แพทย์แนะพ่อแม่สังเกตดวงตาลูกน้อย ป้องกันมะเร็งจอตา หากพบอาการวาว สะท้อนแสงตอนกลางคืน ปวดตา มีก้อนเนื้อเกิดขึ้นให้รีบรักษา ก่อนลุกลามจนต้องควักลูกตาออก
วันนี้ (13 ธ.ค.) ศ.พญ.ละอองศรี อัชชนียะสกุล หน้าหน้าสาขาวิชาจักษุวิทยาเด็กและกล้ามเนื้อตา คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล กล่าวในการเสวนาทางวิชาการเรื่อง การดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็งจอตาในเด็ก “โครงการสัปดาห์รณรงค์รู้ทันโรคมะเร็งจอตาในเด็ก” ว่า ทั่วโลกมีอุบัติการณ์เด็กป่วยมะเร็งจอตา 8,000 รายต่อปี ส่วนประเทศไทยพบประมาณ 40 รายต่อปี สาเหตุของโรคเกิดได้ทั้งจากพันธุกรรม ความผิดปกติในการแบ่งตัวของเซลล์จอตา และปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ โดยพบว่าหากครอบครัวมีประวัติ เด็กก็จะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ โรคมะเร็งจอตาร้อยละ 40 จะเป็นทั้งสองข้าง ประเภทนี้มักเกิดจากพันธุกรรม และร้อยละ 60 จะเป็นเพียงข้างเดียว โดยสามารถพบได้ในเด็กตั้งแต่แรกเกิด - 5 ปี แต่หลังอายุ 7 ปี ไปแล้วจะพบน้อยมาก
ศ.พญ.ละอองศรีกล่าวอีกว่า ปัญหาสำคัญคือพ่อแม่ผู้ปกครองยังมีความรู้ความเข้าใจน้อยเกี่ยวกับโรคมะเร็งจอตาในเด็ก และไม่ทราบลักษณะโรคทำให้พาเด็กไปรับการรักษาไม่ทัน ซึ่งอาจจำเป็นต้องรักษาด้วยการควักลูกตาออก จุดนี้ทำให้ผู้ปกครองตัดสินใจได้ยาก และยิ่งปล่อยทิ้งไว้จะทำให้จอประสาทตาได้รับความเสียหาย และเสี่ยงจะลุกลามไปยังส่วนอื่นของร่างกาย ทำให้ไม่สามารถรักษาได้และเสียชีวิตในที่สุด แต่หากควักลูกตาออกตั้งแต่ต้นก็จะสามารถรักษาโรคให้หายได้ และสามารถใส่ตาเทียม แม้ว่าเด็กจะมองไม่เห็นแต่ก็ยังดำเนินชีวิตต่อไปได้ ดังนั้น ผู้ปกครองต้องหมั่นสังเกตุลักษณะตาของเด็กเพื่อให้ได้รับการรักษาได้อย่างรวดเร็ว
“สำหรับวิธีสังเกต คือ ลักษณะในตาจะวาวๆ คล้ายตาสัตว์ในตอนกลางคืนที่จะมีการสะท้อนแสงออกมาจากจอตา หรือมีจุดขาวๆ ในตาดำ ปวดตา ตาเหล่ ตามัว เห็นไม่ชัด โดยในเด็กบางรายจะสามารถสังเกตเห็นได้ตั้งแต่ 4 เดือนขึ้นไป หากผู้ปกครองสังเกตเห็นตั้งแต่ระยะแรกโอกาสจะรักษาได้หายจะมีสูง วิธีสังเกต เช่น ดูสีลักษณะตาของเด็ก เล่นปิดตาที่ละข้างให้หาของเพื่อสังเกตการมองเห็น เด็กบางคนอาจหกล้มบ่อยกว่าปกติ เดินชนสิ่งของเนื่องจากการมองที่ผิดปกติ หรือบางครั้งจะมีก้อนเนื้อเกิดขึ้นที่ตาและมีขนาดใหญ่ขึ้น เป็นต้น การรักษาหากพบตั้งแต่ระยะแรก สามารถรักษาด้วยการยิงเลเซอร์ ให้เคมีบำบัด หรือ ควักลูกตาออก” ศ.พญ.ละอองศรีกล่าว