xs
xsm
sm
md
lg

รองประธานาธิบดีคนใหม่กับการปฏิรูปในพม่า (ตอนจบ)

เผยแพร่:   โดย: ไบรอัน แมคคาร์แทน

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

New reform balance in Myanmar
By Brian McCartan
16/08/2012

การแต่งตั้ง พล.ร.อ.เนียน ตุน ผู้บัญชาการทหารเรือ ขึ้นเป็นรองประธานาธิบดีคนใหม่ของพม่า ภายหลังที่ผู้เข้ารอบคนเดิมซึ่งเป็นนายทหารสายแข็งกร้าวถูกตัดออกไปเพราะบกพร่องในคุณสมบัติ น่าที่จะช่วยเพิ่มพูนอำนาจบารมีของฝ่ายนักปฏิรูปของประธานาธิบดีเต็ง เส่ง โดยที่พวกซึ่งโยงใยใกล้ชิดกับอดีตคณะนายทหารใหญ่ผู้ปกครองประเทศ กลายเป็นฝ่ายสูญเสีย กองทัพเรือของพม่านั้นแตกต่างไปจากกองทัพบก ตรงที่มีส่วนร่วมแสดงบทบาทเพียงเล็กน้อยในการปฏิบัติการปราบปรามกวาดล้างการก่อความไม่สงบอย่างโหดเหี้ยมทั้งหลาย นอกจากนั้น เนียน ตุน ยังมีภาพลักษณ์ในระดับนานาชาติที่สะอาดสะอ้าน มิได้ถูกแปดเปื้อนจากข้อกล่าวหาเรื่องการทุจริตคอร์รัปชั่น

*ข้อเขียนนี้แบ่งเป็น 2 ตอน นี่คือตอนที่ 2 ซึ่งเป็นตอนจบ*

(ต่อจากตอนแรก)

นักวิเคราะห์บางรายเชื่อว่า การเลือกเอา พล.ร.อ. เนียน ตุน ซึ่งมีตำแหน่งทางทหารตำแหน่งสุดท้ายเป็นผู้บัญชาการทหารเรือ ขึ้นนั่งเก้าอี้เป็นรองประธานาธิบดีคนที่หนึ่งของพม่า อาจจะเป็นสัญญาณบ่งบอกว่า ฝ่ายทหารของพม่ามีการเปลี่ยนแปลงจุดยืนทางการเมือง ทั้งนี้ในขณะที่พิจารณาจากหลักเกณฑ์ด้านความอาวุโสและเส้นสายโยงใยภายในกองทัพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกองทัพบกแล้ว ยังมีนายทหารอาวุโสคนอื่นๆ อีกหลายคน สามารถที่จะเป็นผู้เข้าชิงตำแหน่งนี้ได้ ทว่านายทหารเหล่านั้นส่วนใหญ่มีปัญหาด้านภาพลักษณ์ต่อสาธารณชนในระดับนานาชาติ สืบเนื่องจากบทบาทของพวกเขาในระบอบปกครองเผด็จการทหารในอดีตที่ผ่านมา

ในบรรดาผู้ที่แลดูน่าจะเป็นตัวเก็ง แต่แล้วในที่สุดกลับถูกมองข้ามไป ก็ได้แก่ รัฐมนตรีมหาดไทย พล.อ.โกโก (Ko Ko) และประธานคณะกรรมการการเลือกตั้งสหภาพพม่า พล.ท.(เกษียณอายุ) ทิน เอ (Tin Aye) เหตุผลสำคัญน่าจะอยู่ที่ว่าทั้งคู่ต่างแปดเปื้อนมัวหมองจากการที่กองทหารซึ่งพวกเขาเป็นผู้บังคับบัญชาในระหว่างทำการสู้รบกับกลุ่มกบฎในรัฐกะเหรี่ยงนั้น ได้ถูกกล่าวหาว่ามีพฤติการณ์ละเมิดสิทธิมนุษยชน ยิ่ง ทิน เอ ด้วยแล้ว เขาดำรงตำแหน่งเป็นเจ้ากรมสรรพาวุธทหารอยู่จนกระทั่งลาออกในเดือนเมษายน 2010 โดยถูกระบุว่าเป็นผู้มีบทบาทสำคัญคนหนึ่งในการจัดซื้อจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์จากเกาหลีเหนือ ซึ่งสร้างความโกรธกริ้วในทางการทูตให้แก่สหรัฐฯ

