สภาราชบัณฑิตฯ มีมติยุติแก้เขียนคำศัพท์ภาษาอังกฤษให้ตรงตามอักขรวิธีไทยทั้ง 176 คำ หลังผลสำรวจบรรดาภาคีสมาชิกส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย มองว่า เขียนแบบเดิมดีแล้ว ขณะที่ “กาญจนา” ยันจะเขียนลักษณะนี้ในงานเขียนส่วนตัวต่อไป
วันนี้ (17 ธ.ค.) นายอุดม วโรตม์สิกขดิตถ์ ราชบัณฑิตประธานสำนักศิลปกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการพิจารณากำหนดแนวทางการเขียนคำที่ยืมมาจากต่างประเทศ เปิดเผยว่า หลังจาก นางกาญจนา นาคสกุล ราชบัณฑิต และนายกสมาคมครูภาษาไทยแห่งประเทศไทย ได้จัดทำแบบสำรวจความคิดเห็นจากคณะกรรมการราชบัณฑิต และภาคีสมาชิก รวม 360 ชุด เกี่ยวกับการขอเปลี่ยนแปลงการเขียนคำที่ยืมจากภาษาอังกฤษใหม่ 176 คำ ที่ปรากฏอยู่ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 เนื่องจากมองว่าเขียนไม่ตรงกับเสียงวรรณยุกต์ของคำนั้นๆ ตามอักขรวิธีไทย และการอ่านออกเสียง อาทิ แคลอรี เป็น แคลอรี่, โควตา เป็น โควต้า, เรดาร์ เป็น เรด้าร์, ซีเมนต์ เป็น ซีเม็นต์, เมตร เป็น เม้ตร, คอนเสิร์ต เป็น ค็อนเสิร์ต, คอมพิวเตอร์ เป็น ค็อมพิ้วเต้อร์ เป็นต้น ซึ่งขณะได้รวบรวมผลสำรวจดังกล่าวเรียบร้อยแล้วจำนวน 283 ชุด โดยมีผู้เห็นด้วย 17 คน และไม่เห็นด้วย 178 คน นอกจากนี้ ยังมีผู้ที่เห็นด้วยบางคำ 81 คน และไม่ลงความเห็นอีก 7 คน รวมทั้งหมด 283 คน
ทั้งนี้ พบว่า สำนักวิทยาศาสตร์ ไม่เห็นด้วย 61 คน สำนักศิลปกรรม เห็นด้วย 5 คน ไม่เห็นด้วย 4 คน เห็นด้วยบางคำ 10 คน สำนักธรรมศาสตร์และการเมือง เห็นด้วย 7 คน ไม่เห็นด้วย 1 คน เห็นด้วยบางคำ 5 คน และไม่ออกความเห็น 5 คน กรรมการวิชาการ กองวิทยาศาสตร์ เห็นด้วย 1 คน ไม่เห็นด้วย 30 คน เห็นด้วยบางคำ 23 คน กรรมการวิชาการ กองศิลปกรรม เห็นด้วย 1 คน ไม่เห็นด้วย 35 คน เห็นด้วยบางคำ 17 คน ไม่ออกความเห็น 2 คน กรรมการวิชาการ กองธรรมศาสตร์และการเมือง เห็นด้วย 1 คน ไม่เห็นด้วย 32 คน เห็นด้วยบางคำ 17 คน และไม่ระบุสังกัด เห็นด้วย 2 คน ไม่เห็นด้วย 15 คน และเห็นด้วยบางคำ 9 คน ส่วนคนที่ไม่เห็นด้วย ให้เหตุผลว่าการเขียนตามแบบเดิมดีอยู่แล้ว ไม่สมควรแก้ไข หรือว่าเปลี่ยนอะไรอีก ซึ่งได้นำผลการสำรวจความเห็นดังกล่าวเสนอต่อที่ประชุมสภาราชบัณฑิตยสถาน โดยได้มีมติว่าเมื่อเสียงส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย ก็สมควรให้ยุติเรื่องดังกล่าวไว้เท่านี้ก่อน
ขณะที่นางกาญจนา กล่าวว่า ยอมรับในผลสำรวจ แต่ยืนยันว่า การแก้วิธีเขียนคำศัพท์ให้ตรงกับการเขียนตามอักขรวิธีไทยนั้น เห็นว่าหลายๆ คำได้แก้ และเปลี่ยนวิธีการเขียนให้ตรงตามเสียงอ่านแล้ว ดังนั้น อยากให้ทุกคนเปิดใจยอมรับ ซึ่งแม้ว่าราชบัณฑิตไม่เห็นด้วยกับแก้วิธีการเขียนคำยืมจากภาษาอังกฤษ แต่ส่วนตัวยืนยันว่าจะใช้วิธีดังกล่าวเขียนในงานเขียนส่วนตัวต่อไป เพราะมองว่าเป็นวิธีการเขียนที่ถูกต้อง