xs
xsm
sm
md
lg

ราชบัณฑิตแจงเขียนคำศัพท์ใหม่เน้นเสียงอังกฤษ - นักอักษรฯชี้วงการภาษาวุ่นแน่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

‘ราชบัณฑิต’ แจงเหตุชงศัพท์ยืมจากภาษาอังกฤษ เสียงอ่อยรอดูผลการสำรวจความคิดเห็นอีกครั้ง ยันจะปรับแก้ตามข้อเสนอของเสียงส่วนใหญ่ ถ้าเห็นด้วยเฉพาะบางคำ ก็ปรับแก้เฉพาะที่เห็นด้วย ขณะที่ นักอักษรศาสตร์ ระบุ หากเปลี่ยนวงการภาษาวุ่น

จากกรณีกองศิลปกรรม ราชบัณฑิตยสถาน เตรียมสำรวจความเห็นเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงการเขียนคำที่ยืมจากภาษาอังกฤษใหม่ 176 คำ เนื่องจากเห็นว่ามีการเขียนผิด และไม่ตรงกับเสียงวรรณยุกต์ของคำนั้นๆ ตามอักขรวิธีไทยและการอ่านออกเสียง โดยจัดทำแบบสำรวจความคิดเห็นประมาณ 300 ชุด เกี่ยวกับการเขียนคำยืมจากภาษาอังกฤษในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 เพื่อสอบถามความเห็นจากคณะกรรมการราชบัณฑิต ภาคีสมาชิก และผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยขณะนี้มีทั้งเสียงสนับสนุนและเสียงคัดค้านกับการเปลี่ยนแปลงการเขียนคำศัพท์ดังกล่าว

วันนี้ (1 ต.ค.)นางกาญจนา นาคสกุล ราชบัณฑิตและนายกสมาคมครูภาษาไทยแห่งประเทศไทย กล่าวว่า กรณีที่มีคนออกมาคัดค้านการขอเปลี่ยนการเขียนคำยืมจากภาษาอังกฤษใหม่ทั้ง 176 คน ขอชี้แจงเจตนาอีกครั้ง ว่า เพื่อให้คำศัพท์ดังกล่าว เขียนตรงกับเสียงวรรณยุกต์และการอ่านออกเสียง และถ้าเปลี่ยนแล้วใครไม่เขียนตามราชบัณฑิตก็ไม่ได้ว่าอะไร เพราะทุกวันนี้ก็มีคำศัพท์หลายคำที่ไม่ได้เขียนตามแบบราชบัณฑิตอยู่แล้ว

แต่การเสนอให้เปลี่ยน เพราะเมื่อออกเสียงอย่างไรก็ควรเขียนอย่างนั้นราชบัณฑิต กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ คำที่ยืมมาจากภาษาอังกฤษแล้วได้เขียนตามเสียงวรรณยุกต์ถูกต้อง เช่น ประชุมอังค์ถัด ดาวน์โหลด และคำว่าโหวต ดังนั้น เมื่อหลายคำเขียนถูก ที่เหลือก็ควรเปลี่ยนให้ถูกต้องด้วย อย่างไรก็ตาม ต้องรอดูผลการสำรวจความคิดเห็นอีกครั้งว่าเสียงส่วนใหญ่เห็นด้วยหรือไม่ และถ้าเห็นด้วยเฉพาะบางคำ ก็ปรับแก้เฉพะที่เห็นด้วย ซึ่งตนก็ไม่คัดค้านอะไร ซึ่งก็จะปรับแก้ตามข้อเสนอของเสียงส่วนใหญ่

นายวัฒนะ บุญจับ นักอักษรศาสตร์ สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร กล่าวว่า น่าเห็นใจ และน่าเป็นห่วงพอๆ กัน ในส่วนที่น่าเห็นใจ ก็คืออิทธิพลของการยืมทำให้ภาษาเกิดการเปลี่ยนแปลงในภาษาไทยอย่างเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะการยืมคำจากภาษาที่ไม่ใช่ภาษาวรรณยุกต์มาใช้ด้วยวิธีทับศัพท์ เพราะเมื่อถอดถ่ายอักษรมาเป็นภาษาไทยนั้น ถือกติกาว่าไม่ต้องมีรูปวรรณยุกต์กำกับ เนื่องจากผู้รู้ภาษารู้ดีว่าจะอ่านออกเสียงสูงต่ำอย่างไรก็ไม่กระทบกับความหมาย แต่พอเวลาอ่านออกเสียงกันจริงๆ กลับใช้อีกกติกาหนึ่ง คือ กลุ่มคนที่รณรงค์การใช้ภาษาแบบบ้าคลั่งเกิดมาบังคับว่าเขียนอย่างไรต้องออกเสียงอย่างนั้น ดังนั้น เมื่อไม่มีวรรณยุกต์กำกับก็ต้องไม่ออกเสียงวรรณยุกต์ หากออกเสียงแปรไปจากรูปเขียนก็มาถือว่าผิดเสียด้วย ส่วนที่น่าเป็นห่วง คือ หากจะเปลี่ยนกันจริงๆ ควรเปลี่ยนทั้งระบบ ซึ่งคงเกิดปัญหายุ่งยากในวงการภาษาอีกไม่ใช่น้อย
กำลังโหลดความคิดเห็น