รอง พล.อ.อาวุโส โซ วิน (Soe Win) รองผู้บัญชาการทหารสูงสุด เป็นอีกคนหนึ่งที่ดูจะได้รับการกล่าวขวัญถึงว่าเหมาะสมที่จะขึ้นเป็นรองประธานาธิบดีคนใหม่ เขามีความใกล้ชิดสนิทสนมกับ รอง พล.อ.อาวุโส หม่อง เอ (Maung Aye) อดีตผู้บัญชาการทหารบกและบุคคลหมายเลขสองในคณะนายทหารผู้ปกครองประเทศในอดีต ทว่าเมื่อตอนที่ โซ วิน เป็นผู้บัญชาการของกองบัญชาการทหารภาคเหนือ (Northern Command) ในรัฐคะฉิ่น เขาก็มัวหมองถูกกล่าวหาเรื่องทุจริตคอร์รัปชั่นหลายๆ เรื่อง นอกจากนั้นจากการดำรงตำแหน่งรองผู้บัญชาการทหารสูงสุดในปัจจุบัน เขาต้องเป็นผู้รับผิดชอบส่วนหนึ่งสำหรับการสู้รบกับพวกกบฎคะฉิ่นที่ใช้ชื่อว่า องค์การอิสระคะฉิ่น (Kachin Independence Organization ใช้อักษรย่อว่า KIO) ซึ่งยังคงดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่องจนถึงเวลานี้ และถูกกล่าวหาว่ามีการล่วงละเมิดสิทธิมนุษยชน

แม้กระทั่งนายทหารที่เข้าใจกันว่าเป็นคนโปรดของ เต็ง เส่ง ได้แก่ พล.ท.ลา ไต วิน (Hla Htay Win) เสนาธิการทหาร คนปัจจุบัน ก็ยังเจอข้อกล่าวหาเรื่องมีประวัติซึ่งยังน่าเคลือบแคลง กล่าวคือ เขาเคยเป็นผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 11 ซึ่งเป็นหน่วยทหารสำคัญที่ตั้งฐานอยู่ในนครย่างกุ้ง แล้วต่อมายังเคยได้รับตำแหน่งผู้บัญชาการของกองบัญชาการทหารภาคย่างกุ้ง (Yangon Regional Command) ทั้งสองตำแหน่งนี้ล้วนแต่เป็นผู้รับผิดชอบด้านความมั่นคงในเขตอดีตนครหลวงของประเทศแห่งนี้ ในระหว่างปี 2007 ซึ่งได้เกิดการประท้วงใหญ่นำโดยพระสงฆ์ในพุทธศาสนา และเรียกขานกันว่า “การปฏิวัติผ้าเหลือง” (Saffron Revolution) ลา ไต วิน คือผู้บัญชาการทหารคนสำคัญคนหนึ่งที่ทำการปราบปรามการประท้วงคราวนั้น ถึงแม้มีข่าวลือตั้งแต่ในเวลานั้นแล้วว่า ลา ไต วิน ขัดขืนไม่ยอมปฏิบัติตามคำสั่งให้เปิดฉากยิงใส่ผู้ประท้วง

