xs
xsm
sm
md
lg

World Bank วิเคราะห์ เด็ก กทม.ความรู้เทียบเท่าเด็กมะกัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

World Bank วิเคราะห์ผลประเมินการเรียนนานาชาติพบ เด็ก กทม.มีความรู้เทียบเท่าเด็กอเมริกา ขณะที่เด็กชนบทมีคะแนนเพิ่มขึ้น 10 คะแนน “ชินภัทร” เล็งทบทวนหาปัจจัยใดที่ช่วยส่งเสริม เชื่อวิธีการจัดสอน การรวมตัวเป็นสหวิชาของเขตพื้นที่ฯ มีส่วนช่วยยกระดับความรู้เด็ก
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ที่ประชุมผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้เสนอข้อสรุปผลการวิเคราะห์ของธนาคารโลก (World Bank) เกี่ยวกับผลการทดสอบนานาชาติของนักเรียนไทย ได้แก่ ผลการประเมินความสามารถทางคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ระดับนานาชาติ (TIMSS) จัดโดย The International Association for the Evaluation of Educational Achievement (IEA) และการประเมินผลนักเรียนนานาชาติ (PISA) เพื่อรายงานต่อที่ประชุมกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ในเดือน มี.ค.นี้

ทั้งนี้ ผลการวิเคราะห์ของ World Bank ระบุว่า แม้ผลการทดสอบนานาชาติ TIMSS และ PISA ของเด็กไทยจะมีคะแนนเฉลี่ยรวมอยู่ในอันดับค่อนข้างท้าย แต่หากจำแนกเป็นกลุ่มพื้นที่ กทม.กับจังหวัดอื่นๆ จะพบว่าคะแนนเฉลี่ย และการกระจายตัวของคะแนนนักเรียนในเขต กทม.ของโรงเรียนทุกสังกัด มีลักษณะการกระจายเทียบได้กับประเทศสหรัฐอเมริกา ดังนั้นธนาคารโลกจึงได้ข้อสรุปว่า การศึกษาของไทยหากเป็นนักเรียนในเขต กทม.ถือว่าจัดการศึกษาใช้ได้ แต่ในเขตชนบทห่างไกล ยังมีช่องว่าง และมีปัญหาการขาดแคลนต่างๆ ทั้งนี้ ทาง World Bank ยังสะท้อนด้วยว่า หากพิจารณาผลการทดสอบ TIMSS และ PISA ที่ผ่านมาจนถึงการทดสอบครั้งล่าสุด เด็กไทยที่อยู่ในผลการเรียนกลุ่มต่ำมีพัฒนาการสูงขึ้น 10 คะแนน จึงได้จึงให้ข้อคิดว่า ที่ผ่านมาไทยคงจะมีมาตรการบางอย่างที่ทำให้เกิดผลดีต่อเด็กในกลุ่มนี้

นายชินภัทร กล่าวต่อว่า ดังนั้น สพฐ.จะนำผลการวิเคราะห์ดังกล่าวเป็นจุดเริ่มต้นของการพิจารณาทบทวนว่า มีปัจจัยอะไรบ้างที่ส่งผลต่อความสำเร็จที่สามารถทำให้เด็กมีพัฒนาการสูงขึ้นถึง 10 คะแนน รวมทั้งข้อเสนอแนะของ World Bank ที่ว่านโยบายในการลงทุนการศึกษาของไทย ควรเน้นเรื่องการลดช่องว่างระหว่างโรงเรียนในเมือง กับนอกเมืองให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น เพราะการลงทุนที่จะลดช่องว่างจะช่วยทำให้เกิดประสิทธิภาพในการจัดการศึกษา อย่างไรก็ตาม หากยังคงมีการลงทุนการศึกษาโดยกระจายงบประมาณออกไปเท่าๆ กัน ก็จะทำให้ช่องว่างไม่ได้รับการแก้ไข และจะทำให้ส่วนนี้เป็นส่วนที่จะเกิดความสูญเปล่าอีกมากในอนาคต

หลังจากนี้ สพฐ.ต้องไปดูข้อมูลย้อนหลังว่า เราได้ดำเนินโครงการอะไรไปบ้างที่ทำให้เกิดความสำเร็จ ไม่ว่าจะเป็นการจัดสื่อการเรียนการสอนเพิ่มเติมให้แก่โรงเรียนในชนบทห่างไกล การอบรมพัฒนาครู รวมถึงการบริหารจัดการของเขตพื้นที่การศึกษาในการร่วมกันยกระดับคุณภาพ เพราะขณะนี้หลายเขตพื้นที่ฯ มีการทำงานร่วมกันเป็นเครือข่ายสหวิชา ซึ่งผมเชื่อว่าการใช้วิธีที่ให้ครูมารวมตัวกัน ตลอดจนนำครูที่สอนเก่งและประสบความสำเร็จในการสอนมาช่วยให้คำแนะนำแก่เพื่อนครู น่าจะเป็นจุดแข็งของไทยที่ทำให้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของเด็กดีขึ้น” เลขาธิการ กพฐ.กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น