ่ายกฎหมาย จากนั้นก็ได้มีการตรวจสอบข้อมูลอย่างละเอียดทุกศูนย์สอบ พบว่า มี 7 ศูนย์สอบที่ได้ข้อสอบที่ผิดพลาด ได้แก่ ศูนย์สอบ ม.นเรศวร,ม.เชียงใหม่,ม.ขอนแก่น,ม.วลัยลักษณ์,ม.นราธิวาสราชนครินทร์, ม.สงขลานครินทร์, ม.ศิลปากร วิทยาเขตสนามจันทร์ ซึ่งมีผู้เข้าสอบที่ได้รับผลกระทบประมาณ 40,000 คน และได้ประกาศแล้วในเว็บไซด์ของ สทศ.ส่วนผู้เข้าสอบทั้ง 7 ศูนย์สอบที่ได้ข้อสอบที่ถูกต้อง แต่ได้รับผลกระทบจากผู้คุมสอบที่ให้หยุดสอบทำให้เหลือเวลาสอบน้อย หรือให้ฝนคำตอบในช้อสอบ ก็สามารถยื่นคำร้องขอสอบรอบพิเศษได้จนถึงวันที่ 26 ก.พ.นี้ที่ สทศ.หรือเว็บไซด์ของ สทศ.​ เพราะสทศ.จะตรวจจากกระดาษคำตอบเท่านั้น
กำลังโหลดความคิดเห็น