สำหรับ มิ้นต์ ฉ่วย อดีตตัวเก็งที่จะได้รับตำแหน่งนี้ ก็ตกเป็นเป้าของการถกเถียงอย่างดุเดือดเกี่ยวกับความเหมาะสมเช่นกัน สืบเนื่องจากบทบาทของเขาในการจับกุม ขิ่น ยุ้นต์ (Khin Nyunt) อดีตนายใหญ่ด้านข่าวกรองและบุคคลอันดับ 3 ในคณะนายทหารผู้ปกครองประเทศ ตลอดจนการจับกุม พล.อ.เนวิน (Ne Win) จอมเผด็จการทหารคนหัวปีของพม่า มิ้นต์ ฉ่วย ยังเคยเป็นเจ้ากรมการข่าวกรองทหาร และต่อมาก็เป็นผู้บัญชาการของสำนักงานปฏิบัติการพิเศษ 5 (Bureau of Special Operations 5) ซึ่งมีหน้าที่กำกับควบคุมการดูแลรักษาความปลอดภัยนครย่างกุ้งและเมืองหลวงเนปิดอ ด้วยบทบาทหน้าที่ดังกล่าวนี้ เขาจึงมีหน้าที่กำกับควบคุมการปราบปรามการประท้วงปี 2007 อันนองเลือดด้วย การที่ มิ่นต์ ฉ่วย ได้รับการคัดเลือกในตอนแรก แม้ต่อมาจะต้องถอยออกไปสืบเนื่องจากประเด็นปัญหาเรื่องสัญชาติของบุตรสาวของเขาเองก็ตามที ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเขาดูจะมีความสามารถอยู่มากในการวางตัวคร่อมอยู่ระหว่างกลางของพวกแนวความคิดแข็งกร้าวและพวกนักปฏิรูป

**ค่อนข้างมือสะอาด**

อย่างไรก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว เนียน ตุน เป็นผู้ที่มาจากกองทัพเรือ ซึ่งเป็นเหล่าทัพในกองทัพพม่าที่มีขนาดเล็กกว่าและสร้างปัญหาข้อโต้แย้งน้อยกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเปรียบเทียบกับกองทัพบก กองทัพเรือนั้นเคยแสดงบทบาทเพียงน้อยนิดในการปฏิบัติการปราบปรามการก่อความไม่สงบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการปราบปรามกวาดล้างพวกกบฎชาติพันธุ์ต่างๆ หรือกบฎคอมมิวนิสต์ โดยเฉพาะตั้งแต่ทศวรรษ 1950 เป็นต้นมา เมื่อพวกก่อความไม่สงบเหล่านี้ ส่วนใหญ่แล้วถูกผลักดันให้ถอยห่างออกจากพื้นที่ชายฝั่งทะเลและเส้นทางน้ำสำคัญๆ

กองทัพเรือได้ถูกกองทัพบกกีดกันออกไปอยู่นอกวงมานานแล้ว และพวกผู้นำของกองทัพเรือก็มักไม่เป็นที่ไว้วางใจของเหล่าขุนศึกใหญ่ทางฝ่ายกองทัพบก ในระหว่างการชุมนุมเดินขบวนเรียกร้องประชาธิปไตยและคัดค้านการปกครองแบบเผด็จการของฝ่ายทหารเมื่อปี 1988 บุคลากรของกองทัพเรือจำนวนมากทีเดียวที่อยู่รอบๆ ย่างกุ้ง ได้เข้าไปร่วมการชุมนุมเดินขบวน ซึ่งต่อมาก็ถูกปราบปรามกวาดล้างอย่างนองเลือด ภายหลังการปราบปรามคราวนั้นแล้ว พวกทหารที่ประกาศแปรพักตร์ ส่วนข้างมากก็เป็นทหารเรือ

