“อีสานโพล” สำรวจประชาชนในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบส่วนใหญ่กลัวแจกแท็บเล็ตให้เด็ก ป.1 เหลว เหตุผู้ปกครองและเด็กยังไม่พร้อม แนะควรแจกระดับมัธยมมากกว่า นอกจากนี้ยังไม่มั่นใจคุณภาพเครื่อง ชี้โครงการไม่มีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ
นายสุทิน เวียนวิวัฒน์ หัวหน้าโครงการอีสานโพล (E-Saan Poll) ศูนย์วิจัยธุรกิจและเศรษฐกิจอีสาน (ECBER) คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เผยผลสำรวจเรื่อง “ความคิดเห็นของชาวอีสานกับนโยบายการแจก Tablet PC แก่เด็กนักเรียน ชั้น ป.1 ของรัฐบาล” พบว่า ชาวอีสานกว่าร้อยละ 67.8 รู้จัก Tablet PC จากการให้เลือกภาพที่ถูกต้องจากภาพอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ 6 ภาพ โดยกว่าร้อยละ 55.5 ไม่มี Tablet PC ใช้ และยังไม่เคยใช้งานมาก่อน รองลงมาคือไม่มี Tablet PC แต่เคยมีโอกาสใช้งาน ร้อยละ 34 อีกร้อยละ 10 มี Tablet PC เป็นของตัวเอง
เมื่อถามต่อว่า ชาวอีสานคิดว่าการนำ Tablet PC มาให้นักเรียนใช้จะช่วยทำให้คุณภาพการศึกษาของไทยดีขึ้นหรือไม่ ส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 34.3 เห็นว่าไม่ได้ทำให้คุณภาพการศึกษาดีขึ้น รองลงมาร้อยละ 24.5 เชื่อว่าจะช่วยให้ดีขึ้น และอีกร้อยละ 18 ที่เชื่อว่าอาจทำให้คุณภาพการศึกษาแย่ลง ส่วนอีกร้อยละ 23.2 ไม่แน่ใจ
เมื่อถามถึงความพร้อมของผู้เกี่ยวข้อง ได้แก่ ตัวเด็กนักเรียน, พ่อแม่ผู้ปกครอง และครูผู้สอน ผลปรากฏว่า โดยส่วนใหญ่เห็นว่ากลุ่มที่มีความพร้อมมากที่สุด คือ โรงเรียนและครู ซึ่งชาวอีสานเห็นว่าบุคลากรกลุ่มนี้มีความพร้อมที่จะจัดการเรียนการสอนด้วย Tablet PC ถึงร้อยละ 52.3 และเห็นว่ายังไม่พร้อม ร้อยละ 17.3 ไม่แน่ใจ ร้อยละ 30.3
สำหรับตัวเด็กนักเรียน ป.1 ที่จะได้รับแจก Tablet PC ชาวอีสานเห็นว่ายังไม่มีความพร้อมสูงถึงร้อยละ 65.8 มีเพียง 12.5 ที่เห็นว่าเด็กมีความพร้อม ไม่แน่ใจ ร้อยละ 21.7 ในส่วนของพ่อแม่ผู้ปกครอง ส่วนใหญ่ร้อยละ 37 ไม่แน่ใจ รองลงมาร้อยละ 35.5 คิดว่าพ่อแม่ผู้ปกครอง ยังไม่พร้อม และอีกร้อยละ 27.5 เห็นว่าพ่อแม่ผู้ปกครองมีความพร้อม ในการดูแลบุตรหลาน เกี่ยวกับการเรียนการสอนโดยใช้ Tablet PC
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการนำ Tablet PC มาใช้จะมีประโยชน์ แต่กลุ่มตัวอย่างชาวอีสานกว่าร้อยละ 42 ก็กังวลว่า การนำ Tablet PC มาใช้ จะเป็นการ ลดบทบาทของครูผู้สอนลง นอกจากนี้ กลุ่มตัวอย่างยังเห็นว่า ระดับชั้นที่ควรได้รับแจก Tablet PC ควรเป็นเด็กโตมากกว่าเด็กเล็ก โดยร้อยละ 29.5 เห็นว่าควรแจกเมื่อเรียนระดับชั้นมัธยมต้น รองลงมาร้อยละ 25.7 เห็นว่าควรแจกระดับอุดมศึกษา และอีกร้อยละ 23.8 เห็นว่าควรแจกที่ระดับมัธยมปลาย มีเพียงร้อยละ 14.3 ที่เห็นว่าควรแจกเด็กนักเรียนประถมปลาย และร้อยละ 6.7 ที่ควรแจกระดับประถมต้น
