สธ.เผยพบผู้ป่วยโรคคอตีบแล้ว 79 ราย ตาย 4 ราย สั่งนายแพทย์สาธารณสุข 15 จังหวัด ตั้งวอร์รูมคุมการระบาด เร่งหาวัคซีนเสริมภูมิคุ้มกัน ย้ำตรวจรักษาเร็วเสี่ยงตายน้อย แนะปิดจมูก ปาก เวลาไอจาม และล้างมือบ่อยๆ
นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงสถานการณ์โรคคอตีบว่า จากข้อมูลสำนักระบาดวิทยาตั้งแต่ 1 ม.ค. - 14 ต.ค. 2555 พบผู้ป่วยแล้ว 79 รายใน 15 จังหวัด เป็นเด็กอายุ 10-14 ปีร้อยละ 24 และมีผู้เสียชีวิต 4 ราย ขณะนี้ สธ.ได้ตั้งวอร์รูมที่ส่วนกลางเพื่อติดตามประเมินความคืบหน้าสถานการณ์และมาตรการควบคุมป้องกันโรค โดยจัดประชุมอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง ทั้งนี้ ในการควบคุมโรคคอตีบได้ดำเนินการโดยแบ่งเป็น 4 ระดับ ดังนี้ 1. จังหวัดที่ต้องดำเนินการขั้นสูงสุด คือ จ.เลย เนื่องจากพบผู้ป่วยมากถึง 66 ราย และมีผู้เสียชีวิต 2 ราย 2. จังหวัดอื่นๆ ที่พบผู้ป่วยยืนยันว่าติดเชื้อ ได้แก่ เพชรบูรณ์ หนองบัวลำภู อุดรธานี และสุราษฎร์ธานี 3. จังหวัดที่พบผู้สงสัยว่าจะติดเชื้อ ได้แก่ พิษณุโลก สกลนคร และ 4. จังหวัดที่ติดกับพื้นที่ที่มีผู้ป่วยหรือผู้สงสัย ได้แก่ ชัยภูมิ ขอนแก่น หนองคาย เชียงราย พิจิตร อุตรดิตถ์ บึงกาฬ และน่าน
“นอกจากนี้ ได้จัดทำแนวทางการตรวจวินิจฉัย การรักษาให้แก่แพทย์ พยาบาล ตลอดจนการส่งต่อผู้ป่วย และทบทวนเกี่ยวกับกฎหมายที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการ เพื่อเป็นแนวทางการทำงานให้กับนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดและโรงพยาบาล รวมถึงได้จัดหาวัคซีนเพื่อเสริมภูมิคุ้มกันส่งให้แต่ละจังหวัดแล้ว โรคนี้หากได้รับการตรวจรักษาอย่างรวดเร็วจะไม่เสียชีวิต” ปลัด สธ.กล่าว
นพ.ณรงค์กล่าวอีกว่า สำหรับนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดทั้ง 15 จังหวัด ให้ดำเนินการตาม 6 มาตรการ ดังนี้ 1. ตั้งวอร์รูมเพื่อควบคุมแก้ไขปัญหาในพื้นที่ โดยมีนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเป็นผู้สั่งการ วิเคราะห์สถานการณ์ กำกับ ติดตามผลการดำเนินการในพื้นที่ที่เฝ้าระวัง และให้ประชุมติดตามสถานการณ์อย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 ครั้ง และรายงานผลที่กรมควบคุมโรคทุกสัปดาห์ 2.จัดระบบเฝ้าระวังเชิงรุกเกี่ยวกับอาการไข้ เจ็บคอ ฝ้าสีเทาในคอ โดยให้ อสม.เคาะประตูบ้านถามอาการสัปดาห์ละ 2 ครั้ง และรายงานผู้ป่วยที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล หากพบผู้ป่วยหรือผู้ที่สงสัย ให้ส่งทีมสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็วลงสอบสวนโรคทันที และติดตามผู้ป่วยกินยาให้ครบตามกำหนด 3.เร่งฉีดวัคซีนป้องกันโรคคอตีบเสริมภูมิคุ้มกันแก่ประชาชนทุกคนในอำเภอที่เฝ้าระวังให้ครบภายใน 2 สัปดาห์ โดยไม่เน้นประวัติการรับวัคซีน และเก็บตกในเด็กตามการให้วัคซีนระบบปกติ 4. ให้จัดอบรมทบทวนความรู้แพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเรื่องโรคคอตีบ เกี่ยวกับการวินิจฉัย การรักษา และการส่งต่อผู้ป่วยตามแนวทางที่กำหนด 5. เร่งให้ความรู้การป้องกันโรคคอตีบแก่ อสม. ประชาชน กลุ่มเสี่ยงต่างๆ เช่น ศูนย์เด็กเล็ก โรงเรียน และ 6. ให้แต่ละจังหวัดจัดระบบเฝ้าระวัง เตรียมพร้อมรับมือกับเทศกาลหรือกิจกรรมที่มีประชาชนมาร่วมงานจำนวนมาก เช่น เทศกาลออกพรรษา เทศกาลลอยกระทง หรือเทศกาลปีใหม่ โดยประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และจัดสื่อเผยแพร่ให้กับนักท่องเที่ยว ในเรื่องการป้องกันโรคและอาการเบื้องต้นที่ต้องรีบพบแพทย์
“ขอให้ทั้ง 15 จังหวัดติดตามสถานการณ์และเฝ้าระวังผู้ป่วยที่ต้องสงสัย เพื่อให้การวินิจฉัยควบคุมได้อย่างรวดเร็ว รวมทั้งการให้วัคซีนในเด็กตามเกณฑ์ที่กรมควบคุมโรคกำหนดให้ครบถ้วน สำหรับมาตรการการป้องกันโรคในประชาชน แนะนำให้เวลาไอหรือจาม ควรมีผ้าปิดจมูกและปาก หมั่นล้างมือบ่อยๆ เวลาไปสัมผัสสิ่งของทั่วไป” ปลัด สธ.กล่าว