กองทัพเรือได้ถูกปรับโครงสร้างกันใหม่ครั้งใหญ่ภายหลังปี 1988 และในระยะไม่กี่ปีหลังมานี้ก็สามารถปรับปรุงยกระดับทางด้านแสนยานุภาพเพิ่มขึ้น จากการได้รับงบประมาณมากขึ้น รวมทั้งได้รับอนุมัติให้เพิ่มขยายกำลังเรือรบ, ระบบอาวุธ, และเครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆ ซึ่งหลายๆ อย่างเป็นการจัดซื้อจัดหาจากแหล่งใหม่ๆ ถึงกระนั้น กองทัพเรือก็เป็นเช่นเดียวกับกองทัพอากาศ ยังคงเป็นเหล่าทัพที่ด้อยกว่ามากมายนักเมื่อเปรียบเทียบกับกองทัพบก ภาพลักษณ์ของนายทหารเรือในสายตาของคนส่วนใหญ่ ก็คือ เป็นผู้ที่มีความแข็งกร้าวทางการเมืองน้อยกว่านายทหารบก และส่วนใหญ่ไม่ได้ผ่านการรับราชการในแนวหน้าที่ต้องสู้รบกับพวกกบฎ –ถึงแม้ว่าลักษณะทั้งสองประการนี้คือข้อด้อยในสายตาของพวกนายทหารบก ซึ่งมองว่าการสู้รบในแนวหน้าเป็นเสมือนเหรียญตราอันน่าภาคภูมิใจ

กองทัพเรือยังไม่มีรอยแผลอัปยศแห่งการละเมิดสิทธิมนุษยชนและการทุจริตคอร์รัปชั่นเหมือนกองทัพบกอีกด้วย ถึงแม้เมื่อเร็วๆ นี้มีรายงานที่รวบรวมโดยพวกกลุ่มสิทธิมนุษยชนซึ่งลี้ภัยในต่างประเทศ ที่ระบุว่าหน่วยทหารเรือหลายหน่วยมีพฤติการณ์แย่งยึดที่ดินและขู่เข็ญกรรโชก แต่ก็เชื่อกันว่าการกระทำเหล่านี้ซึ่งส่วนใหญ่จำกัดอยู่ในบริเวณพื้นที่ชายฝั่งทะเลของรัฐยะไข่และรัฐมอญ ตลอดจนในเขตตะนาวศรี (Tenasserim Division) ได้ส่งผลกระทบต่อประชาชนในสัดส่วนน้อยกว่าการแย่งยึดที่ดินที่ได้รับการหนุนหลังจากกองทัพบกมากมายนัก

ด้วยเหตุนี้ การแต่งตั้ง เนียน ตุน จึงแสดงถึงความรอบคอบที่จะหลีกเลี่ยงไม่ให้มีปัญหาภาพลักษณ์ในสายตานานาชาติขึ้นมา ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นได้ถ้าหากให้นายทหารบกสักคนหนึ่งขึ้นเป็นรองประธานาธิบดี พวกนักวิเคราะห์ชี้ด้วยว่า เนียน ตุน ไม่ได้มีชื่อฉาวโฉ่เรื่องทุจริตคอร์รัปชั่น อีกทั้งเขายังไม่มีประวัติเรื่องละเมิดสิทธิมนุษยชน ในฐานะที่เป็นสมาชิกของเหล่าทัพในกองทัพซึ่งในอดีตมีความโดดเด่นในเรื่องให้ความสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง การแต่งตั้งเขายังน่าจะเป็นสัญญาณแสดงให้เห็นว่าฝ่ายนักปฏิรูปในคณะรัฐบาลกำลังมีความแข็งแกร่งมากขึ้น สิ่งที่เขาแตกต่างไปจากผู้ดำรงตำแหน่งนี้ก่อนหน้าเขาอีกประการหนึ่งก็คือ เนียน ตุน ยังมีการเปิดตัวเป็นที่รู้จักของนานาชาติอยู่ระดับหนึ่ง ส่วนใหญ่คือการเปิดตัวกับพวกประเทศเพื่อนบ้านและการเจรจาหารือในเรื่องกิจการทางนาวี

อย่างไรก็ดี เป็นเรื่องแน่นอนทีเดียวว่า ความสัมพันธ์ของเขากับฝ่ายทหารจะต้องถูกจับตามองอย่างใกล้ชิด ถึงแม้เชื่อกันว่า เนียน ตุน เป็นผู้ที่จงรักภักดีต่อ รองพลเอกอาวุโส มิ้น อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดคนปัจจุบัน รวมทั้งมีความใกล้ชิดกับ พลเอกอาวุโส ตาน ฉ่วย แต่เขาก็ไม่ได้มีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดเป็นส่วนตัวกับกองทัพบก และที่สำคัญก็คือเขาไม่เคยเป็นผู้บังคับบัญชาทหารในภาคสนามมาก่อนเลย

