สธ.เผย ผู้ประสบภัยน้ำท่วมป่วย “ท้องร่วง” แล้วกว่า 2,000 ราย แต่เป็นแบบกระจาย ชี้ มีการปนเปื้อนเชื้อโรคในน้ำและอาหาร แนะทิ้งขยะลงถุงและปิดปากถุงให้มิดชิด ด้านสถานพยาบาลสังกัด สธ.ไม่ได้รับผลกระทบจากแกมี ยังเปิดให้บริการตามปกติ
วันนี้ (9 ต.ค.) นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า จากการติดตามประเมินผลกระทบจากพายุแกมี ขณะนี้สถานพยาบาลในสังกัด สธ.ทุกแห่งไม่ได้รับผลกระทบใดๆ สามารถเปิดให้บริการตามปกติ ทั้งนี้ ยังได้จัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ออกให้บริการผู้ประสบภัยในพื้นที่ 10 จังหวัด ทุกวัน โดยได้ออกบริการแล้ว 404 ครั้ง มีผู้ป่วยรับบริการ 57,074 ราย พบส่วนใหญ่เป็นโรคน้ำกัดเท้า แต่ไม่มีอาการรุนแรง ส่วนทีมเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ยังคงออกเยี่ยมบ้านผู้ป่วยที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ที่อยู่ตามบ้านเรือน เช่น อัมพฤกษ์ อัมพาต รวมเกือบ 10,000 ราย ส่วนด้านสุขภาพจิตขณะนี้ตรวจคัดกรองเพื่อให้การดูแลผู้ที่มีปัญหาแล้วกว่า 10,000 ราย ในจำนวนนี้พบว่ามีความเครียด ความวิตกกังวลอยู่ในเกณฑ์ที่ต้องติดตามเป็นพิเศษ 44 ราย
นายวิทยา กล่าวอีกว่า ตนได้ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ในพื้นที่น้ำท่วมวางแผนฟื้นฟูหลังน้ำลด ทั้งสถานที่สาธารณะ ตลาดสด โรงเรียน และบ้านเรือนประชาชน ตรวจคุณภาพน้ำและอาหารให้ปลอดภัยทั้งหมด และให้ป้องกันควบคุมโรคระบาดหลังน้ำลด เช่น โรคไข้เลือดออก โรคฉี่หนู อย่างน้อย 2 สัปดาห์
ด้าน นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัด สธ.กล่าวว่า วอร์รูมน้ำท่วมของ สธ.ได้ติดตามสภาพปัญหาการเจ็บป่วยในพื้นที่น้ำท่วม เริ่มพบมีผู้ป่วยอุจจาระร่วงประปราย ประมาณ 2,000 ราย แต่ยังไม่มีการแพร่ระบาดเป็นกลุ่มก้อน นับเป็นสัญญาณว่ามีการปนเปื้อนเชื้อโรคในน้ำและอาหาร จึงอยากขอความร่วมมือประชาชนให้ช่วยลดความสกปรกของน้ำที่ท่วมขัง ทั้งสถานที่สาธารณะและตามบ้านเรือน โดยทิ้งขยะลงในถุงพลาสติกหรือถุงดำ และมัดปากถุงให้มิดชิด อย่าทิ้งขยะลงน้ำ โดยเฉพาะขยะเปียก และไม่ถ่ายอุจจาระลงน้ำ เนื่องจากจะทำให้น้ำเน่าเสีย เพิ่มสิ่งปนเปื้อนในน้ำเพิ่มขึ้น อาจทำให้เชื้อโรคแพร่กระจายได้ นอกจากนี้ ให้ยึดหลัก กินร้อน ใช้ช้อนกลาง ล้างมือฟอกสบู่บ่อยๆ และควรกินน้ำบรรจุขวดหรือน้ำต้มสุก ก็จะปลอดภัยจากโรคติดต่อที่มากับน้ำและอาหารปนเปื้อน
วันนี้ (9 ต.ค.) นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า จากการติดตามประเมินผลกระทบจากพายุแกมี ขณะนี้สถานพยาบาลในสังกัด สธ.ทุกแห่งไม่ได้รับผลกระทบใดๆ สามารถเปิดให้บริการตามปกติ ทั้งนี้ ยังได้จัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ออกให้บริการผู้ประสบภัยในพื้นที่ 10 จังหวัด ทุกวัน โดยได้ออกบริการแล้ว 404 ครั้ง มีผู้ป่วยรับบริการ 57,074 ราย พบส่วนใหญ่เป็นโรคน้ำกัดเท้า แต่ไม่มีอาการรุนแรง ส่วนทีมเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ยังคงออกเยี่ยมบ้านผู้ป่วยที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ที่อยู่ตามบ้านเรือน เช่น อัมพฤกษ์ อัมพาต รวมเกือบ 10,000 ราย ส่วนด้านสุขภาพจิตขณะนี้ตรวจคัดกรองเพื่อให้การดูแลผู้ที่มีปัญหาแล้วกว่า 10,000 ราย ในจำนวนนี้พบว่ามีความเครียด ความวิตกกังวลอยู่ในเกณฑ์ที่ต้องติดตามเป็นพิเศษ 44 ราย
นายวิทยา กล่าวอีกว่า ตนได้ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ในพื้นที่น้ำท่วมวางแผนฟื้นฟูหลังน้ำลด ทั้งสถานที่สาธารณะ ตลาดสด โรงเรียน และบ้านเรือนประชาชน ตรวจคุณภาพน้ำและอาหารให้ปลอดภัยทั้งหมด และให้ป้องกันควบคุมโรคระบาดหลังน้ำลด เช่น โรคไข้เลือดออก โรคฉี่หนู อย่างน้อย 2 สัปดาห์
ด้าน นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัด สธ.กล่าวว่า วอร์รูมน้ำท่วมของ สธ.ได้ติดตามสภาพปัญหาการเจ็บป่วยในพื้นที่น้ำท่วม เริ่มพบมีผู้ป่วยอุจจาระร่วงประปราย ประมาณ 2,000 ราย แต่ยังไม่มีการแพร่ระบาดเป็นกลุ่มก้อน นับเป็นสัญญาณว่ามีการปนเปื้อนเชื้อโรคในน้ำและอาหาร จึงอยากขอความร่วมมือประชาชนให้ช่วยลดความสกปรกของน้ำที่ท่วมขัง ทั้งสถานที่สาธารณะและตามบ้านเรือน โดยทิ้งขยะลงในถุงพลาสติกหรือถุงดำ และมัดปากถุงให้มิดชิด อย่าทิ้งขยะลงน้ำ โดยเฉพาะขยะเปียก และไม่ถ่ายอุจจาระลงน้ำ เนื่องจากจะทำให้น้ำเน่าเสีย เพิ่มสิ่งปนเปื้อนในน้ำเพิ่มขึ้น อาจทำให้เชื้อโรคแพร่กระจายได้ นอกจากนี้ ให้ยึดหลัก กินร้อน ใช้ช้อนกลาง ล้างมือฟอกสบู่บ่อยๆ และควรกินน้ำบรรจุขวดหรือน้ำต้มสุก ก็จะปลอดภัยจากโรคติดต่อที่มากับน้ำและอาหารปนเปื้อน