xs
xsm
sm
md
lg

เตือนภัย “มะเร็งเน็ต” แฝงในตับอ่อน-ปอด-ทางเดินอาหารทำตายไม่รู้ตัว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แพทย์ เตือน “มะเร็งเน็ต” เป็นมะเร็งแอบแฝงคนไม่ค่อยรู้จัก ไม่มีอาการชัดเจน ตรวจพบโรคช้ามีสิทธิ์ตายไม่รู้ตัว ชี้ มักพบในระบบทางเดินอาหาร ตับอ่อน และ ปอด แนะตรวจสุขภาพประจำปีพิสูจน์โรคได้ หากคลำชายโครงจนถึงเชิงกรานแล้ว พบก้อนเนื้อให้รีบพบแพทย์ทันที

วันนี้ (6 พ.ย.) ที่โรงพยาบาลราชวิถี พญ.สุดสวาท เลาหวินิจ นายกมะเร็งวิทยาสมาคมแห่งประเทศไทย และหัวหน้างานโรคมะเร็ง กลุ่มงานอายุรศาสตร์ รพ.ราชวิถี กล่าวถึงวันโรคมะเร็งเน็ตสากล (Neuroendocrine Tumor : NET) หรือ Worldwide NET Cancer Awareness Day ว่า โรคมะเร็งเน็ต เป็นโรคมะเร็งชนิดหนึ่งที่เกิดจากกลุ่มเซลล์มะเร็ง ที่เรียกว่า นิวโรเอนโดครีน (Neuroendocrine) ซึ่ง เป็นเซลล์ที่ออกมากับสารคัดหลั่งต่างๆ โดยไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด แต่ไม่เกี่ยวข้องกับพันธุกรรม มีระดับอันตรายเหมือนกับโรคมะเร็งชนิดอื่น แต่มักไม่ค่อยมีคนพูดถึง กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ และกลุ่มดูแลผู้ป่วยในแถบยุโรป จึงกำหนดให้วันที่ 10 พ.ย.ของทุกปี ถือเป็นวันโรคมะเร็งเน็ต เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนทั่วโลกตระหนักถึงโรคดังกล่าว ซึ่งมักถูกมองข้ามเสมอ โดยกำหนดให้ใช้ริบบินลายม้าลายเป็นสัญลักษณ์ เปรียบเสมือนม้าลายวิ่งอยู่ในฝูงม้า เป็นมะเร็งที่แอบแฝงนั่นเอง
ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต
พญ.สุดสวาท กล่าวอีกว่า ส่วนใหญ่จะพบเซลล์มะเร็งเน็ตในระบบทางเดินอาหาร ตับอ่อน และ ปอด มีทั้งลักษณะแสดงอาการและไม่แสดงอาการ โดยที่มีอาการนั้นจะแสดงตามชนิดของฮอร์โมนที่หลั่งออกมาจากเซลล์มะเร็งนั้นๆ เช่น ท้องเสียเรื้อรัง ปวดท้อง ขณะเดียวกัน เมื่อคลำตามท้องยังพบก้อนเนื้อ ซึ่งอาการเหล่านี้บางครั้งอาจ เข้าใจผิดว่า เป็นโรค IBS หรือ ลำไส้แปรปรวน แต่หากไปตรวจเอกซเรย์อาจพบว่าไม่ใช่ ส่วนที่ไม่แสดงอาการนั้น ส่วนใหญ่ตรวจพบก้อนเนื้อโดยบังเอิญ หรือตรวจพบว่าเป็นโรคมะเร็งเน็ตจากการตรวจสุขภาพทั่วไป ดังนั้น โรคมะเร็งเน็ตจึงไม่มีอาการชัดเจน และไม่ได้จำเพาะเจาะจง ซึ่งบ่อยครั้งกว่าผู้ป่วยจะได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นจึงใช้เวลานาน ในผู้ป่วยบางรายกว่าจะได้รับการวินิจฉัยใช้เวลานาน 5-7 ปี ทำให้โรคลุกลามไปที่อวัยวะอื่นๆ

ที่ รพ.ราชวิถี รับรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งเน็ตปีละประมาณ 10 ราย ส่วนใหญ่เป็นบริเวณกระเพาะอาหาร และตับอ่อน ส่วนตัวเลขโดยรวมของไทย ขณะนี้ยังไม่มีการรวบรวม มีเพียงข้อมูลจากสหรัฐอเมริกาว่า พบผู้ป่วยรายใหม่ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคมะเร็งเน็ต ประมาณ 5 รายจากประชากรแสนราย โดยปัจจุบันพบว่าโรคนี้มีอัตราการเพิ่มขึ้นมากกว่า 5 เท่าในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา” นายกมะเร็งวิทยาสมาคม กล่าว

พญ.สุดสวาท กล่าวด้วยว่า ปัจจุบันการรักษามีทั้งผ่าตัด เคมีบำบัด และยาที่ออกฤทธิ์จำเพาะเจาะจงกับผู้ป่วย อย่างไรก็ตาม ขอย้ำว่า หากมีการตรวจพบโรคแต่เนิ่นๆ ย่อมมีโอกาสหายมากขึ้น โดยผู้ป่วยมะเร็งเน็ตในระยะแพร่กระจาย และผลการตรวจชิ้นเนื้อมะเร็งเป็นชนิดรุนแรง พบว่า จะมีโอกาสรอดชีพอยู่ในช่วง 5 เดือน แต่หากผลตรวจชิ้นเนื้อรุนแรงน้อยกว่าจะมีโอกาสรอดชีพ 33 เดือน แต่ปัญหาคือ ผู้ป่วยมักได้รับการตรวจวินิจฉัยเมื่ออยู่ในระยะลุกลามแล้ว ดังนั้น ควรหมั่นดูแลตัวเองและตรวจสุขภาพประจำปี เบื้องต้นอาจสังเกตก้อนเนื้อด้วยตัวเอง คือ ใช้มือคลำบริเวณชายโครงลงไปจนถึงเชิงกราน หากพบก้อนเนื้อให้สงสัยและไปพบแพทย์
กำลังโหลดความคิดเห็น