ในฐานะที่เป็นลูกนาวี เขาไม่ได้มีช่องทางต่อสายตรงถึงกลุ่มทรงอำนาจภายในกองทัพบกกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเป็นพิเศษโดยที่ในความเป็นจริงในปัจจุบัน อำนาจทางการเมืองของพม่ายังคงอยู่ในกำมือของกลุ่มทรงอำนาจเหล่านี้มากที่สุด
ตั้งแต่ตอนแรกๆ ที่มีข่าวเรื่อง เนียน ตุน ได้รับคัดเลือกให้เป็นรองประธานาธิบดีคนใหม่แล้ว ก็มีการคาดเดากะเก็งกันว่าเขามีความตั้งอกตั้งใจมากน้อยแค่ไหนในการปกป้องคุ้มครองอำนาจอภิสิทธิ์ต่างๆ ของฝ่ายทหาร และโดยเฉพาะอย่างยิ่งของกองทัพบก ไม่ต้องสงสัยเลยว่าการจัดการกับประเด็นปัญหาเหล่านี้ของเขา จะมีผลโดยตรงต่อความเคารพนับถือและการเชื่อฟัง ซึ่งพวกผู้นำทางทหารตลอดจนสมาชิกรัฐสภาส่วนที่มาจากทหารและได้รับการแต่งตั้งจากฝ่ายทหาร จะให้แก่ตัวเขา

การแต่งตั้ง เนียน ตุน ยังทำให้เกิดการกะเก็งคาดเดากันในเรื่องที่ว่า เวลานี้ ตาน ฉ่วย ยังคงเหลืออำนาจอยู่มากน้อยแค่ไหน ในการควบคุมสั่งการฝ่ายทหาร ตลอดจนในการกุมบังเหียนกระบวนการทางการเมืองที่วิวัฒน์ไปอย่างรวดเร็วยิ่งของพม่า ถึงแม้เป็นที่เชื่อกันว่า เนียน ตุน มีความใกล้ชิดกับ อดีตบุรุษเหล็กของคณะขุนศึกใหญ่ผู้ปกครองประเทศผู้นี้ แต่ถ้าหากกระทำได้ ตาน ฉ่วย น่าที่จะเลือกผลักดัน มิ้นต์ ฉ่วย ให้ขึ้นเป็นรองประธานาธิบดีมากกว่า ถึงแม้จะต้องฟันฝ่าอุปสรรคของการโต้แย้งกันในเรื่องสัญชาติของบุตรสาวของ มิ้นต์ ฉ่วย ก็ตามที หรือไม่เขาก็น่าจะเลือกผลักดันนายทหารบกที่มั่นใจได้ในเรื่องมีแนวคิดแบบแข็งกร้าวสักคนหนึ่ง

ตรงกันข้าม ตาน ฉ่วย และพวกผู้นำทางทหารคนอื่นๆ ดูเหมือนกำลังยอมรับตัวเลือกที่เป็นการประนีประนอมเฉกเช่น เนียน ตุน เรื่องนี้จึงชี้ให้เห็นว่า ฝ่ายทหารกำลังให้ความสนับสนุนความพยายามในการปฏิรูปที่ได้รับการยกย่องสรรเสริญอย่างกว้างขวางของเต็ง เส่ง ไม่ว่าจะเป็นการให้ความสนับสนุนแบบลังๆ เลๆ หรือกระทั่งแบบไม่เต็มใจเลยก็ตามที

ไบรอัน แมคคาร์แทน เป็นนักหนังสือพิมพ์อิสระ สามารถติดต่อเขาทางอีเมลได้ที่ bpmccartan1@gmail.com
กำลังโหลดความคิดเห็น