xs
xsm
sm
md
lg

สธ.-อภ.เซ็น MOU พัฒนาระบบบริหารเวชภัณฑ์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สธ.จับมือ อภ.พัฒนาระบบบริหารเวชภัณฑ์ฯ โรงพยาบาลในสังกัดทั่วประเทศ เตรียมคัดเลือกยาราคาแพงให้ อภ.จัดซื้อ เชื่อได้ยามีคุณภาพและราคาถูก พร้อมนำร่องตั้งคลังสำรองยาประจำภูมิภาค 3 แห่งแรกที่ลำพูน นครศรีธรรมราช และนครราชสีมา ลดการสต๊อกยาในคลังของโรงพยาบาล

วันนี้ (27 ธ.ค.) นพ.ประดิษฐ สินธวรณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ เรื่อง “การพัฒนาประสิทธิภาพระบบริหารเวชภัณฑ์” ระหว่าง สธ. โดย นพ.โสภณ เมฆธน รองปลัด สธ.กับองค์การเภสัชกรรม (อภ.) โดย นพ.วิทิต อรรถเวชกุล ผอ.องค์การเภสัชกรรม เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพระบบบริหารเวชภัณฑ์ของกระทรวงสาธารณสุข ทั้งเรื่องการจัดซื้อ การใช้ยา การควบคุมคุณภาพ การหมุนเวียน การแลกเปลี่ยน การจัดตั้งคลังสำรอง และการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารด้านยา ของสถานบริการสาธารณสุข

นพ.ประดิษฐ กล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายพัฒนาระบบบริหารจัดการเวชภัณฑ์ ยา ของโรงพยาบาล และศูนย์บริการสาธารณสุข รวมถึงการพัฒนาการให้บริการสุขภาพแก่ประชาชนในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ประกันสังคม และสวัสดิการข้าราชการให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และให้ประชาชนเข้าถึงการบริการอย่างมีคุณภาพ กระทรวงสาธารณสุขได้ร่วมมือกับ อภ.จัดทำโครงการพัฒนาประสิทธิภาพระบบบริหารเวชภัณฑ์ขึ้น โดยกระทรวงสาธารณสุขได้คัดเลือกรายการยาที่มีความจำเป็นต้องใช้มากและมีมูลค่าสูง อาทิ น้ำยาล้างไต วัคซีน ยาปฏิชีวนะ ยาโรคเบาหวาน ยาโรคความดันโลหิตสูง ยารักษาโรคหัวใจ เป็นต้น เพื่อให้ อภ.ดำเนินการจัดซื้อจัดหายาที่มีคุณภาพ ซึ่งจะทำให้เกิดอำนาจการต่อรองมากขึ้น และทำให้ราคายาลดลงมาในระดับที่เหมาะสม รวมทั้งทำหน้าที่ประสานงานให้หน่วยบริการสาธารณสุขแจ้งแผนความต้องการใช้ยาและเวชภัณฑ์ ทั้งชนิดและปริมาณตามรายการยาที่จำเป็นเพื่อส่งให้อภ.ต่อไป ซึ่งระบบนี้จะทำให้ได้ยาราคาถูก และมีคุณภาพ

ด้าน นพ.วิทิต กล่าวว่า ในส่วนขององค์การเภสัชกรรมจะจัดตั้งคลังสำรองยาและกระจายยา (Depot) ให้ครอบคลุมพื้นที่ทั่วทุกภูมิภาค เป็นเสมือนคลังสำรองยาให้โรงพยาบาลต่างๆ ในภูมิภาคทั้งในภาวะปกติและภาวะฉุกเฉินได้ทันที เช่น กรณีเกิดภัยพิบัติต่างๆ ซึ่งจะเป็นการลดค่าใช้จ่ายและพื้นที่สำรองยาในคลังของโรงพยาบาล โรงพยาบาลมียาใช้อย่างต่อเนื่อง ในเบื้องต้นนี้จะนำร่องก่อน 3 แห่ง ประกอบด้วย ภาคเหนือที่ จ.ลำพูน ภาคใต้ ที่ จ.นครศรีธรรมราช และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ จ.นครราชสีมา โดยจะมีการนำระบบเทคโนโลยีต่างๆ มาใช้เพื่อให้เป็นในลักษณะของคลังอัตโนมัติ มีระบบสารสนเทศเชื่อมโยงข้อมูลข่าวสารแสดงสถานะของระบบยาในประเทศที่มีประสิทธิภาพ โดยนำระบบวีเอ็มไอ (VMI:Vendor Managed Inventory) มาใช้ในการบริหารคลังยา เพื่อให้การกระจายยาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น