xs
xsm
sm
md
lg

ประเมินคะแนนคณิต-วิทย์ ไทยห่วยทั้ง 2 วิชา พ่ายสิงคโปร์-โสมขาว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ประกาศผล TIMSS ประเมินคณิต-วิทย์ระดับนานาชาติประจำปี 2011 ระดับ ม.2 และป.4 พบคะแนนไทยยังวิกฤต โดยเมื่อเทียบกับปี 2007 คะแนนลดลงทั้ง 2 วิชา ขณะที่สิงคโปร์เร่งเครื่องแซงทำคะแนนดีขึ้นและได้อันดับ 1 วิชาคณิต ป.4 ส่วนเกาหลีใต้ได้อันดับ 1 วิชาคณิต ม.2 ส่วนไทยทำคะแนนแซงมาเลเซียในวิชาวิทยาศาสตร์
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
วันนี้ (11 ธ.ค.) ที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) นายปรีชาญ เดชศรี รองผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) แถลงข่าวผลการวิจัยการศึกษาแนวโน้มการจัดการศึกษาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ระดับนานาชาติ พ.ศ. 2554 (Trend in International Mathematics and Science Study 2011 : TIMSS 2011) ดำเนินการโดย IEA (The International Association for the Evaluation of Educational Achievement) ซึ่งประเทศไทยเข้าร่วมการประเมินมาแล้ว 4 ครั้งในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ในปี ค.ศ. 1995, 1999, 2007 และ 2011 และเข้าร่วมการประเมินระดับประถมศึกษาปีที่ 4 เป็นครั้งแรก โดยประกาศผลพร้อมกันทั่วโลกวันนี้

นายปรีชากล่าวว่า การประเมินระดับ ป.4 ซึ่งสุ่มตัวอย่างนักเรียนไทย 4,447 คนจากโรงเรียนประถมศึกษาทุกสังกัด ได้แก่ โรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) โรงเรียนในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) แบ่งเป็น โรงเรียนสาธิต สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.)โรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) และโรงเรียนในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จำนวน 168 โรง ผลปรากฏว่า ไทยมีคะแนนเฉลี่ยวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ อยู่ในอันดับที่ 34 และ 29 จากประเทศที่เข้าร่วมประเมินทั้งหมด 52 ประเทศ โดยในวิชาคณิตศาสตร์นั้น สิงคโปร์อยู่ในอันดับ 1 ทำได้ 606 คะแนน ถัดมาเป็น เกาหลีใต้ 605 คะแนน ฮ่องกง 602 คะแนน จีน-ไทเป 591 คะแนน และญี่ปุ่น 585 คะแนน ขณะที่ไทย อยู่อันดับที่ 34 ได้ 458 คะแนน ส่วนวิชาวิทยาศาสตร์ อันดับ 1 เกาหลีใต้ 587 คะแนน สิงคโปร์ 583 คะแนน ฟินแลนด์ 570 คะแนน ญี่ปุ่น 559 คะแนน และรัสเซีย 552 คะแนน ขณะที่ไทยอยู่อันดับที่ 29 ได้ 472 คะแนน

เมื่อจำแนกคะแนนนักเรียนของแต่ละประเทศ ออกเป็น 5 ระดับ ดังนี้ ระดับ Poor (ช่วงคะแนน 424-462) ระดับ Fair (462-500) ระดับ Good (500-538)ระดับ Excllent (538-576) และระดับ Out Standing (โดดเด่น) (576 ขึ้นไป) ปรากฎว่า วิชาคณิตศาสตร์ ไทยมีสัดส่วนคะแนนอยู่ในระดับ Fair มากที่สุด 34% และระดับ Good 31% แต่ก็มีนักเรียนระดับ Poor ถึง 23% ขณะที่ค่าเฉลี่ยระดับ Poorของนานาชาติอยู่ที่ 10% ส่วนระดับ Out Standing มีแค่ 1% ขณะที่ เกาหลีใต้ ไม่นักเรียนอยู่ในระดับ Poor เลย สิงคโปร์, ฮ่องกง, จีน-ไทเป และญี่ปุ่น มีคะแนนอยู่ในระดับ Poor แค่ 1% และมีนักเรียนอยู่ในระดับ Out Standing จำนวนมาก ซึ่งสิงคโปร์ มีถึง 43% เกาหลีใต้ 39% และฮ่องกง 37% ส่วนวิชาวิทยาศาสตร์ ไทยมีสัดส่วนในระดับ Good มากสุด 32% แต่มีนักเรียนระดับ Poor ถึง 22% และ Out Standing แค่ 4% ขณะที่สิงคโปร์มีนักเรียนระดับ Poor แค่ 3% และมีนักเรียนระดับ Out Standing 33%