สอดคล้องกับคำถามถึงความกังวลของกลุ่มตัวอย่าง ที่กว่าร้อยละ 67.3 กังวลว่าการแจก Tablet PC ให้แก่เด็กนักเรียนชั้น ป.1 จะเกิดปัญหา เช่น เด็กไม่มีความสามารถในการรักษาทรัพย์สิน และกังวลว่าเด็กจะใช้งานไม่ตรงกับวัตถุประสงค์เพื่อการศึกษา ซึ่งเมื่อถามถึงประเด็นนี้ กว่าร้อยละ 66.2 เห็นว่า เด็กจะไม่ได้ใช้ Tablet PC เพื่อประโยชน์ทางการศึกษาเป็นหลัก แต่ใช้เพื่อวัตถุประสงค์อื่น เช่น เล่นเกมส์, เล่นอินเทอร์เน็ต มีเพียงร้อยละ 33.8 ที่เชื่อว่าเด็กนักเรียนที่ได้รับ Tablet PC จะใช้งานตรงตามวัตถุประสงค์เพื่อการ ศึกษาอย่างแท้จริง
ส่วนกระบวนการจัดซื้อจัดหา Tablet PC ของรัฐบาล ส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 56.5 เห็นว่าอาจไม่โปร่งใส รองลงมาร้อยละ 35.8 เห็นว่ามีความโปร่งใส และอีกร้อยละ 7.7 ไม่แน่ใจ สำหรับด้านคุณภาพของ Tablet PC ที่รัฐบาลกำลังดำเนินการจัดซื้อจัดหานั้น กลุ่มตัวอย่างชาวอีสาน ร้อยละ 59.8 ไม่มั่นใจในคุณภาพ อีกร้อยละ 38.0 มีความมั่นใจ และร้อยละ 2.2 ตอบว่าไม่แน่ใจ นอกจากนี้ กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 54.5 ยังเห็นว่านโยบายนี้ไม่คุ้มค่าทางเศรษฐกิจ แต่ก็ยังมีผู้ที่เห็นว่าคุ้มค่ากว่าร้อยละ 45.2 นอกจากนี้ กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 65.5 เห็นด้วยหากรัฐบาลจะแจก Tablet PC แก่เด็กนักเรียนระดับ ม.1 ด้วย ส่วนอีกร้อยละ 34.5 ไม่เห็นด้วย
นายสุทินกล่าวว่า ชาวอีสานส่วนใหญ่รู้จัก Tablet PC ผ่านทางสื่อต่างๆ และรับรู้เกี่ยวกับนโยบายของรัฐที่จะแจก Tablet PC แก่เด็กนักเรียนชั้น ป.1 ซึ่งแม้ชาวอีสานจะเชื่อว่าบุคลากรทางการศึกษา คือโรงเรียนและครู จะมีความพร้อม แต่ผู้เกี่ยวข้องอื่นๆ ทั้งตัวเด็กนักเรียน และพ่อแม่ผู้ปกครอง ยังขาดความพร้อมที่จะนำ Tablet PC มาใช้ในการศึกษา และมีความกังวลอย่างมากว่าเด็กจะนำเครื่องไปใช้ไม่ตรงกับวัตถุประสงค์ โดยอาจใช้เล่นเกม หรืออินเทอร์เน็ต และสนใจเนื้อหาการศึกษาน้อยกว่า
นอกจากนี้ยังกังวลว่า เด็ก ป.1 จะยังไม่สามารถดูแลรักษาสิ่งของอย่าง Tablet PC ได้ อาจเกิดปัญหาการพังเสียหาย การทำสูญหาย หรือแม้แต่อาชญากรรมการลักขโมย จึงเห็นว่าหากจะมีการแจก ควรเน้นแจกเด็กโตมากกว่าเด็กเล็ก อย่างไรก็ดี กลุ่มตัวอย่างชาวอีสานส่วนใหญ่เชื่อว่า การนำ Tablet PC มาใช้ไม่ได้มีส่วนช่วยให้ระดับคุณภาพการศึกษาของไทยดีขึ้นจากเดิมแต่อย่างใด