xs
xsm
sm
md
lg

ต้อกระจก : เป็นได้ หายเป็น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ดวงตา คือ หน้าต่างของหัวใจ” แต่จะเป็นอย่างไร หากดวงตาไม่แจ่มใส แล้วจะมองทะลุถึงภายในใจได้หรือเปล่า อาจดูไม่เกี่ยวกันเท่าไรนัก แต่นั่นก็สะท้อนให้เห็น “จักษุ” หรือดวงตาของคนเรานั้น มีความสำคัญต่อการดำเนินชีวิต แต่สิ่งที่สำคัญ ก็มักจะมีสิ่งร้ายๆ มาคุกคาม และสำหรับดวงตา หนึ่งในปัญหาที่พบเห็นบ่อย ก็คือ “ต้อกระจก”

พ.ต.อ.นายแพทย์ คำนูณ อธิภาส หัวหน้าแผนกจักษุแพทย์ คลินิกศูนย์แพทย์พัฒนา อธิบายว่า “ต้อกระจก” นั้นเป็นอาการเสื่อมของดวงตาอย่างหนึ่ง ตอนเด็ก เราสามารถดูไกลดูใกล้ได้ เมื่อเราอายุมากขึ้น เลนส์สายตาที่มันสามารถยืดหยุ่นปรับระยะได้ ก็จะค่อยๆ แข็งตัวขึ้นตามลำดับ

“อายุ 40 ปีเป็นต้นไป เราก็จะเริ่มรู้สึกว่าเราอ่านหนังสือได้ยากขึ้น ต้องค่อยๆ ถอยระยะไป หลังจากนั้น ความยืดหยุ่นก็จะค่อยๆ ลดลง ลดลงเรื่อยๆ ไป จนกระทั่งแกนเลนส์แข็งตัว เนื้อเลนส์สายตาที่เคยใสแจ๋วก็จะเริ่มขุ่นมัว การมองก็ค่อยๆ พร่าลง ลักษณะก็อย่างเช่นเห็นภาพซ้อนๆ เป็นหลายภาพ แตกๆ เริ่มแสดงให้เห็นว่าเลนส์เริ่มเสื่อม หลังจากนั้น ก็จะขุ่นไปเรื่อยๆ อ่านตัวหนังสือได้น้อยลง”

แต่ตามความจริง โรคต้อกระจกไม่ได้ขึ้นอยู่กับอายุแต่อย่างใด เพราะแม้เด็กแรกเกิดก็มีโอกาสที่จะเป็นได้ ถ้าคุณแม่เป็นหัดเยอรมัน ลูกก็รับเชื้อด้วย และส่งผลต่อพัฒนาการของเลนส์สายตาให้เสื่อมลง วิธีป้องกันทางหนึ่ง ก็คือ คุณแม่ต้องฉีดวัคซีน ซึ่งจะช่วยลดโอกาสในการเป็นต้อกระจกได้ หรือสำหรับคนที่ทำงานกลางแจ้งมากๆ อย่างชาวประมงหรือชาวนา หากทำได้ ก็ควรมีอุปกรณ์กันแสง อย่างเช่นแว่นกันแดด ก็ช่วยลดได้เหมือนกัน

ส่วนถ้าใครรู้สึกว่าตัวเองมีปัญหาเกี่ยวกับต้อกระจกในดวงตาแล้ว ปัจจุบันนี้ก็มีวิธีการรักษาให้หายได้ ไม่ว่าจะเป็นการอัลตร้าซาวน์มาตรฐานหรือว่าจะเสริมความแม่นยำด้วยการยิงเลเซอร์ ซึ่งสามารถเลือกได้ว่าจะใช้วิธีการแบบไหน ดังนั้น แม้ทุกคนจะมีโอกาสเป็นโรคนี้กันได้ แต่ก็ใช่ว่าจะรักษาไม่หาย

“แผลผ่าตัดในปัจจุบันจะปิดแน่นหนาพอสมควร” นพ.คำนูณ ให้คำชี้แนะ “สิ่งที่ควรระมัดระวังคืออย่าให้โดนน้ำหรือโดนเชื้อโรค ส่วนการออกกำลังหรือออกแรง ด้วยความที่แผลมันปิดสนิทดีแล้ว โอกาสที่แผลจะรั่วน้อยมาก น้อยกว่าหนึ่งเปอร์เซ็นต์ แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ควรระวังก็คือ ห้ามขยี้ตา เพราะว่ามืออาจจะนำเชื้อโรคเข้าไปในดวงตาได้ และอีกอย่าง ก็คือ ห้ามไม่ให้มีแสงโดน เพราะว่าจริงๆ แล้ว การถูกแสงจะทำให้ไม่สบายเท่านั้น เราเน้นให้สวมแว่นตลอดหนึ่งถึงสองสัปดาห์หลังผ่าตัด ก็เพื่อไม่ให้โดนน้ำและไม่ให้มือเผลอไปขยี้”

หนึ่งในปัญหาที่หลายคนสงสัยก็คือ ถ้ารักษาแล้วจะกลับมาเป็นอีกได้ไหม
“เมื่อเราผ่าตัดเอาเนื้อเลนส์ขุ่นๆ ออกไปหมดแล้ว เราจะเหลือเปลือกหรือแคปซูลของเลนส์ ตัวเปลือกเลนส์จะยึดอยู่กับกล้ามเนื้อ ตัวเปลือกเลนส์จะมีเซลล์หลงเหลืออยู่ เซลล์พวกนี้อาจจะสร้างเนื้อเยื่อขึ้นมาใหม่บางๆ แต่อันนี้มันจะไม่งอกเป็นก้อนใหญ่ๆ แต่มันอาจจะเป็นฝ้าบางๆ เคลือบอยู่หลังเลนส์ บางท่าน หลังจากผ่าตัดต้อกระจกไปแล้ว หกเดือน หนึ่งปีหรือสองปี โดยเฉพาะคนที่เป็นต้อกระจกตั้งแต่วัยรุ่นหรืออายุยังน้อยๆ ร่างกายยังจะมีฮอร์โมนที่ไปกระตุ้นเซลล์ ก็จะมีโอกาสที่เซลล์พวกนี้จะงอกขึ้นมาใหม่ได้เร็ว ก็จะเกิดชั้นฝ้าบนถุงหุ้มเลนส์”

แต่นั่นไม่ใช่รักษาไม่ได้ เพราะวิธีการก็ง่ายนิดเดียว คือใช้เลเซอร์อีกชนิดหนึ่ง ยิงเข้าไปในเปลือกเลนส์ ก็จะทำให้เลนส์เปิดออกและแสงวิ่งผ่านเข้าไปได้ ใช้เวลาสั้นมาก ชนิดที่เราแทบจะไม่รู้สึกอะไรเลย

***
ขอบคุณข้อมูล : รายการ “ Health Line สายตรงสุขภาพ” รายการที่สร้างภูมิคุ้มกันโรคภัยไข้เจ็บ ออกอากาศทุกวันอาทิตย์ เวลา 7.00-8.00 น.ทางสถานีโทรทัศน์เอเอสทีวี
กำลังโหลดความคิดเห็น