อย่างไรก็ตาม ถ้าจำแนกคะแนนนักเรียนไทนตามรายสังกัด โรงเรียนสาธิต และโรงเรียนสังกัด กทม.ทำคะแนนได้สูงกว่าค่าเฉลี่ยนานาชาติ ทั้งวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ส่วนโรงเรียนสังกัด สช.คะแนนสูงกว่าค่าเฉลี่ยนานาชาติในวิชาคณิตศาสตร์ โรงเรียน สพฐ.มีค่าเฉลี่ยต่ำที่สุดทั้งในวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์

รอง ผอ.สสวท.กล่าวต่อว่า ส่วนผลการประเมินระดับ ม.2 นั้นประเมินจากกลุ่มตัวอย่าง จำนวน 6,124 คน จาก 172โรง พบว่า ไทย มีผลคะแนนเฉลี่ยวิชาคณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ อยู่ในอันดับที่ 28 และ 25 จากประเทศที่เข้าประเมินทั้งหมด 45 ประเทศ โดยวิชาคณิตศาสตร์ เกาหลีใต้อยู่ในอันดับ 1 ทำได้ 613 คะแนน รองลงมา คือ สิงคโปร์ 611 คะแนน, จีน-ไทเป 609 คะแนน, ฮ่องกง 586 คะแนน และญี่ปุ่น 570 คะแนน ขณะที่ไทย อยู่อันดับ 28 ได้ 427 คะแนน มาเลเซีย อันดับที่ 26 ได้ 440 คะแนน และอินโดนีเซีย อันดับที่ 38 ได้ 386 คะแนน สำหรับวิชาวิทยาศาสตร์ อันดับที่ 1 สิงคโปร์ 590 คะแนน รองลงมา คือ จีน-ไทเป 564 คะแนน, เกาหลีใต้ 560 คะแนน, ญี่ปุ่น 558 คะแนน และฟินแลนด์ 552 คะแนน ส่วนไทยอยู่อันดับที่ 25 ได้ 451 คะแนน มาเลเซีย อันดับที่ 30 ได้ 426 คะแนน อินโดนีเซียอันดับที่ 34 ได้ 406 คะแนน

ทั้งนี้ ในวิชาคณิตศาสตร์ มีนักเรียนไทยอยู่ในระดับ Poor มากที่สุดถึง 38% ขณะที่เกาหลีใต้ สิงคโปร์ มีแค่ 1% มาเลเซีย 35%ส่วนค่าเฉลี่ยระดับ Poor นานาชาติ อยู่ที่ 25% นักเรียนไทยอยู่ในระดับ Out Standing แค่ 2% ขณะที่ค่าเฉลี่ยทั่วโลกอยู่ที่ 25% สิงคโปร์ อยู่ที่ 48%เกาหลีใต้ อยู่ที่ 47%

สำหรับวิชาวิทยาศาสตร์ นักเรียนอยู่ใน Fair มากที่สุด 35% ระดับ Poor 26% มาเลเซีย มีระดับ Poor 38% ขณะที่สิงคโปร์ มีนักเรียนในระดับ Poor แค่ 4% ค่าเฉลี่ย Poor ระดับนานาชาติอยู่ที่ 21% นักเรียนไทยอยู่ในระดับ Out Standing แค่ 1% ขณะที่สิงคโปร์ มีถึง 40%

ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับการประเมินในปี ค.ศ. 2007 พบว่า ค่าเฉลี่ยของนานาชาติลดลงจาก 500 เหลือ 498 เพราะว่าประเทศส่วนใหญ่ทำคะแนนได้ลดลง แต่ประเทศหัวแถวในเอเชีย 4 ประเทศ คือ สิงคโปร์, จีน-ไทเป, เกาหลีใต้ และฮ่องกง กลับทำคะแนนได้สูงขึ้น โดยเฉพาะสิงคโปร์ ทำคะแนนเพิ่มขึ้นได้มากที่สุด โดยวิชาวิทยาศาสตร์ เพิ่ม 23 คะแนน และวิชาคณิตศาสตร์ เพิ่ม 18 คะแนน ส่วนประเทศญี่ปุ่นตั้งแต่ประสบภาวะวิกฤติเศรษฐกิจ ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาเริ่มจะต่ำลง จะเห็นได้ว่าการประเมินในปีนี้อันดับการประเมินของญี่ปุ่นตกลง ถูกเกาหลีใต้และสิงคโปร์แซง ขณะที่กลุ่มประเทศในอาเซียนนั้น ประเทศไทยแซงมาเลเซีย ได้ในวิชาวิทยาศาสตร์ขึ้นมาเป็นที่ 2 รองจากสิงคโปร์ แต่ในวิชาคณิตศาสตร์ก็ไล่ตามมาอย่างกระชั้นชิด ทั้งนี้ เพราะมาเลเซียทำคะแนนลดลงอย่างมาก วิชาวิทยาศาสตร์ลดลงถึง 45 คะแนน คณิตศาสตร์ลดลง 34 คะแนน ส่วนประเทศไทย วิทยาศาสตร์ลดลง 20 คะแนน คณิตศาสตร์ลดลง 14 คะแนน

และเมื่อจำแนกคะแนนนักเรียนไทยตามสังกัดโรงเรียนสาธิต ยังทำคะแนนได้เป็นอันดับ 1 ในทั้ง 2 วิชา โดยคณิตศาสตร์ ได้ 554 คะแนน และวิทยาศาสตร์ 552 คะแนน ถือว่ามากกว่าค่าเฉลี่ยนานาชาติ แต่คะแนนโรงเรียนสาธิต เมื่อเทียบกับปี 2007 ถือว่าลดลงค่อนข้างมาก วิชาคณิตศาสตร์ ลดลง 46 คะแนน วิทยาศาสตร์ ลดลง 54 คะแนน ถ้าปล่อยไว้ในระดับนี้ในที่สุดคะแนนของโรงเรียนสาธิตจะมาใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยของประเทศไทย แต่ที่น่าสนใจ คือ โรงเรียนสังกัด กทม.เป็นโรงเรียนสังกัดเดียวที่คะแนนเพิ่มขึ้นจากปี 2007 โดยคณิตศาสตร์เพิ่ม 52 คะแนน วิทยาศาสตร์เพิ่ม 33 คะแนน ถือว่าโรงเรียน กทม.มีพัฒนาการที่เร็ว

ถ้าจำแนกตามภาค พบว่า ภาคตะวันออกและปริมณฑลมีคะแนนเพิ่มขึ้น จากปี 2007 อย่างมาก อาจเป็นเพราะว่าเมืองขยายและมีเขตอุตสาหกรรมเพิ่มในเขตพื้นที่ดังกล่าวมีการย้ายถิ่นฐานเข้าอยู่พื้นที่ดังกล่าว แต่ภาคเหนือตอนบน คะแนนกลับลดลงมากจนน่าเป็นห่วง โดยปีนี้ คณิตศาสตร์ลดลง 68 คะแนน วิทยาศาสตร์ลดลง 69 คะแนน เพราะฉะนั้น สพฐ.ควรไปดูเพราะที่ผ่านมาคะแนนของภาคเหนือตอนบนเยอะกว่าภาคอื่นๆ

ผลการประเมินครั้งนี้น่าจะนำมาสู่การปรับปรุงหลักสูตร จริงแล้วหลักสูตรของไทยครอบคลุมเนื้อหาในข้อสอบประเมิน 100% ส่วนสิงคโปร์ครอบคลุมแค่70% แต่สิงคโปร์ สามารถจัดการเรียนการสอนให้ผู้ใหญ่ประสบความสำเร็จได้ ขณะที่เด็กไทยประสบความสำเร็จแค่ประมาณ 30% สรุปก็คือเด็กไทยเรียนเนื้อหาเยอะ แต่กระบวนการเรียนการสอนไม่ดีพอ ขณะที่โครงสร้างเวลาเรียนของไทยยังไม่เหมาะสม นักเรียนไทยถือว่ามีชั่วโมงเรียนต่อสัปดาห์สูงที่สุดในโลก แต่มีชั่วโมงเรียนต่อปีต่ำที่สุดในโลก น่าจะเฉลี่ยให้เวลาเรียนต่อวันลด ขณะที่การให้เวลาเรียนแทนที่จะให้ตามความสำคัญของกลุ่มวิชากลับเป็นการเฉลี่ยให้แต่ละวิชาแทน” นายปรีชากล่าว

รอง ผอ.สสวท.กล่าวด้วยว่า ขณะเดียวกันต้องพัฒนาครูด้วย เพราะครูไทยส่วนใหญ่ไม่มั่นใจในการสอน และไม่มีความพร้อมพอสำหรับการสอนคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ส่วนหนึ่งเพราะครูที่สอนคณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ไม่ได้จบตามวิชาเอกนี้โดยตรง และต้องพัฒนาสนับสนุนสื่อการเรียนการสอนให้กับครูด้วย ฝึกฝนให้ครูสร้างหลักสูตรสถานศึกษาได้เอง ถ้าประเทศไทยยังไม่ทำอะไรเลยผลการประเมิน TIMSS อีก 4 ปีข้างหน้าของไทยจะแย่ลงกว่านี้
กำลังโหลดความคิดเห็น